เศรษฐกิจจีนโตต่ำคาด ผลจากการดำเนินนโยบายการเงิน-การคลัง
นายกรัฐมนตรีจีน นายหลี่ เค่อเฉียง แถลงรายงานนโยบายรัฐบาล ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2564 ตั้งเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจจีนปี 2564 ที่ไม่ต่ำกว่า 6% ต่อปี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า การกำหนดเป้าหมายการเติบโตที่ค่อนข้างต่ำนี้ เป็นคำพูดเชิงสัญลักษณ์ เพื่อสะท้อนถึงก้าวแรกในทิศทางนโยบายรัฐบาลจีนที่จะเปลี่ยนไป เพื่อเป็นการปรับกระบวนทัศน์ของประเทศใหม่ มุ่งสู่การพัฒนาที่เน้นการเติบโตแบบมีคุณภาพและยั่งยืน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยหันมาให้ความสำคัญกับการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในประเทศ การพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐาน 7 หมวดหมู่ เพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศทั้งในเรื่องตลาดและเทคโนโลยี เพื่อความมั่นคงและมั่งคั่งของประเทศในระยะยาว ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการไว้ในกรอบเดิมที่ 8.0-8.5% แต่มีความเป็นไปได้ที่การเติบโต อาจลงมาใกล้กรอบล่างที่ 8.0% ด้วยเหตุปัจจัยดังนี้
ทางการจีนปรับเข้าสู่การใช้นโยบายทางการเงินและการคลังแบบปกติ เร็วกว่าที่คาดการณ์
ทิศทางการใช้นโยบายทางการคลังของจีน มีทิศทางค่อนข้างระมัดระวัง โดยมีการกำหนดตัวเลขขาดดุลงบประมาณ (Fiscal Deficit) และกำหนดโควต้าการออกตราสารหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น (Local Government Special – Purposed Bond) ต่ำลงจากปีที่แล้ว โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 3.20% ของ GDP (ปี 2563: จากเดิม 3.60% ของ GDP) และ 3.65 ล้านล้านหยวน (ปี 2563: จากเดิม 3.75 ล้านล้านหยวน) ตามลำดับ รวมถึงการงดการออกพันธบัตรรัฐบาลกรณีพิเศษ (Special Treasury Bond) ในการจัดหาเงินทุนเพื่อนำเม็ดเงินมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ หลังการอุบัติของโควิด-19 (ปี 2563: 1 ล้านล้านหยวน) โดยมีความต่างสองประการที่เกิดขึ้น ประการแรก คือ ต่างจากประเทศมหาอำนาจอื่นอย่างสหรัฐ ที่ออกบาซูก้าการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านงบประมาณมูลค่ามหาศาลกว่า 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ประการที่สอง คือ ต่างจากการแก้ปัญหาในปี 2551 หรือวิกฤติการเงินโลกในปี 2008 ที่จีนใช้กลยุทธ์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Basic Infrastructure) ขนาดมหึมาทั่วประเทศ อาทิ การก่อสร้าง สนามบิน ซุปเปอร์ไฮเวย์ ทางรถไฟ ท่าเรือ เป็นต้น ซึ่งได้ก่อให้เกิดภาระหนี้มหาศาลที่จีนยังต้องจัดการ
ในทำนองเดียวกัน ทิศทางการใช้นโยบายทางการเงินของจีน เป็นการเน้นใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน มากกว่าการใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ มีการกำหนดการอัดฉีดปริมาณเงินตามความหมายกว้าง (M2) ไว้เพียงว่า ให้เพิ่มขึ้นหรือลดลง สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจ ต่างจากเดิมที่กำหนดการเติบโตไว้ชัดเจนที่ ต้องเติบโตมากกว่าร้อยละ 8.7 (YoY) และไม่ได้มีการประกาศใช้นโยบายทางการเงินแบบนอกกรอบ (Unconventional Monetary Policy) เพิ่มเติมจากปีที่แล้ว อาทิ การใช้นโยบายกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่ได้รับผลกระทบ ผ่านมาตรการ Re-lending & Re-discounting
การประกาศนโยบายดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ที่ธนาคารกลางจีน ยังคงอัตราส่วนสำรองขั้นต่ำ (Reserve Requirement Ratio) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Loan Prime Rate (LPR) ไว้ในอัตราเดิม โดยไม่มีการลดอัตราสำรองขั้นต่ำสำหรับธนาคารพาณิชย์ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เพิ่มเติม ตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 ในทำนองเดียวกัน ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง (M2) เติบโตในอัตราเฉลี่ยที่ร้อยละ 9.7 (YoY) ในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2564 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอัตราการเติบโตที่ 10.3% ในปี 2563 (รูป 2) ในขณะที่อัตราการขยายตัวของเงินกู้หยวน (New Yuan Loan) ยังคงเติบโตในระดับปกติ ที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 12.8 (YoY) ในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2564 เท่ากับอัตราเติบโตเฉลี่ยในปี 2563 (รูป 3) สะท้อนถึงการใช้มาตรการเงินที่ปกติ เพื่อมุ่งเน้นเสถียรภาพทางการเงิน มากกว่าการใช้เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ
แม้ทางการจีนให้ความสำคัญกับเสถียรภาพของตลาดแรงงาน เพื่อมุ้งเน้นความแข็งแกร่งของการหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศ (Internal Circulation) แต่ผู้บริโภคยังมีความกังวลในแง่การจ้างงาน และเริ่มมีการชะลอการใช้จ่าย
จีนให้ความสำคัญกับความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน ซึ่งสะท้อนถึงเสถียรภาพของเศรษฐกิจและสังคมได้ครอบคุลม และเพื่อมุ้งเน้นความแข็งแกร่งของการหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศ เห็นจากเป้าหมายตัวเลขการจ้างงานใหม่ในเขตเมือง (New Urban Employment) ที่ตั้งสูงเพิ่มขึ้นถึง 11 ล้านคน (ปี 2563: จากเดิม 9 ล้านคน) พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายอัตราการว่างงาน (Surveyed Unemployment Rate) ไว้ที่ 5.5% แม้ว่าในช่วง มกราคม – กุมภาพันธ์ 2564 จะเกิดการจ้างงานใหม่รวม 1.48 ล้านคน และอัตราการว่างงานอยู่ในขอบข่ายที่กำหนดที่ 5.5% (รูป 4) แต่ความน่ากังวลอยู่ที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มต่ำลง ทั้งในด้านการใช้จ่าย และการจ้างงาน ที่ลดลงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา
แม้ว่าตัวเลขการค้าปลีก (Retail Sale) จะขยายตัวอย่างก้าวกระโดดที่ร้อยละ 33.8 (YoY) (รูป 6) แต่หากเทียบตัวเลขจากปี 2562 ตัวเลขค้าปลีกเติบโตเพียงร้อยละ 5.56 (YoY) ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขการเติบโตในกรอบร้อยละ 7.2% – 9.8 (YoY) ในปี 2562 ในทำนองเดียวกัน พบการชะลอตัวในยอดขายสินค้าคงทน อาทิ ยอดขายรถยนต์ในจีน ลดลงแตะระดับ 1.45 ล้านคันต่อเดือน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 (รูป 7) สะท้อนถึงภาวะตึงตัวของตลาดการบริโภคภายในประเทศ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการระบาดระลอกใหม่เมื่อต้นปี 2564 ในหลากหลายหัวเมือง จนมีการประกาศปิดเมืองอีกครั้ง อาทิ เมืองฉือเจียจวงในมณฑลเหอเป่ย เมืองซุยฮัวในมณฑลเฮยหลงเจีย การปิดเมืองรอบกรุงปักกิ่ง ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเป็นวงกว้าง
ในปี 2563 การบริโภคในประเทศได้รับการกระตุ้นผ่านมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินโดยตรงเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ การให้เงินอุดหนุนสำหรับการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค มาตรการทางด้านภาษี มาตรการด้านการจ้างงาน มาตรการอุดหนุนการซื้อรถยนต์ในหลากหลายมณฑล ส่งผลให้การบริโภคกลับมาได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงในเรื่องการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วเกินไป ในขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังไม่กลับมา อาจก่อให้เกิดการชะงักงันของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป
แม้ว่าภาคการผลิตและภาคการส่งออกยังคงเติบโตได้ดี แต่เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัว
แม้ว่าในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา เห็นการฟื้นตัวที่ดีของเศรษฐกิจจีนในด้านการผลิต สะท้อนจากอัตราการเติบโตของดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production Index) ที่เติบโตในอัตราร้อยละ 35.1 (YoY) (รูป 8) โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในช่วงต้นปี 2563 ที่มีการประกาศล็อกดาวน์ในประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 รวมถึงภาคการส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 60.6 (YoY) (รูป 9) ในช่วงเดือน มกราคม – กุมภาพันธ์ 2564 (ม.ค. – ก.พ. 2563: ภาคการส่งออกหดตัวร้อยละ 17.4 (YoY)) ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกอุปกรณ์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นปลายที่ข้องกับ Work-From-Home และอุปกรณ์ที่ใช้ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาทิ ชุดป้องกันทางการแพทย์ อุปกรณ์วัดไข้ ผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัย ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นสัญญาณของการชะลอตัวของภาคการผลิต สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers’ Index) ภาคการผลิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อยู่ที่ระดับ 50.9 ลดลงจากระดับ 51.5 ในเดือนมกราคม 2564 ซึ่งบ่งชื้ว่าภาคการผลิตของจีนยังมีการขยายตัว แต่ในอัตราที่ชะลอลง รวมถึงทิศทางการส่งออกที่ลดลงต่ำกว่าจุดสูงสุดของปี 2563
แม้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจจีนในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2564 จะออกมาในทิศทางที่เติบโตได้ดี ทั้งจากตัวเลขการค้าปลีกที่เติบโตร้อยละ 33.8 (YoY) ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 35.1 (YoY) การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรร้อยละ 35.0 (YoY) และภาคการส่งออกร้อยละ 60.6 (YoY) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการเติบโตบนฐานที่ต่ำของปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 1 ของปี 2564 จะขยายตัวในกรอบร้อยละ 11.0-15.0 (YoY) อันเนื่องมาจากสัญญาณการชะลอตัวของการบริโภคและการผลิตในประเทศ สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อซึ่งเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว รวมถึงภาคการส่งออกที่อาจชะลอตัว จากภาวะอิ่มตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นปลายสำหรับการ Work-From-Home และการลดลงของความต้องการอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาด จากผลความสำเร็จของการได้รับวัคซีนเป็นวงกว้างในบางประเทศ
โดยสรุป จีนตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2564 ที่ไม่ต่ำกว่า 6% ตอกย้ำความพยายามของจีน ที่จะเริ่มกลับมาดำเนินนโยบายทางการเงิน และการคลังอย่างปกติ ลดความสำคัญของตัวเลขการเติบโต แต่เน้นการเติบโตอย่างยืนและมีคุณภาพ ยิ่งไปกว่านั้น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 14 ที่จะบังคับใช้ในปี 2564-2568 เป็นครั้งแรกที่ไม่ได้ระบุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในกรอบ 5 ปีไว้ ต่างจากแผนก่อนๆ ซึ่งจะมีการระบุตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้อย่างชัดเจน ชี้ให้เห็นถึง การลดความสำคัญของตัวเลขการเติบโต แต่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ เพื่อใช้ช่วงเวลา 5 ปีนี้ ในการปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ และจัดการกับปัญหาคงค้างต่างๆ ทั้งในด้านปัญหาหนี้สิน ความล้าหลังของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และปัญหามลพิษ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเติบโตของเศรษฐกิจในรอบใหม่ที่มั่นคงและยั่งยืน รวมถึงการยกเลิกการสนับสนุนรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ออกจากระบบเศรษฐกิจไป ซึ่งอาจจะกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจในระยะกลางช่วง 5 ปีนี้
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการไว้ในกรอบเดิมที่ 8.0-8.5% แต่มีความเป็นไปได้ที่การเติบโต อาจลงมาใกล้กรอบล่างที่ 8.0% ด้วยทิศทางที่ทางการจีน ปรับเข้าสู่การใช้นโยบายทางการเงินและการคลังแบบปกติ เร็วกว่าที่คาดการณ์ และการมุ่งเน้นการลงทุนในการวิจัยพื้นฐาน เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว ทดแทนการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ที่สามารถอัดฉีดเม็ดเงินลงในระบบเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น ประกอบกับภาวะชะลอตัวของการบริโภคในประเทศ สัญญาณการชะลอตัวของภาคการผลิตและภาคการส่งออก และความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากความล่าช้าของการฉีดวัคซีน
Social Links