เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว หนุนส่งออก“แผ่นวงจรพิมพ์”( PCB) ไทยโตทะลุ 20%

เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว หนุนส่งออก“แผ่นวงจรพิมพ์”( PCB) ไทยโตทะลุ 20%

เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

หนุนส่งออก“แผ่นวงจรพิมพ์”( PCB) ไทยโตทะลุ 20%

                                                                   ……………………………………………………………………………….

•             การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกที่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นส่งผลให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การส่งออก PCB หรือแผ่นวงจรพิมพ์ ปี 2564 จะขยายตัวต่อเนื่องราวร้อยละ 20.1 ถึง 24.1 หรือมีมูลค่าส่งออกราว 1,573 ถึง 1,626 ล้านดอลลาร์ฯ นำโดยความต้องการสินค้าในกลุ่ม ICT ซึ่งขับเคลื่อนโดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 5G ที่เริ่มกลับมาดำเนินการได้หลังชะลอไปในปี 2563 ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เริ่มกลับมาช่วยหนุนความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคและช่วยพลิกฟื้นยอดขายยานยนต์ให้กลับมาเป็นบวก ถึงแม้การผลิตยานยนต์บางส่วนอาจยังเผชิญแรงกดดันจากการขาดแคลนชิปทั่วโลกแต่คาดว่าจะทยอยคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 นอกจากนี้ ความต้องการอุปกรณ์การแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ยังคงเติบโตได้แต่ในอัตราที่ชะลอลงตามภาวะการแพร่ระบาดทั่วโลกที่ถึงแม้จะดีขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่

•             โจทย์เฉพาะหน้าของอุตสาหกรรมการผลิต PCB ไทยนั้น ตลาดส่งออก PCB ของไทยอาจเปลี่ยนแปลงไปตามการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (De-Globalization) ที่กำลังเปลี่ยนภาพห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก โดยเฉพาะการกระจายการลงทุนออกจากจีนไปยังประเทศที่อยู่ใกล้เคียงสำหรับการผลิต PCB ที่ไม่ซับซ้อนมากจนอาจส่งผลให้ประเทศที่เดิมเป็นคู่ค้าอาจก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งในด้านการผลิต PCB ของไทย อาทิ เวียดนาม ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันในสายการผลิต PCB ที่ไม่ซับซ้อนมาก ผู้ผลิต PCB สัญชาติไทยจำต้องพัฒนา PCB ที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ซึ่งมีอัตรากำไรที่สูงกว่า และสอดรับกับเทรนด์การผลิตอุปกรณ์อัจฉริยะที่จะมีขนาดเล็กลงในอนาคต

                                                                  ………………………………………………………………………………………………

                ถึงแม้ว่าในปัจจุบันบางพื้นที่ของโลกจะยังเผชิญการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ หากแต่แนวโน้มของการติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดนับว่าส่งสัญญาณที่ดีขึ้น โดยจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเริ่มลดลงนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2564 เป็นต้นมา ขณะที่ช่วงที่เหลือของปีนี้ ทั่วโลกได้ฝากความหวังไว้กับการเร่งระดมฉีดวัคซีน ซึ่งจะมีส่วนช่วยประคองภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 2564 ให้ทยอยฟื้นตัว  ได้จากปี 2563 ที่หดตัว อันจะส่งผลบวกต่อความต้องการ PCB ในทุกกลุ่มสินค้าหลักที่ผู้ผลิต PCB ไทยส่งออก สะท้อนได้จากมูลค่าส่งออก PCB ของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 692.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวกว่าร้อยละ 42.4 (YoY)

                โดยนับว่าเป็นโมเมนตัมที่ดีต่อเนื่องจากทั้งปี 2563 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 ทั้งนี้ หากพิจารณาโครงสร้างของแหล่งผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นปลายที่ผู้ประกอบการผลิต PCB ของไทยส่งออกไปในช่วงที่ผ่านมานั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สัดส่วนการใช้งาน PCB ที่ไทยส่งออกในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นปลายน้ำกว่าร้อยละ 80 จะอยู่ในกลุ่ม 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กลุ่มสารสนเทศและสื่อสาร (ICT)  กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค (Consumer Electronics: CE)  และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ (Automotive Electronics: AE) ขณะที่สัดส่วนที่เหลือราวร้อยละ 20 จะเป็นการใช้งานในอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ อุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ทางการทหาร เป็นต้น  อย่างไรก็ดี พลวัตของการฟื้นตัวของการส่งออก PCB ในแต่ละกลุ่มสินค้าของปี 2564 จะแตกต่างกันไป กล่าวคือ

อัตราการขยายตัวของการส่งออก PCB ไทยช่วง 5 เดือนแรกปี 2564 รายประเทศ เรียงตามมูลค่าส่งออก

                ปัจจัยขับเคลื่อนการส่งออก PCB ของไทยหลักในปี 2564 คาดว่าจะมาจากกลุ่มสารสนเทศและสื่อสาร (ICT) โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมโครงข่าย 5G ในหลายประเทศที่เริ่มกลับมาดำเนินการได้หลังชะลอไปในปี 2563 เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ยุคระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล โดยจีนที่ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้รวดเร็วตั้งแต่ไตรมาสที่ 1/2563 คาดว่าจะยังคงเป็นผู้นำการลงทุนหลักต่อเนื่องจากปี 2563 ทั้งนี้ จากทิศทางการลงทุนดังกล่าวย่อมส่งผลให้ความต้องการอุปกรณ์สื่อสาร 5G ทั้งสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์โครงข่ายปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนรองรับระบบ 5G ที่ยอดขายทั่วโลกขยายตัวกว่าร้อยละ 458 (YoY) ในไตรมาสที่ 1/2564 โดยกว่าร้อยละ 56 เป็นตราสินค้าของจีนและเกาหลีใต้ ขณะที่ร้อยละ 30 เป็นตราสินค้าของสหรัฐฯ ที่มีฐานการผลิตหลักในเอเชีย โดยเฉพาะในจีนและอินเดีย สอดคล้องกับทิศทางของการนำเข้า PCB จากไทยของประเทศข้างต้น อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวของการส่งออก PCB ในกลุ่ม ICT ในช่วงที่เหลือของปี 2564 คาดว่าจะอยู่ในทิศทางชะลอลง จากฐานที่สูงนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 โดยกลุ่มสินค้าหลักที่เคยขับเคลื่อนความต้องการ PCB ในปี 2563 ซึ่งส่วนมากอยู่ในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับ Work/Learn from home และธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน IT อาจไม่ได้เติบโตในอัตราเร่งเหมือนในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังรุนแรงในปีก่อน

                กำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในหลายประเทศที่เริ่มทยอยฟื้นตัวจากการเร่งระดมฉีดวัคซีนโควิด-19 จะส่งผลดีต่อความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค (CE) อาทิ อุปกรณ์ Smart devices ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอัจฉริยะ (Smart home device) นาฬิกาอัจฉริยะ (Smart watch) แต่อัตราการฟื้นตัวไม่เท่ากลุ่ม ICT ที่บางส่วนขับเคลื่อนด้วยนโยบายรัฐผ่านแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5G ทั้งนี้ ในช่วงที่เหลือของปี 2564 แรงหนุนการส่งออกจะทยอยมาจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่รองรับเทคโนโลยี 5G มากขึ้นตามการเข้าถึงโครงข่าย 5G ในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ เกมคอนโซลพร้อมแว่น Virtual Reality (VR) ซึ่งมีส่วนช่วยธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับ 5G ได้อีกทาง โดยประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกที่ส่วนมากเป็นผู้นำเข้า PCB รายใหญ่จากไทยนั้นมีสัดส่วนรายได้ที่เกิดจากการให้บริการเทคโนโลยี 5G รวมกันกว่าร้อยละ 90 ของโลก  หากแต่ฐานที่สูงในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ส่งผลให้อัตราการขยายตัวคาดว่าจะชะลอลง

                สำหรับการส่งออก PCB ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ (AE) จะได้อานิสงส์จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการผลิตยานยนต์ทั่วโลกให้กลับมาขยายตัวได้ราวร้อยละ 13 ในปี 2564  จากที่หดตัวเกือบร้อยละ 16 ในปี 2563 อนึ่ง การส่งออก PCB ในกลุ่มยานยนต์ในช่วงต้นปี 2564 อาจได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ขาดแคลนชิปอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ผลิตยานยนต์บางส่วนเผชิญมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 จนอาจกระทบการผลิตยานยนต์ในบางโมเดลหรือบางรุ่น

                อย่างไรก็ดี สถานการณ์ชิปตึงตัวสำหรับยานยนต์คาดว่าจะเริ่มคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จากการทยอยปรับสายการผลิตของบริษัทรับจ้างผลิตชิปรายใหญ่ของโลกให้รองรับความต้องการชิปอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์มากขึ้น และช่วยเสริมให้การส่งออก PCB ยานยนต์ในช่วงที่เหลือของปี 2564 ทยอยฟื้นตัวได้ตามลำดับ ทั้งนี้ ปัจจัยหนุนความต้องการ PCB ยานยนต์ในตลาดโลกในระยะข้างหน้าจะมาจากส่วนแบ่งยอดขายยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (xEV) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรถยนต์กลุ่มดังกล่าวมีการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มากกว่ารถยนต์ประเภทสันดาปภายใน (ICE) โดยมีการประเมินว่า ส่วนแบ่งยอดขาย xEV จะเพิ่มจากราวร้อยละ 5 ในปี 2563 มาอยู่ที่ราวร้อยละ 7 ในปี 2564  นอกจากนี้ การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในยานยนต์ อาทิ ระบบช่วยเหลือในการขับขี่อัจฉริยะหรือระบบ Infotainment ล้วนต้องพึ่งพาชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนประกอบ

                ส่วนกลุ่มอุปกรณ์การแพทย์ที่จัดอยู่ในหมวดกลุ่มสินค้าอื่นๆ การตื่นตัวในการดูแลสุขภาพร่างกายหรือการรักษาทางการแพทย์จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังเสริมภาพการส่งออก PCB สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ในช่วงที่ผ่านมา โดยอุปกรณ์การแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ที่คาดว่าจะยังคงเป็นที่ต้องการมีทั้งแบบพกติดตามตัวเพื่อวัดสัญญาณชีพ (อาทิ อุณหภูมิร่างกาย ระดับออกซิเจนในเลือด) รวมถึงแบบวินิจฉัยทางการแพทย์ อาทิ COVID-19 Computed Tomography (CT) สำหรับตรวจปอดคนไข้ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยี AI เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำ อย่างไรก็ดี ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสที่อาจยังไม่คลี่คลายโดยสมบูรณ์ ทั้งในด้านของการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในบางพื้นที่ของโลก หรือการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสยังทำให้ความต้องการสินค้ากลุ่มนี้มีอยู่ หากแต่อัตราการขยายตัวจะเริ่มชะลอลงในช่วงที่เหลือของปี 2564 ทั้งจากภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลกที่เริ่มบรรเทาลงนับตั้งแต่ช่วง พ.ค. 2564 รวมถึงฐานที่สูงมากในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ความต้องการอุปกรณ์การแพทย์อิเล็กทรอนิกส์และธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ (HealthTech) อันนำมาซึ่งความต้องการ PCB อยู่นั้นจะยังมีอยู่จากแนวโน้มการเข้าสู่สังคมสูงวัยในหลายประเทศทั่วโลก ประกอบกับการรับรู้ความสำคัญของสุขภาพที่กลายมาเป็น New normal ในอนาคต

                อนึ่ง การประมาณการส่งออก PCB สำหรับสินค้ากลุ่ม ICT และ CE ที่คาดว่าจะเติบโตชะลอลงในช่วงที่เหลือของปีได้ประเมินสถานการณ์ภาวะชิปอิเล็กทรอนิกส์ตึงตัวประกอบไปด้วยแล้ว โดยคาดว่าอาจจะเห็นผลกระทบในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นฤดูกาลที่ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดและเป็นช่วงที่ความต้องการของผู้บริโภคเริ่มมากขึ้นตามเทศกาลต่างๆ อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากภาวะชิปอิเล็กทรอนิกส์ตึงตัวอาจกระทบการผลิตสินค้าเพียงบางรุ่นที่ใช้ชิปอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงจนทำให้ออกสู่ตลาดล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น

                ภายใต้สภาวะการณ์ต่างๆ ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออก PCB ของไทยในปี 2564 จะขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 20.1-24.1 ด้วยมูลค่าการส่งออกในกรอบ 1,573-1,626 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นำโดยสินค้ากลุ่มสารสนเทศและสื่อสาร (ICT) ที่อาจขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 28.0-32.5 ขณะที่กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค CE และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ AE อาจขยายตัวในกรอบร้อยละ 22.5-28.0 และร้อยละ 14.0-17.5 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มสินค้าอื่นๆ ที่บางส่วนเป็นอุปกรณ์การแพทย์นั้นคาดว่าจะขยายตัวในกรอบร้อยละ 10.5-13.5 ภายหลังจากที่ขยายตัวอย่างมากในปีที่ผ่านมา

                มองไปในระยะข้างหน้า ประเด็นที่ผู้ผลิต PCB ของไทยจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดซึ่งอาจส่งผลต่อการส่งออก PCB ของไทยจะอยู่ในแง่มุมของตลาดส่งออกที่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (De-Globalization) ซึ่งกำลังเปลี่ยนภาพห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการย้ายฐานการผลิตกลับไปยังประเทศของตัวเอง (Reshoring) ในส่วนของการผลิตชิ้นส่วนที่ซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรือการกระจายการลงทุนไปยังภูมิภาคที่อยู่ใกล้เคียง (egionalization) สำหรับการผลิต PCB ที่ไม่ซับซ้อนมาก จนอาจส่งผลให้ประเทศที่เดิมเป็นคู่ค้าอาจก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งในด้านการผลิต PCB ของไทยในระยะข้างหน้า อาทิ เวียดนาม

                ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันในสายการผลิต PCB ที่ไม่ซับซ้อนมาก ผู้ผลิต PCB สัญชาติไทยอาจเพิ่มการวิจัยและพัฒนาเพื่อจับตลาด PCB ที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น อาทิ PCB ที่มีคุณสมบัติในการป้องกันการรบกวนจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้สำหรับรองรับการมาของ 5G หรือ PCB ที่มีความหนาแน่นของการเดินสายไฟสูง มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา  สอดรับกับเทรนด์การผลิตอุปกรณ์อัจฉริยะที่จะมีขนาดเล็กลงในอนาคต (Miniaturization) ซึ่งคู่แข่งยังมีไม่มาก ประกอบกับมีระดับราคาที่สูงกว่า PCB ทั่วไปซึ่งจะส่งผลดีต่ออัตรากำไรของผู้ผลิต PCB ในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยขนาดใหญ่บางรายมีศักยภาพในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ใช้เทคโนโลยีสูงจากความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ PCB ชนิด Special grade  จนมีสัดส่วนต่อยอดขายรวมสูงขึ้นจากเพียงราว 1 ใน 20 ในช่วงต้นปี 2561 มาอยู่ที่ 1 ใน 6 ในช่วงต้นปี 2564 

                อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของการส่งออก PCB ไทยในปี 2564 ยังอยู่ภายใต้สภาวะความเสี่ยงหลากหลายปัจจัยที่ยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะด้านต้นทุนการดำเนินงานที่ยังมีความผันผวน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนทางตรงอย่างราคาทองแดงที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง หรือต้นทุนค่าขนส่งระหว่างประเทศที่ยังอาจยังเผชิญความท้าทายหลายด้าน อาทิ ปัญหาความขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังมีอยู่ โดยเฉพาะในเส้นทางสหรัฐฯ และยุโรปที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักของ PCB สำหรับยานยนต์ หรือ สถานการณ์การกลับมาแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในมณฑลทางตอนใต้ของจีนที่เริ่มซ้ำเติมต้นทุนในการขนส่งไปยังพื้นที่ข้างต้น ขณะที่ภาวะชิปตึงตัวทั่วโลกอาจจะยังกดดันอุปทานของ PCB ได้บางช่วง โดยถึงแม้สถานการณ์เฉพาะหน้าอย่างอุบัติภัยและภัยธรรมชาติที่ส่งผลต่อกำลังการผลิตชิปในบางพื้นที่ของโลกอย่างญี่ปุ่นหรือสหรัฐฯ เริ่มคลี่คลาย

            หากแต่ความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่คาดว่าจะยังเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตามกระแสการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลทั่วโลกนั้น ยังอยู่ในทิศทางที่สวนทางกับกำลังการผลิตชิปของบริษัทรับจ้างผลิตชิปที่อาจต้องใช้เวลากว่า 2 ปี กว่าการลงทุนใหม่จะเริ่มดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์

                                 ……………………………………………………………………………………………………

หมายเหตุ

แผ่นวงจรพิมพ์ หรือ พีซีบี ที่นักอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า แผ่นปริ๊นท์ (อังกฤษ: printed circuit board: PCB) เป็นแผ่นที่สร้างด้วยพลาสติกชนิดหนึ่งที่มีการฉาบผิวด้วยทองแดงเต็มแผ่น และเมื่อต้องการใช้แผ่นวงจรพิมพ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ นักประดิษฐ์หรือนักอิเล็กทรอนิกส์ก็จะนำลายวงจรที่ต้องการมาทาบ หรือสกรีนลายลงบนแผ่นทองแดงซึ่งอาจจะสร้างลายด้วยกรรมวิธีต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป จนเกิดลายบนทองแดง จากนั้นก็นำแผ่นวงจรพิมพ์ที่สร้างลายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไปจุ่มในน้ำยากัดแผ่นปริ้นท์ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นทำการเขย่าให้น้ำยาเคลื่อนที่ไปมา จนเริ่มเห็นลายวงจรที่ชัดเจนขึ้น แล้วนำไปล้างด้วยน้ำธรรมดา จะเห็นว่ามีเส้นลายทองแดงที่เด่นชัดขึ้น จากนั้นทำการเคลือบแผ่นวงจรพิมพ์ด้วยน้ำยาเคลือบแผ่นวงจรพิมพ์ที่มีขายอยู่ตามร้านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เมื่อแห้งก็นำมาเจาะรู้เพื่อใช้สำหรับเชื่อมต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือประกอบกันเป็นวงจรแทนการต่อวงจรด้วยสายไฟ ซึ่งมีความซับซ้อนและยุ่งยาก โดยแผงวงจรนี้อาจมีเพียงด้านเดียวหรือสองด้านหรือสามารถวางซ้อนกันได้หลาย ๆ ชั้น (Multi layer) ได้เช่นกัน ตามความต้องการของผู้ออกแบบ

You may also like

“เฉลิมชัย-ประชาธิปัตย์“ห่วงปัญหาเหลื่อมล้ำ จัดเวทีนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเดโมแครต ฟอรั่ม” ขจัดการผูกขาด: ลดเหลื่อมล้ำแก้จน”

“เ