เศรษฐกิจไทยผจญภัยแล้ง
คาดปีหน้าเจอหนัก-ส่งออกส่อฟื้นคืนบวก
วิจัยกรุงศรีคาดภัยแล้งจะกระทบเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ครึ่งหลังของปีนี้และจะส่งผลรุนแรงขึ้นในปี 2567 ส่วนภาคส่งออกมีแนวโน้มกลับมาเติบโตได้ในช่วงที่เหลือของปีจากผลของฐานต่ำในปีที่ผ่านมา
รายได้เกษตรกรหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ในเดือนมิถุนายน คาดภัยแล้งอาจมีผลจำกัดในปีนี้ แต่ผลกระทบจะแรงมากขึ้นในปีถัดไป ดัชนีรายได้เกษตรกรเดือนมิถุนายนหดตัว 6.0% YoY ซึ่งเป็นผลจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัว 6.0% จากการลดลงของราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ อาทิ ยางพารา สุกร และกุ้งขาวแวนดาไม ขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 0.02% สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ดัชนีรายได้เกษตรกรหดตัว 1.0% YoY เป็นผลจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัว3.4% ขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 2.5%
ในช่วงที่เหลือของปีภาคเกษตรของไทยอาจเผชิญกับความเสี่ยงจากการเริ่มเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ (El Niño) และจะเข้าสู่ภาวะนี้อย่างสมบูรณ์ในปี 2567-2568 โดยอุณหภูมิและคลื่นความร้อนที่สูงขึ้น ภาวะฝนทิ้งช่วง ปริมาณฝนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และปริมาณน้ำทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติและในเขื่อนที่ลดลง นำไปสู่ภาวะภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีคาดว่าในปี 2566 พืชที่อ่อนไหวต่อภัยแล้งและปริมาณน้ำที่ลดน้อยลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง และมันสำปะหลังจะได้รับผลกระทบมากสุด
โดยคาดว่าจะสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจราว 1.8 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 0.11% ของ GDP ขณะที่ในปี 2567-2568 ปริมาณน้ำในเขื่อนมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต เมื่อประกอบกับภัยแล้ง ผลกระทบเชิงลบจะเริ่มขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นในพืชสำคัญหลายชนิด อาทิ อ้อย ข้าวโพด ผลไม้ ไม้ยืนต้น ซึ่งพืชเหล่านี้บางส่วนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปลายน้ำมากกว่าต้นน้ำ จึงอาจสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจได้ราว 5.0 หมื่นล้านบาท (กรณีฐาน) คิดเป็น 0.29% ของ GDP และกรณีเลวร้ายอาจเสียหายได้มากถึง 7.8 หมื่นล้านบาท หรือ 0.45% ของ GDP
การส่งออกเดือนมิถุนายนหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 หากมูลค่าส่งออกทรงตัวจากระดับปัจจุบัน การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตได้เกือบ 8% กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าส่งออกเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 24.8 พันล้านดอลลาร์ หดตัว 6.4% YoY โดยหดตัวน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ -7.3% และหากหักน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย มูลค่าส่งออกในเดือนนี้หดตัว 2.9% โดยการส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่หดตัว โดยตลาดสหรัฐ สหภาพยุโรป และอาเซียน-5 กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในดือนก่อน ขณะที่การส่งออกไปตลาดจีนและญี่ปุ่นกลับมาขยายตัว ด้านการส่งออกรายสินค้า พบว่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ -8.6% การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาหดตัวที่ 4.6% สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มูลค่าการส่งออกของไทยหดตัวที่ 5.4%
แม้มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายนยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 แต่มีมูลค่าสูงกว่าเดือนก่อนเล็กน้อยและยังมีมูลค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ สำหรับแนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังหากยังสามารถรักษามูลค่าส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนทรงตัวเท่ากับเดือนล่าสุดที่ 24.8 พันล้านดอลลาร์ จะทำให้การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังสามารถกลับมาขยายตัวได้เกือบ 8% YoY เนื่องจากฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งเป็นช่วงที่จีนมีการล๊อคดาวน์ อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยยังเผชิญกับความไม่แน่นอนของของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ทั้ง เศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าคาด เศรษฐกิจยุโรปเผชิญความเปราะบางจากอุปสงค์ภายในและผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน นอกจากนี้ ภาคการผลิตของหลายประเทศสำคัญ (สหรัฐ ยูโรโซน จีน และญี่ปุ่น) ยังอยู่ในภาวะหดตัว สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการผลิตที่ปรับลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 50 ต่อเนื่อง
Social Links