โควิด-19 ระลอก 3 ฉุดดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน เม.ย.
กำลังซื้อเปราะบาง–มาตรการเยียวยาเพิ่มเติมยังไม่มา
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มต้นขึ้นในเดือนเม.ย. 2564 กดดันให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพในปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอย่างมากอยู่ที่ 37.0 และ 39.4 จาก 40.4 และ 41.5 บ่งชี้ว่าครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นอย่างมากเกี่ยวกับภาวะการครองชีพ
เมื่อพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ ของดัชนีพบว่าครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นในทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะในส่วนของมุมมองด้านรายได้และการมีงานทำรวมถึงค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่ไม่รวมภาระหนี้ที่ลดลงอยู่ที่ 40.7 และ 30.2 จาก 45.6 และ 33.1 ในเดือนมี.ค. 64 ความกังวลที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวสอดคล้องไปกับความเปราะบางในตลาดแรงงานที่สะท้อนจากจำนวนผู้ใช้บริการกรณีว่างงานของผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยในเดือนก.พ.64 อยู่ที่ 310,031 คน เมื่อเทียบกับ 151,802 คน ในเดือนก.พ. 63 ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคที่เป็นตัววัดค่าครองชีพของประชาชนก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ในเดือนเม.ย. 64 เงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 14 เดือนอยู่ที่ 3.41% ซึ่งปัจจัยหลักมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาผักสดที่สูงขึ้น รวมถึงค่าสาธารณูปโภคที่ปรับเพิ่มขึ้นหลังไม่มีมาตรการบรรเทาค่าใช้จ่ายในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย. ในปีก่อนหน้า ดังนั้น ค่าครองชีพของประชาชนในเดือนเม.ย. จึงได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโควิดระลอกล่าสุดนี้ ส่งผลต่อรายได้ครัวเรือนที่ลดลง ที่มาพร้อมกับจังหวะที่ราคาพลังงานและสาธารณูปโภคเร่งตัวขึ้น รวมถึงเป็นช่วงรอยต่อสุญญากาศของการออกมาตรการเยียวยา ทำให้ความช่วยเหลือที่เป็นเม็ดเงินเพิ่มเติมเพื่อประคับประคองรายได้ของครัวเรือนโดยส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบขาดหายไป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายได้จากการจ้างงาน ผลสำรวจระบุว่าแม้ว่าไม่มีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์แต่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่สามส่งผลให้ครัวเรือนเกือบ 50% ได้รับผลกระทบจากการจ้างงาน โดย 90.3% มีรายได้จากการจ้างงานที่ลดลง ขณะที่ 9.7% ขาดรายได้ ผลสำรวจดังกล่าวได้ตอกย้ำถึงประเด็นความกังวลเกี่ยวกับรายได้จากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นของครัวเรือน ซึ่งจะส่งผลให้กำลังซื้อที่มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้นสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อในเดือนเม.ย. บ่งชี้ว่าค่าครองชีพของภาคครัวเรือนเริ่มปรับสูงขึ้นและจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกำลังซื้อที่เดิมมีแนวโน้มเปราะบางอยู่แล้ว ดังนั้นแม้มาตรการควบคุมการระบาดในครั้งนี้จะไม่ได้เข้มงวดเท่ากับการระบาดในรอบแรก แต่สถานการณ์การระบาดที่รุนแรงได้ส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนอย่างมาก นอกจากนี้ฐานะทางการเงินของครัวเรือนได้เปราะบางลงต่อเนื่องมาจากสถานการณ์ระบาดครั้งก่อน มาตรการเยียวยาผลกระทบจากภาครัฐจึงมีความจำเป็น ที่จะเข้ามาช่วยบรรเทาและประคับประคองภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งนี้ ล่าสุดครม.ได้พิจารณาอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนที่สามารถทำได้ทันทีซึ่งจะมีผลในเดือนพ.ค.-มิ.ย. ทั้งมาตรการด้านการเงินที่มีการให้สินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับประชาชน ผู้ประกอบการและเกษตรกรและมาตรการบรรเทาค่าใช้จ่ายโดยจะมีการปรับลดค่าไฟฟ้าและประปาให้กับประชาชนและกิจการขนาดเล็กทั่วประเทศ รวมถึงมีการต่ออายุมาตรการเราชนะ และ ม.33 เรารักกัน โดยจะมีการจ่ายเงินอีก 2,000 บาทในแต่ละโครงการซึ่งสามารถใช้จ่ายได้ถึง 30 มิ.ย. 64
นอกจากนี้ในช่วงครึ่งหลังของปี (ก.ค.-ธ.ค.) ยังมีมาตรการระยะที่สองเพิ่มเติม โดยจะมีการเพิ่มกำลังซื้อให้กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้ต้องการความช่วยเหลือพิเศษรวมถึงจะมีมาตรการคนละครึ่งเฟส 3 นอกจากนี้จะมีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ซึ่งเป็นมาตรการใหม่สำหรับคนมีเงินออมให้ออกมาใช้จ่าย ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ จะออกมาเพิ่มเติมอีกครั้ง มาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐที่ออกมาล่าสุดค่อนข้างสอดคล้องกับผลสำรวจของครัวเรือนที่ระบุว่า 57.3% ต้องการให้ภาครัฐแจกเงินเพื่อเยียวยาทุกคนและอีก 27.6% ต้องการให้ใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาฟรี อย่างไรก็ตามมาตรการเยียวยาต่าง ๆ ยังมีขนาดที่น้อยกว่าการระบาดในรอบก่อนค่อนข้างมาก ขณะที่ผลกระทบค่อนข้างรุนแรงและซ้ำเติมต่อเนื่องจากการระบาดในรอบก่อน ดังนั้น นอกจากการเร่งดำเนินการจัดหาและฉีดวัคซีนแล้ว มาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจเพื่อประคับประคองภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอาจจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมจากมาตรการเยียวยาที่ ครม. มีมติในวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา
โดยสรุปแล้วดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในระดับปัจจุบัน (เม.ย.64) และ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอย่างมาก โดยครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับมุมมองต่อรายได้และการจ้างงาน หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่สามค่อนข้างรุนแรง แม้ว่าจะไม่มีมาตรการควบคุมการระบาดที่รุนแรงแต่ครัวเรือนส่วนมากมีรายได้ที่ลดลงซึ่งจะส่งผลต่อกำลังซื้อของครัวเรือน อีกทั้งระดับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นยังสะท้อนถึงค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน นอกจากการเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนแล้ว มาตรการบรรเทาผลกระทบเพิ่มเติมจากภาครัฐจึงยังมีความจำเป็นเพื่อประคับประคองภาคครัวเรือนและธุรกิจ
Social Links