ไขข้อข้องใจ! ทำไมปวดที่สะโพก แต่สาเหตุมาจากหลัง
แพทย์เฉพาะทางไขข้อข้องใจ ปวดบริเวณสะโพก เกิดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจริงหรือไม่?
หลายคนเมื่อมีอาการปวดสะโพกร้าวลงขา มักคาดไม่ถึงว่าสาเหตุมาจากบริเวณหลัง นพ.ชุมพล คคนานต์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ ให้ข้อมูลเรื่องนี้อย่างน่าสนใจว่า อาการปวดสะโพกร้าวลงขาจากเส้นประสาทถูกกดทับเกิดจากภาวะกระดูกเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกเสื่อมเคลื่อนไปกดเบียดเส้นประสาท สาเหตุจากการใช้งานร่างกายที่หักโหมหรืออายุที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังร่วมด้วยและจะรุนแรงขึ้นตามลำดับ ซึ่งอาการจะมีลักษณะปวดหลังเแบบเป็นๆ หายๆ นานหลายปี จนถึงภาวะที่หมอนรองกระดูกเคลื่อนไปกดเบียดเส้นประสาททำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณสะโพกร้าวลงขาตามมา โดยปกติแพทย์มักจะพบผู้ป่วยที่มีอาการปวดร้าวที่บริเวณสะโพกร้าวลงขาอย่างเดียว โดยที่ไม่มีอาการปวดหลังอยู่ที่ประมาณ 10-20% อีก 80% มักจะมีอาการปวดหลังร่วมด้วยเสมอ
นพ.ชุมพล คคนานต์ เผยว่า อาการปวดสะโพกร้าวลงขาเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ต้องแยกให้ได้ว่าปวดบริเวณสะโพกร้าวลงขานั้นมีอาการปวดหลังร่วมด้วยหรือไม่ เพราะอาการของผู้ป่วยแต่ละรายนั้นต่างกัน ซึ่งอาการปวดหลังนั้นก็เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม ข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม หรือมีการอักเสบของข้อต่อบริเวณกระดูกสันหลัง ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังได้เช่นกัน ทั้งนี้ในส่วนของอาการปวดสะโพกร้าวลงขาอย่างเดียวนั้นก็มีความแตกต่างกัน หากปวดที่บริเวณสะโพกอย่างเดียวแพทย์จะต้องตรวจดูว่าเป็นที่ข้อสะโพกเสื่อมหรือไม่ โดยวินิจฉัยจากการทำเอ็กซเรย์
แต่เมื่อใดก็ตามที่ผู้ป่วยมีอาการปวดสะโพกร้าวลงขา ส่วนใหญ่จะมาจากอวัยวะที่มีความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างสะโพกกับขาทั้ง 2 ส่วน นั่นก็คือ เส้นประสาทไซอาติก (Sciatic) ซึ่งเป็นเส้นประสาทขนาดใหญ่ที่วิ่งจากกระดูกสันหลังส่วนเอวที่ระดับ L4-L5 และบริเวณก้นกบ เพื่อส่งสัญญาณและความรู้สึกไปที่ขาทั้ง 2 ข้าง หากเส้นประสาทเส้นนี้ถูกกดทับ และเกิดการอักเสบจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดสะโพกร้าวลงขา หรือคนทั่วไปเรียกว่า “ปวดสลักเพชร”
นพ.ชุมพล ยังเผยอีกว่า ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคเกี่ยวกับเส้นประสาท อาการจะมีลักษณะแบบขั้นบันได คือ ปวด ชา และอ่อนแรง เดินไกลๆ ไม่ได้ และผู้ป่วยประมาณ 70-80% ที่เข้ามารับการรักษา มักจะมีอาการปวดเป็นหลัก ซึ่งอาการปวดของแต่ละบุคคลก็แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของหมอนรองกระดูกสันหลังที่มีปัญหา เช่น หากเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณข้อ 4 หรือ ข้อ 5 ผู้ป่วยจะมีอาการปวดสะโพกร้าวลงขาไปที่บริเวณหัวเข่า หรือหน้าแข้ง หากร้าวลงไปที่บริเวณหลังเท้า อาจโดนกดทับที่บริเวณกระดูกสันหลังส่วนข้อที่ 5 และหากกดทับที่บริเวณส่วนที่ต่อกับก้นกบ ผู้ป่วยจะปวดบริเวณสะโพกและก้น ร้าวลงต้นขาด้านหลังลงไปถึงบริเวณน่องด้านหลัง บางรายอาจมีอาการปวดบริเวณเอ็นร้อยหวายหรือส้นเท้าร่วมด้วย
อย่างไรก็ตามปัญหาที่จะตามมาคือ หากผู้ป่วยมีอาการปวดมากก็จะทำให้มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิต หรือบางรายมีอาการชาเกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการทรงตัว และเสี่ยงต่อการหกล้มได้ง่ายหรือมีปัญหาในเรื่องของการเดิน หากกดทับเส้นประสาทในบริเวณที่มากจะส่งผลในเรื่องของการเดินในระยะทางไกลๆ ประมาณ 200-300 เมตร ก็ต้องหยุดพัก และอาจมีอาการอ่อนแรง หรือปวดร้าวลงขา ทำให้เดินต่อไม่ได้
ในส่วนของการรักษานั้น นพ.ชุมพล เปิดเผยว่า หากเราวิเคราะห์ได้ตรงจุดก็จะสามารถรักษาและได้ผลลัพธ์การรักษาที่ดีและมีประสิทธิภาพ ดังนั้นเราจึงต้องใช้การทำเอ็กซเรย์และเอ็มอาร์ไอ ช่วยในการวิเคราะห์โรค เพื่อค้นหาสาเหตุได้อย่างแม่นยำและชัดเจน ปกติแล้วการผ่าตัดโรคที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลังในอดีตนั้น จะต้องเปิดแผลทางด้านหลังที่ใกล้กับจุดที่จะทำการรักษา แต่ด้วยการมองเข้าในจุดที่จะทำการรักษานั้นมีขีดจำกัด จำเป็นที่จะต้องเปิดแผลกว้าง เพื่อช่วยในการมองเห็นและทำหัตถการ จึงทำให้พื้นที่ๆไม่เกี่ยวในการรักษาต้องบอบช้ำ และเป็นที่มาของการพักฟื้นนาน รวมไปถึงความเสี่ยงในการติดเชื้ออีกด้วย ดังนั้นจึงได้มีการพัฒนาในการนำกล้องเอ็นโดสโคปเข้ามาช่วยในการผ่าตัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็นจุดที่จะทำการรักษา เพื่อลดขนาดของการเปิดแผลลง ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญและชำนาญของศัลยแพทย์เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
โรงพยาบาลเอส สไปน์ ปรึกษา โทร.02 034 0808
Social Links