ไทยเจ๋ง-ติดอันดับ 6 ดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพ
สสส.-สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล เปิดรายงานสุขภาพคนไทย 2563 ยกย่องระบบสุขภาพไทยดีเยี่ยมติดอันดับนำของเอเชียและของโลก คะแนนรวม 73.2 เกินค่าเฉลี่ยทั่วโลกเกือบครึ่ง ติด 1 ใน 13 ประเทศพร้อมรับมือกับโรคระบาดมากสุด
ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. กล่าวว่า สสส. ขอชื่นชมบุคลากรทางการแพทย์ที่มุ่งมั่นทุ่มเทปฏิบัติงานเพื่อลดตัวเลขของผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ จนกระทั่งสถานการณ์ระบาดในไทยเริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เมื่อรายงานสุขภาพคนไทย 2563 ซึ่งจัดทำโดย สสส. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล และภาคีเครือข่ายนักวิชาการ ได้รวบรวมผลสถิติจากองค์กรที่น่าเชื่อถือในต่างประเทศ โดยพบว่าระบบสุขภาพไทยได้รับการยกย่องจากหลายสถาบันของโลกให้ติดอันดับนำในเอเชีย และดีเยี่ยมในระดับสากล โดยมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ สหรัฐฯ และองค์กร ความริเริ่มด้านภัยคุกคามนิวเคลียร์ (Nuclear Threat Initiative) ได้รายงานดัชนีความมั่นคงทางด้านสุขภาพ ปี 2562 พร้อมจัดอันดับประเทศต่างๆ ทั้งหมด 195 ประเทศทั่วโลก พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย โดยมีคะแนนรวม 73.2 คะแนน (คะแนนเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ระดับ 40.2 คะแนน) ทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน 13 ประเทศที่มีความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดมากที่สุด
“ในด้านการป้องกันโรค ไทยได้ 75.7 คะแนน (อันดับ 3 ของโลก) ความสามารถในการตรวจจับโรค และรายงานที่รวดเร็ว ได้ 81 คะแนน (อันดับ 15 ของโลก) การตอบโต้และบรรเทาผลกระทบของโรคระบาดอย่างรวดเร็ว ได้ 78.6 คะแนน (อันดับ 5 ของโลก) มีระบบสุขภาพที่เข้มแข็งและมั่นคง ได้ 70.5 คะแนน (อันดับ 2 ของโลก) มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพของประเทศ มีแผนงบประมาณด้านการป้องกันควบคุมโรค และดำเนินงานตามแนวปฏิบัติสากล ได้ 70.9 คะแนน (อันดับ 12 ของโลก) และความเสี่ยงต่อภัยคุกคามด้านชีวภาพ ได้ 56.4 คะแนน (อันดับ 93 โลก)” ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าว
นพ.วิชัย โชควิวัฒน ที่ปรึกษาคณะกรรมการชี้ทิศทางรายงานสุขภาพคนไทย 2563 กล่าวว่า ล่าสุด “รายงานข่าวและโลกของสหรัฐ” (U.S. News & World Report) จัดอันดับประเทศที่เหมาะสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดในโลก ประจำปี 2563 (Best Countries to Start a Business 2020) ให้ "ประเทศไทย" ติดอันดับที่ 1 ประเทศที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นธุรกิจ จากทั้งหมด 73 ประเทศทั่วโลก ซึ่งตนมองว่าระบบสุขภาพที่ดีของไทยมาจากหลายปัจจัย เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขจนครอบคลุมทุกระดับทั่วประเทศ การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทั้งทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างเป็นระบบ การพัฒนาระบบการป้องกันและควบคุมโรคมาตั้งแต่ ปี 2517 และการพัฒนาระบบงานสาธารณสุขมูลฐาน โดยเฉพาะอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) จำนวนกว่าล้านคน กระจายอยู่ทั่วประเทศมายาวนานกว่า 40 ปี ตลอดจนการจัดตั้งสถาบันวิชาการและสถาบันทางสังคมด้านสาธารณสุข ที่สำคัญเรามีบทบัญญัติตราไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับ พ.ศ. 2517 กำหนดให้ “การป้องกันและปราบปรามโรคติดต่ออันตราย รัฐจะต้องกระทำให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า” ซึ่งบทบัญญัตินี้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ตราไว้ในมาตรา 47 วรรค 3
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ อย่างการควบคุมปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น การจัดการบุหรี่-ยาสูบ และโรคอ้วน โดยในเรื่องการจัดการบุหรี่นั้น ภาคีเครือข่ายสุขภาพ ได้ต่อสู้กับอุตสาหกรรมยาสูบมาอย่างยาวนานราว 50 ปี กระทั่งไทยมีกฎหมายที่เข้มแข็ง มีองค์กรสร้างเสริมสุขภาพอย่าง สสส. และน่ายินดีเมื่อคนไทยมีความรับผิดชอบต่อสาธารณะมากขึ้นเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ
“ผมขอใช้โอกาสนี้เชิญชวนผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข บุคคลทั่วไป นักศึกษา ผู้กำหนดนโยบาย และสื่อมวลชน มาศึกษาอ่านรายงานสุขภาพคนไทย เพราะรายงานเล่มนี้เป็นเสมือนคันฉ่องส่องปัญหาสังคม รวมทั้งแนะโอกาสในการทำงานด้านสุขภาพอย่างรอบด้านทุกมิติ โดยเฉพาะในยุคที่เราต้องหาทางอยู่ร่วมและเอาชนะโรคโควิด-19 ให้ได้ในเวลานี้ โดยรายงานฉบับดังกล่าว ได้คัดเลือกผู้เชี่ยวชาญจากหลายสถาบันมาคัดกรองการนำเสนอประเด็นทางสุขภาพ แหล่งที่มาของข้อมูลและสถิติที่น่าเชื่อถือ โดยในฉบับที่ 17 นี้ นำเสนอเรื่องพิเศษประจำฉบับ คือ ‘สองทศวรรษปฏิรูปการศึกษาไทย ความล้มเหลวและความสำเร็จ’ นอกจากนี้ที่ผ่านมาเรายังได้ใช้ข้อมูลจากรายงานจัดทำเอกสารสรุปเชิงนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระดับประเทศ อาทิ ประเด็นประชากรเปราะบาง การพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตของสังคม ชีวิตที่มีสุขภาพดีและสุขภาวะของทุกคนในทุกช่วงวัย และสารเคมีทางการเกษตร” นพ.วิชัย กล่าว
ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดรายงานสุขภาพคนไทย 2563 ได้แล้วทาง http://llln.me/8wCEFsW หรือติดตามได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ “สุขภาพคนไทย”
Social Links