“ไทย-สิงคโปร์”ร่วมเสวนา
“โอกาสเติบโตของเมืองรองแบบก้าวกระโดด”
ความจำเป็นต่อการบูรณาการเครือข่ายเพื่อสู้กับความท้าทาย
Singapore Management University (SMU) ร่วมกับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาทางวิชาการ SMU City Dialogues ในหัวข้อ “Growing Asia’s Secondary Cities – Challenges and Opportunities” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์
SMU City Dialogues Series เป็นการประชุมความร่วมมือที่รวบรวมนักวิชาการ และผู้นำจากทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐบาลมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นต่อแนวทางและโอกาสในการเติบโตของเมืองรองในภูมิภาคเอเชีย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาแนวทางในการแก้ปัญหา อย่างสร้างสรรค์และด้วยนวัตกรรม เพื่อรับมือกับความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญในปัจจุบันโดยมุ่งเน้นไปที่นโยบายและภาคอุตสาหกรรม
ในการประชุมที่จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เสวนาได้ร่วมกันอภิปรายแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และประสบการณ์ เพื่อค้นหาความท้าทายและโอกาสในการพัฒนาเมืองรองหรือเมืองระดับกลางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของเมืองในอนาคต
Mr. Riccardo Maroso ผู้จัดการโครงการ United Nations Human Settlement Program (UN-Habitat) ประจำสำนักงานกรุงเทพฯ และสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ROAP) หนึ่งในวิทยากรและผู้ร่วมอภิปรายได้นำเสนอข้อมูลสำคัญซึ่งเป็นข้อมูลเชิงลึกจากยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนของอาเซียน (ASUS) โดยเน้นย้ำว่า ภายในปี 2573 จะมีประชากรเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 70 ล้านคนในแต่ละเมืองต่างๆ รอบอาเซียน โดย 56% ของประชากรทั้งหมดจะอาศัยในบริเวณเขตเมือง การเติบโตและการขยายตัวของประชากรและเศรษฐกิจหลักที่ทั้งภูมิภาคอาเซียนกำลังเผชิญในพื้นที่เมืองที่มีขนาดเล็กกว่าระดับกลางนั้นเป็นโอกาสอันดีต่อการพัฒนาเมืองและสร้างสมดุลต่อการกระจายตัวของประชากรระดับภูมิภาค
อย่างไรก็ตามเมืองรองต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ และควรที่จะได้รับการสนับสนุนเชิงกลยุทธ์ในด้านการลงทุนเพื่อวางแผนการจัดการและการพัฒนาที่ยั่งยืนรวมถึงการสาธารณประโยชน์ที่มีคุณภาพซึ่งนำไปสู่โอกาสในการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพสำหรับผู้อยู่อาศัย
Mr. Maroso กล่าวสรุปว่าความสนใจขององค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น อาเซียนและสหประชาชาติ การวิจัยและการหารือที่เพิ่มขึ้นภายในแวดวงวิชาการ รวมทั้งความพยายามที่เพิ่มขึ้นจากประเทศต่างๆ ทั่วอาเซียน ถือเป็นก้าวสำคัญสู่แนวทางบูรณาการในการพัฒนานโยบายและการดำเนินการเพื่อการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
การเสวนาดำเนินโดย Dr. Adrian Lo ผู้อำนวยการโครงการการออกแบบพัฒนาชุมชนเมือง (หลักสูตรนานาชาติ) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
Dr. Adiwan F. Aritenang ผู้อำนวยการหลักสูตรบัณฑิตศึกษา Urban & Regional Planning Programme, Bandung Institute of Technology สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
Mr. Clinton Moore, United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (UNESCAP) ประเทศไทย
Associate Professor Orlando Woods ผู้อำนวยการ SMU Urban Institute, Singapore Management University สาธารณรัฐสิงคโปร์
ดร. รัฐติการ คำบุศย์ หัวหน้าฝ่ายติดต่อและประสานงานระหว่างประเทศสำนักงานวิเทศสัมพันธ์ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย
Dr. Tu Anh Trinh ผู้อำนวยการ Institute of Smart City & Management, University of Economics Ho Chi Minh City สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
จากข้อสรุปของผู้ร่วมเสวนาคือในปัจจุบันยังขาดนิยามที่ชัดเจนและเป็นสากลในการแบ่งเมืองออกเป็นเมืองหลักหรือเมืองรอง เนื่องจากเมืองในแต่ละประเทศมีปัจจัยที่แตกต่างกัน ทั้งในเรื่องของขนาดและอาณาเขตจึงมีความเห็นตรงกันว่า การศึกษาและพัฒนาของเมืองรองมีแนวโน้มที่จะได้รับการสนับสนุนน้อย ทำให้มีโอกาสขาดความสามารถและองค์ความรู้ในการส่งเสริมศักยภาพของตนอย่างเต็มที่เพื่อความเจริญเติบโตของเมือง
Mr. Moore กล่าวว่า “ทรัพยากรที่แตกต่างกันระหว่างเมืองหลวงและเมืองเล็กๆ นั้น ทั้งในระดับความคิดการส่งเสริมความน่าสนใจและความดึงดูดของแต่ละเมือง ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันที่นำไปสู่ตัวชี้วัดของการจัดการเมือง จากมุมมองของสหประชาชาตินั้น เรามุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะนำกรอบการทำงานระดับชาติไปสู่การพัฒนาทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญงานที่อาเซียนกำลังทำอยู่มีความสำคัญมากในการขับเคลื่อนและส่งเสริมการขยายตัวของเมืองที่ยั่งยืนในเมืองรองอนาคตของเมืองและประเทศต่างๆ ขึ้นอยู่กับแผนงานในปัจจุบันนับเป็นจุดเริ่มต้นอันดี ที่การวิจัยเกี่ยวกับเมืองรองกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นมีทั้งงบประมาณสนับสนุนและเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยเราควรส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ด้วย
อีกทั้ง Dr. Aritenang ยังกล่าวเสริมว่า ผู้นำจากทุกภาคส่วน เช่น มหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ จำเป็นต้องริเริ่มการปรับเปลี่ยนกรอบความคิดของพลเมืองเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไป
นอกจากนี้ Assoc. Prof. Woods กล่าวว่าจากสถิติที่ผ่านมา ทุกเมืองมีการเติบโตและสร้างรายได้มากขึ้นเรื่อยๆ จากการขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน และเมืองรองเองก็สามารถสร้างมูลค่าต่อนักลงทุนได้เช่นกัน หากมีการลงทุนที่เหมาะสมต่อพื้นที่
และในช่วงท้ายของการเสวนา ผศ. อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปิดท้ายว่า “เราไม่สามารถมองเมืองรองเหล่านี้แบบแยกส่วนได้ เราต้องมองเมืองเหล่านี้ในบทบาทที่เป็นเครือข่ายของเมืองต่างๆ และความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่มิติทางกายภาพเพียงอย่างเดียวด้วย เช่น มิติของทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อเนื่องต่อประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งช่วยให้เรามีความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเมืองเหล่านี้แบบองค์รวม การส่งเสริมและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์เหล่านั้นได้อย่างไร”
Social Links