สงคราม”รัสเซีย –ยูเครน”กับการเมืองบนยอดเขา
ดร.กฤษฎา พรหมเวค
คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ในปัจจุบันสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย – และยูเครนไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบทางด้านอาหาร ด้านพลังงานและค่าครองชีพของประชากรในพื้นที่ต่าง ๆ ของโลกเท่านั้น สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย – และยูเครนยังลามไปถึงประเทศคีร์กิซถานซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศยากจนในภูมิภาคเอเชียกลางด้วย
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อมีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งซึ่งระบุตัวว่าเป็นนักปีนเขาได้โพสต์วิดีโอเกี่ยวกับการที่เธอและเพื่อนนักกีฬาปีนเขาขึ้นไปบนยอดเขาที่มีชื่อว่ายอดเขาวลาดิมีร์ ปูติน และพบธงชาติยูเครนที่ลอยสวยปลิวไสวอยู่บนยอดเขานั้น
ซึ่งยอดเขาดังกล่าวอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 4,446 เมตร ยากที่คนธรรมดาจะขึ้นไปได้ โดยมีการประดับธงชาติยูเครนเหนือแผ่นโลหะที่จารึกข้อความชื่อของยอดเขาและความสูงของยอดเขาแห่งนี้ จึงได้ทำการบันทึกวิดีโอด้วยโทรศัพท์มือถือเอาไว้และนำมาทวิตไว้ในโลกอินเตอร์เน็ต จากการทวิตดังกล่าวผู้ใช้ทวิตเตอร์รายนี้ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกสอบปากคำแล้วแต่ก็ยังไม่ได้แจ้งข้อหาใดๆ แก่ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายดังกล่าว เพราะผู้ทวิตไม่ได้เป็นผู้นำธงดังกล่าวขึ้นไปประดับบนยอดเขา ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้ข้อมูลว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดและผู้กระทำความผิดอาจจะต้องโดนโทษปรับ
อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดต่อนักปีนเขาและคู่หูอีกครั้งเพื่อหาทางเพื่อถอดธงดังกล่าวออกจากยอดเขานั้น การกระทำดังกล่าวท่ามกลางเหตุการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย – ยูเครน อาจเป็นการยั่วยุเนื่องจากถูกมองว่าเป็นการกระทำเชิญสัญลักษณ์เพื่อแสดงความเหนือกว่าของชาติยูเครนเหนือ (ยอดเขา) ปูติน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนประเทศรัสเซีย
ยอดเขาวลาดิมีร์ ปูติน (Пик Владимира Путина) เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขา Kyrgyz Ala-Too (Киргизский хребет) ในระบบเทือกเขาเทียนชาน (Tian Shan) ซึ่งเป็นเทือกเขาขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในเอเชียกลาง โดยยอดเขาวลาดิมีร์ ปูติน ตั้งอยู่ในเขต Chuyskaya oblast (Чуйская область) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของประเทศคีร์กีซสถาน ได้ชื่อมาจากแม่น้ำชุยที่ไหลผ่านภูมิภาคนี้ ยอดเขาวลาดิมีร์ ปูติน เดิมเป็นยอดเขาไม่มีชื่อได้รับการตั้งชื่อเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2011 เพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซียในปี ค.ศ. 2011 ระหว่างการเดินทางเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคีร์กีซสถานกับทางการมอสโก ยอดเขาที่ไม่มีชื่อก่อนหน้านี้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ปูติน" หลังจากการปฏิวัติเอเชียกลางในประเทศคีร์กีซสถานปี ค.ศ. 2010 เป็นเวลา 1 ปี ก่อนหน้านี้ทางการคีร์กิซถานก็มีการเปลี่ยนชื่อยอดเขา Oguz-Bashi ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 5,169 เมตร เป็นยอดเขาในคีร์กีซสถาน ยอดเขาตั้งอยู่บนสันเขา Terskey Ala-Too ของระบบภูเขา Tien Shan ตั้งอยู่ในอาณาเขตของภูมิภาค Issyk-Kul เป็น ยอดเขาบอริส เยลต์ซิน (Пик Бориса Ельцина) เพื่อเป็นเกียรติแก่นายบอริส เยลต์ซิน ประธานาธิบดีคนแรกของรัสเซีย เมื่อ ปีค.ศ. 2002
อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่มีเหตุการณ์ดังกล่าวปรากฏขึ้นพบว่าทางสมาชิกของสหพันธ์ปีนเขาแห่งอดีตสาธารณรัฐโซเวียต (the mountain climbing federation of the former Soviet republic) ได้ทำการถอดธงชาติยูเครนออกจากยอดเขาดังกล่าวและนำธงชาติคีร์กิซถานขึ้นแทนที่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยนายเอดูอาร์ด คูบาตอฟ (Eduard Kubatov) ประธานสหพันธ์ปีนเขาแห่งอดีตสาธารณรัฐโซเวียตได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า การตัดสินใจถอดธงชาติยูเครนออกนั้นไม่ได้เป็นการถูกกดดันทางการเมืองจากทางรัสเซีย หากแต่เป็นการตัดสินใจเองจากทางด้านสหพันธ์ฯ “เป็นเรื่องที่ไม่น่ายินดีที่เรื่องดังกล่าวถูกลากเข้าไปพัวพันกับเรื่องการเมือง ..ธงชาติคีร์กิซถานสมควรโบกสะบัดบนเทือกเขาของคีร์กิซ..”
เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่สบายใจให้กับรัฐบาลของคีร์กีซสถานที่ยากจนอีกทั้งยังเป็นเจ้าของยอดเขาและเป็นพันธมิตรที่ภักดีของรัสเซีย แม้ว่าคีร์กิซถานจะแสดงท่าทีของความไม่สบายใจเกี่ยวกับสงครามของมอสโกในยูเครนและการกล่าวหาว่าทางเครมลินต้องการที่จะปกป้องเทือกเขาดังกล่าวจากการกระทำที่ไม่เหมาะสมที่พยายามแสดงสัญลักษณ์ของยูเครนเหนือรัสเซียก็ตาม ซึ่งทางรัฐบาลคีร์กิซถานก็ได้ห้ามไม่ให้บริษัทให้บริการรักษาความปลอดภัยแห่งหนึ่งเข้าร่วมการเดินขบวนพาเหรดของรัฐที่แสดงสัญลักษณ์ Z ที่ทางการของรัสเซียใช้เป็นสัญลักษณ์ในการให้การการสนับสนุนสำหรับกองกำลังของตนที่สู้รบในยูเครน ซึ่งมีการเห็นสัญลักษณ์นี้บนเครื่องแบบและรถถังของกองทัพรัสเซีย เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการลุกลามของสถานการณ์สงครามรัสเซีย –ยูเครนซึ่งยังไม่มั่นใจว่าจะจบลงอย่างไรในอนาคตอันใกล้นี้…
Social Links