จับมือ “ฟินเทคประเทศไทย” ติดอาวุธให้ InsurTech Startup

จับมือ “ฟินเทคประเทศไทย” ติดอาวุธให้ InsurTech Startup

จับมือ “ฟินเทคประเทศไทย” ติดอาวุธให้ InsurTech Startup

                ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นประธานเปิดงานและเป็นปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Center of InsurTech : Center of Co-Creation ”ในงานสัมมนา ภายใต้หัวข้อ “Insurance Regulatory Sandbox – โอกาสของธุรกิจประกันภัย” สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ กลุ่ม Startup และประชาชนทั่วไป เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561 ณ ชั้น 13 Knowledge Exchange (KX) Building

                นับเป็นการประเดิมกิจกรรมแรกของ Center of InsurTech, Thailand (CIT) ที่จับมือร่วมกับ สมาคมฟินเทคประเทศไทย จัดงานสัมมนา“Insurance Regulatory Sandbox – โอกาสของธุรกิจประกันภัย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนรูปแบบการเข้าถึงการประกันภัยของประชาชนและการใช้ความรู้แก่ประชาชนด้านประกันภัยผ่านเทคโนโลยีประกันภัย และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจประกันภัยและกลุ่มเทคโนโลยีประกันภัย (InsurTech Startup) นอกจากนี้วิทยากรยังประกอบด้วย ดร.อายุศรี คำบรรลือ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และนายสมเกียรติ วัฒนาประสบสุข ผู้อำนวยการกลุ่มงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จากสำนักงาน คปภ. นายเจตน์เมริน เจตน์ระวีโชติ Senoir Vice Persident Digital Marketing Design & Activation จาก Allianz Ayudhya Assurance PCL และนายธนศักดิ์ ฮุ่นตระกูล Co-Founder and Country Manager จากบริษัท แฟร์ดี อินชัวเทค จำกัด ให้เกียรติมาแสดงมุมมองและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในงานสัมมนาครั้งนี้

                โดยเลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนหนึ่งว่า ธุรกิจประกันภัยเป็นอุตสาหกรรมระดับต้นๆที่ได้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี (Technology Disruption) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการกำกับดูแลพฤติกรรมผู้บริโภค และมี  ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในธุรกิจมากกว่าภาคธุรกิจด้านอื่นๆ โดยที่การเติบโตของ Startup ในประเทศไทยมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมาจากความร่วมมือจากหลายองค์กรที่สร้าง Corporate Venture Capital (CVC) หรือบริษัทขนาดใหญ่ที่มาร่วมลงทุนกับบริษัทต่างๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยี สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดตั้ง Center of InsurTech, Thailand (CIT) ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีเทคโนโลยีด้านการประกันภัย (InsurTech) และเทคโนโลยีประกันภัยในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย (Regulatory Technology (RegTech) ให้ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งการจะสร้างเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็น RegTech,  SupTech หรือ InsurTech นั้นต้องอาศัยการร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์การดำเนินการในระยะแรก โดยที่ CIT จะมุ่งเน้นการสร้าง Tech Ecosystem เพื่อให้เกิดการบูรณาการในทุกภาคส่วน เช่น กลุ่มธุรกิจประกันภัย ธนาคาร มหาวิทยาลัย โครงการพัฒนา Startup กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีรายใหญ่ Tech Startups ภาครัฐ และหน่วยงานกำกับ ร่วมกันผนึกกำลังที่เข้มแข็งเพื่อให้ CIT เป็น Center of Co-Creation ที่จะร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและผู้เอาประกันภัยต่อไป

                ด้านดร.อายุศรี คำบรรลือ ได้กล่าวถึงการส่งเสริมเทคโนโลยี โดยสำนักงาน คปภ. ได้ออกประกาศ สำนักงาน คปภ. ว่าด้วยแนวทางการเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการสำหรับธุรกิจประกันภัย (Insurance Regulatory Sandbox) ซึ่งเปิดโอกาสให้บริษัทประกันภัย นายหน้าประกันภัย และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน (FinTech Firm) หรือผู้ประกอบธุรกิจที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยี (Technology Firm) เข้าร่วมโครงการโดยการให้บริการแก่ผู้บริโภคจริงภายในสภาพแวดล้อมและการให้บริการที่จำกัด ภายใต้กรอบหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่พิจารณากำหนดหรือแก้ไขปรับปรุงให้ยืดหยุ่นตามความจำเป็น ทั้งนี้ สำหรับ FinTech Firm และ Technology Firm จะต้องเป็นการดำเนินการร่วมกับบริษัทประกันภัยหรือนายหน้าประกันภัย ในโครงการ Sandbox นี้ จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสามารถทดสอบธุรกรรม ผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่ กระบวนการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย กระบวนการเรียกร้อง หรือ การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน Smart Contract หรือ ธุรกรรมอื่นที่ สำนักงาน คปภ. เห็นชอบ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถยื่นขอสมัครเข้าโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 โดยมีระยะเวลาทดสอบไม่เกิน 1 ปี แต่อาจมีการขยายเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ ในการทดสอบ ผู้สมัครจะต้องมีกระบวนการในการให้ความคุ้มครองผู้บริโภคทั้งการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และชดเชยให้ในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้น และต้องมีกระบวนการในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจมีขึ้น รวมถึงต้องส่งรายงานให้แก่สำนักงาน คปภ. ด้วย

                ส่วนนายสมเกียรติ วัฒนาประสบสุข ได้กล่าวถึงเรื่อง Cybersecurity for InsurTech ว่าในปัจจุบันธุรกิจ Startup มีการเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งนี้เพราะได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาผนวก แต่เมื่อมีโอกาส ก็ย่อมมีความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่ในปัจจุบันมีพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน หากไม่คำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ก็จะไม่สามารถอยู่ได้อย่างยั่นยืน ดังนั้นในการพัฒนา Software เพื่อเข้ามาตอบโจทย์ของ InsurTech นั้นต้องคำนึงถึงการดำเนินธุรกิจให้ได้อย่างต่อเนื่องในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ภัยคุกคามไซเบอร์ (Cyber resilience) นอกจากนั้นแล้วยังได้กล่าวถึง GDPR (Generic Data Protection Regulation) ซึ่งเป็นกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมืองที่อาศัยอยู่ในเขตสหภาพยุโรป มีผลบังคับใช้เมื่อ 25 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมามีผลให้บริษัทที่ต้องถือครองข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องทบทวนการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่ามาตรการควบคุมที่ใช้อยู่เพียงพอต่อการปกป้องข้อมูลดังที่ระบุไว้ในกฎหมายหรือไม่ ในส่วนของผู้ให้ข้อมูลเองก็ควรศึกษาถึงประโยชน์ หรือสิทธิที่จะได้รับด้วย โดย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีความที่คล้ายคลึงกันกับ GDPR

                นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาวามมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยได้แบ่งกลุ่ม Critical Information Infrastructure (CII) ออกเป็น 6 กลุ่มประกอบด้วย กลุ่มความมั่นคงและบริการภาครัฐที่สำคัญ กลุ่มการเงิน กลุ่มเทคโนโลยีและโทรคมนาคม กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค กลุ่มสาธารณสุข และกำหนดให้ต้องมีมาตรฐานในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ได้กำหนดมาตรฐานและมาตรการที่พึงนำไปใช้เป็นกรอบในการทำงานเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ประกอบด้วย มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสำหรับโปรแกรมประยุกต์บนเว็บไซต์ (Web Application Security Standard :WAS) มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสำหรับเว็บไซต์ (Website Security Standard :WSS) มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยตามวิธีการแบบปลอดภัย พ.ร.บ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และกรอบการดำเนินงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (NIST Cyber security Framework) ซึ่งบริษัทประกันภัย จะอยู่ภายใต้กลุ่มการเงิน จึงเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อประเทศ และต้องดำเนินการตามมาตรฐาน และมาตรการต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงควรเร่งทบทวนมาตรการควบคุมต่างๆ ที่บริษัทดำเนินการอยู่เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ดังกล่าว

 

                ทั้งนี้ กิจกรรมต่อไปของ CIT คือการจัดประกวด OIC InsurTech Award ซึ่งได้เชิญชวนทีม Startup ด้าน InsurTech ทั่วประเทศไทยมาประกวดเพื่อชิงความเป็นสุดยอดฝีมือด้าน InsurTech โดยขณะนี้มีทีม startup สมัครเข้าประกวดแล้ว 14 ทีม โดยคณะกรรมการตัดสินจะให้ทีมเข้าประกวดนำเสนอผลงานเพื่อคัดให้เลือก 5 ทีม ก่อนที่จะให้ทั้ง 5 ทีม เข้าชิงกันในวันที่ 8 กันยายน 2561 เพื่อตัดสินทีมที่ชนะเลิศที่จะเป็นสุดยอด OIC InsurTech แห่งปีนี้ในงานสัปดาห์ประกันภัย 2561 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ รายละเอียดติดตามได้ใน https://cit.oic.or.th ซึ่งเป็นเว็ปไซต์ของศูนย์ CIT

 

 

 

 

You may also like

คปภ.เดินหน้า! เปิดเวทีสัมมนาวิชาการด้านประกันภัย ประจำปี 2567 “Thailand Insurance Symposium 2024”

 นายชูฉั