3 ขั้นตอนสู่ความสำเร็จในการกำหนดกลยุทธ์ เพื่อปรับปรุงแอปพลิเคชันให้ทันสมัย

3 ขั้นตอนสู่ความสำเร็จในการกำหนดกลยุทธ์ เพื่อปรับปรุงแอปพลิเคชันให้ทันสมัย

3 ขั้นตอนสู่ความสำเร็จในการกำหนดกลยุทธ์

เพื่อปรับปรุงแอปพลิเคชันให้ทันสมัย

เติมศักดิ์ วีรขจรพงษ์

รองประธานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอาท์ซิสเต็มส์

                องค์กรต่าง ๆ ได้รับแรงกดดันเพิ่มมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนสำหรับการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่แปลกใหม่  ก่อนหน้านี้เมื่อพูดถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ก็มักจะมุ่งเน้นเรื่องประสบการณ์สำหรับลูกค้าเป็นหลัก แต่ปัจจุบันประเด็นที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของการทำงานจากที่บ้าน/แบบไฮบริด และประสบการณ์สำหรับพนักงานและพาร์ทเนอร์ก็มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จในการดำเนินงานในสภาพแวดล้อมแบบกระจัดกระจาย  อย่างไรก็ตาม ในการที่บริษัทจะสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมและประสบความสำเร็จในทั้งสามแง่มุมที่สำคัญของการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นได้นั้น จำเป็นต้องทำลายโซ่ตรวนที่ฉุดรั้งบริษัทเอาไว้ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการที่ล้าสมัย

                ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ไอดีซีคาดการณ์ว่าภายในปี 2567 แอปพลิเคชันรุ่นเก่าส่วนใหญ่จะได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย โดยประมาณ 65% ของแอปพลิเคชันจะใช้บริการคลาวด์เพื่อขยายฟังก์ชั่นการทำงานหรือทดแทนโค้ดที่ไร้ประสิทธิภาพ1

                การนำเสนอคลาวด์แอปพลิเคชันที่ทันสมัยนับว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการเพิ่มความยืดหยุ่น ความสามารถในการปรับตัว และความคล่องตัว ทั้งยังช่วยสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้แก่ธุรกิจ  อย่างไรก็ตาม การสร้างแอปพลิเคชันเหล่านี้อาจเป็นเรื่องยากลำบาก และการนำเสนอคลาวด์แอปที่ทันสมัยก็นับเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะทุกวันนี้องค์กรต้องใช้เวลาและทรัพยากรจำนวนมากไปกับการจัดการหนี้ทางเทคนิค (Technical Debt) ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่มีอยู่

                เมื่อไม่นานมานี้เราได้จัดการสัมมนาร่วมกับ ลาร่า เกรเดน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของไอดีซี เกี่ยวกับแนวทางที่จะช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายที่พบเห็นได้มากที่สุดสำหรับการปรับปรุงแอปพลิเคชันให้ทันสมัย เพื่อปรับเปลี่ยนองค์กรสู่การเป็นโรงงานผลิตนวัตกรรมด้านซอฟต์แวร์ในยุคดิจิทัล โดยประเด็นเนื้อหาที่สำคัญจากการสัมมนามีดังต่อไปนี้

ปัญหาท้าทายเกี่ยวกับการปรับปรุงแอปให้ทันสมัย

                จุดเริ่มต้นที่จะต้องกล่าวถึงก็คือ เพราะเหตุใดการนำเสนอโมเดิร์นแอปพลิเคชันจึงเป็นเรื่องยาก  องค์กรส่วนใหญ่โดยทั่วไปมีลักษณะที่แตกต่างจากบริษัทซอฟต์แวร์ชั้นนำ อย่างเช่น เน็ตฟลิกซ์ หรือ แอปเปิล กล่าวคือ องค์กรเหล่านี้มักจะต้องเผชิญกับปัญหาท้าทาย 3 ข้อที่ขัดขวางความสามารถในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านซอฟต์แวร์:

                • การขาดแคลนนักพัฒนาที่มีความชำนาญ: ข้อมูลจากไอดีซีระบุว่า ในช่วงปี 2564 มีการขาดแคลนนักพัฒนาราว 1.4 ล้านคน ซึ่งเท่ากับอัตราการขาดแคลน 10% เมื่อคำนวณจากจำนวนนักพัฒนาที่เป็นพนักงานประจำในปัจจุบัน และตัวเลขนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็น 20% ในช่วง 4 ปีข้างหน้า

                • หนี้ทางเทคนิค: โดยเฉลี่ยแล้ว 50% ของแอปพลิเคชันในองค์กรเป็นแอปพลิเคชันรุ่นเก่าที่ล้าสมัย และมีไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่ถูกบูรณาการเข้ากับเครื่องมือพัฒนาที่ทันสมัย อย่างเช่น DevOps toolchains และสภาพแวดล้อมการพัฒนาแบบครบวงจร  ที่จริงแล้ว ระบบรุ่นเก่าไม่ใช่ระบบที่ไร้ประโยชน์และถูกเก็บใส่ลิ้นชัก แต่โดยมากแล้วระบบเหล่านี้มักจะถูกใช้งานเพื่อตอบสนองความต้องการที่สำคัญอย่างมากต่อการดำเนินงาน  อย่างไรก็ตาม มีปัญหาเกิดขึ้นเมื่อคุณพยายามที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรม และคุณจำเป็นที่จะต้องบูรณาการเข้ากับระบบรุ่นเก่าเพื่อเข้าถึงข้อมูล หรือสร้างแอปใหม่ที่ทำงานอยู่บนระบบดังกล่าวเพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้าในการทำธุรกิจกับคุณ เป็นต้น  และแน่นอนว่าการบูรณาการหรือการพัฒนาต่อยอดจากแอปพลิเคชันรุ่นเก่าอาจเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนและต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

                • การขาดโครงการนวัตกรรม: ตามคำจำกัดความของไอดีซี โครงการนวัตกรรมที่ว่านี้หมายถึงโครงการที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนนั่งร้านที่รองรับการสร้างวัฒนธรรม, KPI และชุดเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับนักพัฒนา  แม้ว่าโครงการนวัตกรรมจะมีความสำคัญอย่างมากต่อการสร้างแรงจูงใจให้แก่นักพัฒนา แต่ 41% ของบริษัทที่ต้องการสร้างนวัตกรรมดิจิทัลกลับไม่มีโครงการนวัตกรรม2

                คำถามที่ตามมาก็คือ บริษัทส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหาในการว่าจ้างนักพัฒนา ทั้งยังต้องจัดการกับระบบรุ่นเก่าและหนี้ทางเทคนิคที่เพิ่มขึ้น จะต้องล่มสลายอย่างแน่นอนใช่หรือไม่  คำตอบก็คือ ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป  แต่ในการจัดการนวัตกรรม บริษัทต่าง ๆ จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองเกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์

             3 ข้อคิดที่สำคัญสำหรับการปรับเปลี่ยนองค์กรให้กลายเป็นโรงงานผลิตนวัตกรรมด้านซอฟต์แวร์ ในระหว่างการสัมมนา เกรเดนได้บอกเล่าเกี่ยวกับเทรนด์การพัฒนา 3 ข้อที่สำคัญ ซึ่งพบเห็นได้ในบริษัทซอฟต์แวร์ที่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรม ซึ่งครอบคลุมทั้งบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์โดยตรง และบริษัทที่ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัลเพื่อขยายช่องทางรายได้โดยอาศัยการพัฒนาซอฟต์แวร์

                ต่อไปนี้คือแนวทางที่จะช่วยให้คุณเอาชนะปัญหาท้าทายที่ระบุข้างต้น และก้าวสู่การเป็นโรงงานผลิตนวัตกรรมด้านซอฟต์แวร์:

            1. ขับเคลื่อนกลยุทธ์การจัดซื้อซอฟต์แวร์ที่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม

                ข้อมูลจากไอดีซีระบุว่า บริษัทที่ใช้ซอฟต์แวร์ในการปรับปรุงผลประกอบการธุรกิจ หรือกลุ่มที่เรียกว่า “High Innovator” มีแนวโน้มที่จะดำเนินกลยุทธ์การจัดซื้อซอฟต์แวร์ที่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม  ทั้งนี้ ในการกำหนดกลยุทธ์ด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ บริษัทที่จัดว่าเป็น High Innovator มักจะวางแผนในระยะยาว และไม่ได้แก้ไขปัญหาทีละอย่างโดยใช้ซอฟต์แวร์ของผู้ผลิตรายใดรายหนึ่ง

                ในการกำหนดกลยุทธ์การจัดซื้อที่เหมาะสม จะต้องมองภาพรวมของทั้งองค์กร และจะต้องพิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้ระบบที่มีอยู่  วิธีนี้จะช่วยให้บริษัทสามารถนำเสนอโซลูชันได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน แทนที่จะต้องใช้เวลาหลายปี ทั้งยังสามารถบูรณาการระบบรุ่นเก่าและระบบอื่น ๆ ที่มีอยู่ และดำเนินการได้อย่างฉับไว ปลอดภัย และไว้ใจได้

                คุณจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่ากลยุทธ์การจัดซื้อมีความสอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจ และควรมองหาบริษัทพาร์ทเนอร์ด้านซอฟต์แวร์ที่เหมาะสม ซึ่งสามารถจัดหาสถาปัตยกรรมด้านเทคนิคที่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการที่สำคัญ และมีแนวทางที่ชัดเจนในการใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวเพื่อตอบสนองความจำเป็นในด้านอื่น ๆ เช่น การกำกับดูแล การปกป้องความเป็นส่วนตัว และการรักษาความปลอดภัย รวมถึงการบูรณาการเข้ากับระบบที่คุณมีอยู่ เช่น ระบบรุ่นเก่า ระบบ SaaS และบริการคลาวด์

                แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ จะต้องเสริมศักยภาพให้แก่นักพัฒนาในการนำเสนอฟังก์ชั่นต่าง ๆ รวมไปถึงการสร้างโค้ด และการพัฒนาต่อยอด ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการสร้างและนำเสนอแอปให้แก่ผู้ใช้งานเพื่อก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางธุรกิจ ดังนั้นจะต้องมีการจัดทำแผนการพัฒนาแอปพลิเคชัน รวมถึงรูปแบบการใช้งานสำคัญ ๆ ในขั้นตอนแรก ๆ ของการกำหนดกลยุทธ์ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ธุรกิจ

              2. ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตซอฟต์แวร์

                ในข้อนี้ เราหมายถึงการเป็นผู้ผลิตซอฟต์แวร์ ไม่ใช่ผู้ใช้งานซอฟต์แวร์  ข้อมูลจากไอดีซีชี้ว่า ภายในปี 2568 ราวหนึ่งในสี่ของบริษัทชั้นนำที่ติดอันดับ Fortune 500 จะปรับเปลี่ยนสู่การเป็นผู้ผลิตซอฟต์แวร์ เพื่อรักษาขีดความสามารถด้านการแข่งขัน3  แต่ที่จริงแล้ว ทุกบริษัทไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ควรจะมีความสามารถในการผลิตซอฟต์แวร์  และไม่ว่าคุณจะมีบุคลากรภายในองค์กรหรือจำเป็นต้องใช้บริการเอาต์ซอร์ส สิ่งสำคัญในการเป็นผู้ผลิตซอฟต์แวร์ที่ดีก็คือ คุณจะต้องสร้างซอฟต์แวร์ที่มีความสง่างาม กล่าวคือ มีการใช้โค้ดจำนวนน้อยกว่าและไม่ซับซ้อนจนเกินไป แต่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งตรงจุดนี้เองที่แพลตฟอร์ม Low-Code จะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม

                ยังคงมีความเชื่ออย่างผิด ๆ ว่า แพลตฟอร์ม Low-Code ไม่ใช่เครื่องมือสำหรับนักพัฒนาตัวจริง ซึ่งความเชื่อที่ว่านี้อาจจะถูกต้องอยู่บ้างสำหรับผลิตภัณฑ์ Low-Code บางตัว แต่ไม่ใช่เลยสำหรับแพลตฟอร์ม Low-Code ระดับชั้นนำ  ที่จริงแล้ว สิ่งที่แพลตฟอร์ม Low-Code ทำก็คือ การขจัดความยุ่งยากซับซ้อนที่นักพัฒนามักจะต้องพบเจอในการสร้างแอปหรือระบบ

                นอกจากนี้ แพลตฟอร์ม Low-Code ยังช่วยทำงานแบบอัตโนมัติในส่วนของงานที่น่าเบื่อหรือซ้ำซ้อนในกระบวนการ CI/CD ซึ่งจะช่วยให้นักพัฒนาสามารถทุ่มเทเวลาและความพยายามให้กับงานส่วนที่สำคัญที่สุดในการสร้างแอปพลิเคชัน  ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจของไอดีซี ซึ่งในการสอบถามนักพัฒนา Full-Stack ว่าเครื่องมือและแพลตฟอร์มการพัฒนาที่ใช้อยู่มีคุณลักษณะอะไรที่คิดว่าสำคัญที่สุด คำตอบที่ได้รับมากที่สุดก็คือ Code Abstraction หรือการกำจัดข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องทิ้งไปเพื่อลดความซับซ้อนของโค้ด ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของเครื่องมือ Low-Code

                นักพัฒนาต้องการที่จะเขียนโค้ดและสร้างฟังก์ชั่นการทำงาน ไม่ใช่เสียเวลาไปกับการแก้ไขบั๊กหรือการวิเคราะห์ข้อกำหนดด้านซอฟต์แวร์  โซลูชันการพัฒนาแบบ Visual ที่ขับเคลื่อนด้วยโมเดลจะช่วยให้นักพัฒนาทุ่มเทให้กับการสร้างซอฟต์แวร์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างเต็มความสามารถ

            3. อย่าเริ่มต้นจากกระดาษเปล่า

                ปัจจุบัน คุณไม่จำเป็นต้องสร้างทุกชิ้นส่วนของซอฟต์แวร์โดยเริ่มต้นจากศูนย์ เพราะคุณสามารถเข้าถึงชุดโค้ดที่เขียนซ้ำ ๆ กันได้จากตลาดคลาวด์

                สิ่งสำคัญคือ การขับเคลื่อนแนวทางในระดับแพลตฟอร์ม เพื่อเสริมศักยภาพให้แก่นักพัฒนาด้วยเครื่องมือ กระบวนการ และความสะดวกในการใช้ตลาดคลาวด์  การลงทุนในบุคลากรและการจัดหาเครื่องมือที่ดีกว่าจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่ทีมงานฝ่ายพัฒนา ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน และลดอัตราการลาออกของบุคลากร

                ทุกวันนี้ บริษัทเทคโนโลยีส่วนใหญ่นำเสนอโครงการฝึกอบรมและการออกใบรับรอง ควบคู่ไปกับโซลูชันที่วางจำหน่าย  ทักษะและการรับรองดังกล่าวนับว่ามีประโยชน์อย่างมากต่อนักพัฒนาและต่อธุรกิจของคุณ ดังนั้นคุณจึงควรสอบถามบริษัทเทคโนโลยีว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่คุณได้หรือไม่สำหรับการยกระดับทักษะและการลงทุนในบุคลากร  การดำเนินการทั้งหมดนี้จะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จในการเสริมสร้างขีดความสามารถและดึงดูดนักพัฒนา ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการนำเสนอแอปที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ธุรกิจ

…………………………

เกี่ยวกับเอาท์ซิสเต็มส์

เอาท์ซิสเต็มส์ (OutSystems) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 ด้วยพันธกิจในการเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่องค์กรต่าง ๆ สำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมผ่านซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน OutSystems ประกอบด้วยเครื่องมือประสิทธิภาพสูงที่เชื่อมต่อกันและขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI ช่วยให้นักพัฒนาสามารถสร้างและติดตั้งใช้งานแอปพลิเคชันที่หลากหลายได้อย่างรวดเร็ว ตอบโจทย์ความต้องการของทุกภาคส่วนภายในองค์กร ด้วย Community member กว่า 435,000 ราย พนักงานมากกว่า 1,500 คน พันธมิตรกว่า 350 ราย และลูกค้าหลายพันรายใน 87 ประเทศ ใน 22 กลุ่มอุตสาหกรรม ธุรกิจของเอาท์ซิสเต็มส์ครอบคลุมทั่วโลก และช่วยให้องค์กรต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนวิธีการพัฒนาแอปพลิเคชันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เยี่ยมชมเว็บไซต์ของบริษัทฯ ได้ที่ www.outsystems.com หรือติดตามเราบน Twitter @OutSystems หรือ LinkedIn ที่ https://www.linkedin.com/company/outsystems.

 

You may also like

TQM ร่วมกับ MSIG ส่งความสุขท้ายปี มอบฟรี “ประกันภัยรถยนต์ตามคน” ขับคันไหนก็คุ้มครอง

TQM ร่วม