6 พรรคใหญ่ฉายนโยบายสุขภาพคนไทย
ประสานเสียงไม่เอา “บุหรี่ไฟฟ้า”และ”กัญชาเสรี”
ณ ห้องฟอร์จูน ชั้น 3 โรงแรมแกรนด์ฟอร์จูน กรุงเทพฯ, มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดประชุมโฟกัส กรุ๊ป หัวข้อ “สื่อมวลชนพบพรรคการเมือง : ถามหา นโยบายสร้างเสริมสุขภาพคนไทย” โดยเชิญตัวแทนจาก 6 พรรคการเมืองสำคัญเข้าร่วมประชุมฯ มี นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส เป็นผู้ดำเนินรายการ
ตัวแทนจากพรรคการเมือง ได้กล่าวสรุปประเด็นสำคัญของนโยบายพรรค เริ่มจากนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะยกระดับนโยบายโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่พรรคไทยรักไทยทำไว้เมื่อ 22ปีที่แล้ว ซึ่งหากได้กลับมาเป็นรัฐบาลในสมัยหน้า พรรคฯจะดำเนินโครงการนี้ต่อ พร้อมกับการปฏิรูปงบประมาณทั้งระบบ ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการบริหารจัดการโครงการฯอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะโอนมอบภารกิจในการเป็นหน่วยงานรับประกันด้านสุขภาพของประชาชนให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แทนที่โรงพยาบาลเหมือนในอดีต พร้อมนี้ ยังจะเพิ่มงบประมาณในโครงการเป็น 1.6-1.7 แสนล้านบาทต่อปี เพื่อให้สปสช.ดำเนินโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดได้รับบริการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง สามารถเลือกแพทย์และโรงพยาบาลได้ตามที่ตัวเองต้องการ นอกจากนี้ ยังจะให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเก็บข้อมูลและประวัติการรักษาพยาบาลของคนไข้ไว้ในระบบคลาวด์ เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้การเรียกหาข้อมูลของคนไข้ทำได้อย่างสะดวกไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ไหน
“ต่อไปการนัดหมายคุณหมอ ไม่ต้องต่อคิวยาวเหมือนในอดีต คนไข้สามารถเลือกโรงพยาบาลที่ต้องการได้ตามใจ จะเลือกที่ใกล้บ้าน หรือใกล้ใจก็ได้ แม้แต่การเจาะเลือด ต่อไปก็ไม่ต้องไปรอตั้งแต่เช้า รวมถึงการรับยาที่สามารถจะนำใบสั่งยาจากแพทย์ เพื่อไปรับยาได้จากร้านยาใกล้บ้าน ภายใต้การดูแลของเภสัชกร” น.พ.สุรพงษ์ ย้ำและว่า พรรคเพื่อไทยยังมีแนวคิดในการฉีดวัคซีนป้องโรคต่างๆ ให้กับคนไทย โดยเฉพาะเพื่อป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกแก่เด็กหญิงอายุ 9-11 ปี และมะเร็งตับสำหรับผู้ชาย
ด้าน พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินนโยบายด้านสุขภาพให้กับประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง และจะดำเนินการต่อไปทันทีที่ได้กลับมาเป็นรัฐบาล ตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20ปี (2565-2574) ทั้งนี้รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนแนวทางการทำงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยจากนี้ พรรคฯจะขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพภายใต้กรอบแนวคิดที่จะยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ควบคู่กับการสร้างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในภาพแวดล้อมทั้งทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าเดิม ทั้งนี้ สื่อมวลชนถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุขไปสู่ประชาชนได้เป็นอย่างดี
“ต่อไปพรรคจะสร้างสถานพยาบาลนำร่อง ที่จะให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขครบวงจร เริ่มจากเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร โดยทำให้ครบทั้ง 50 เขต จากนั้นจะขยายไปจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป” น.พ.เหรียญทอง ย้ำ
นายนิกร จำนง พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งเป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองเพียงคนเดียวที่ไม่ใช่นายแพทย์ แต่มีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดนโยบายของพรรค กล่าวว่า ในสมัยที่ตนเป็น รมช.คมนาคม เคยมีนโยบายประมูลเลขทะเบียนรถสวย เพื่อนำมาตั้งเป็นกองทุน ตามแนวคิดของสสส. เพื่อนำรายได้มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยและรณรงค์การเกิดอุบัติเหตุตามท้องถนน ซึ่งหากได้เป็นรัฐบาล ก็จะดำเนินโครงการในลักษณะเช่นนี้ต่อไป ทั้งนี้ ในอดีต พรรคได้ดำเนินงานร่วมกับ สสส.มาโดยตลอด เช่น โครงการรณรงค์ “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง” เป็นต้น ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เชื่อว่าในอนาคต พรรคก็พร้อมจะทำงานร่วมกันต่อไป
“แนวคิดของพรรค คือ เน้นการป้องกันสุขภาพมากกว่าจะเน้นการรักษา เนื่องจากใช้งบประมาณที่ต่ำกว่า เพราะแต่ละปีรัฐบาลจะต้องใช้งบฯในส่วนนี้มากถึงปีละ 5 แสนล้านบาท แต่จากนี้ไป พรรคฯจะเสนอนโยบาย “สุขภาพดีมีเงินคืน” เพื่อกระตุ้นให้คนไทยหันมาใส่ใจในสุขภาพมากขึ้น” นายนิกร กล่าว
นพ.เธียรชัย สุวรรณเพ็ญ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคไม่เน้นสร้างนโยบายสาธารณสุขอย่างเป็นทางการ หรือมีรายละเอียดมากเกินไป เพราะมีประสบการณ์ที่ว่า “พูดแล้วไม่ทำ หรือทำไม่ได้” จะกลายเป็นความเสียหายตามมาได้ เนื่องจากอาจมีปัจจัยความไม่แน่นอนแทรกซ้อนขึ้นมาได้ แต่จะเน้นการทำงานที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะ การตรวจสอบเพื่อป้องกันความเสี่ยงตั้งแต่ต้นทาง เช่น การตรวจสอบฮอร์โมนในกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันปัญหาความพิการในเด็กแรกเกิด การตรวจสอบกลุ่มคนที่มีประวัติและความเสี่ยงของโรคมะเร็ง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ครอบครัวเคยมีประวัติการป่วยมาก่อน นอกจากนี้ ยังมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเป็นต้นเหตุของปัญหาด้านสุขภาพ รวมถึงการใช้นโยบายด้านภาษีเพื่อดูแลสุขภาพของคนไทย ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการจัดเก็บภาษีความหวานมาบ้างแล้ว
ส่วน ร.อ.ดร.นพ.พิชาญศักดิ์ บุญมาศ ร.น. พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า พรรคฯเป็นแกนนำรัฐบาลมาตลอด 4 ปี และพร้อมจะดำเนินนโยบาย “คนไทยแข็งแกร่ง ประเทศไทยแข็งแรง ก้าวสู่มหาอำนาจด้านสุขภาพ” ด้วยการทำให้เกิดการแพทย์ทั่วถึงและเท่าเทียม การปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการดำเนินงาน โดยเฉพาะการนำระบบเทเลเมดิคัล เฮลท์ มาใช้ในการตรวจรักษาผู้ป่วยเป็นต้น
ขณะที่ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง พรรคก้าวไกล ย้ำว่า พรรคมองเห็นปัญหา 2 ประเด็นคือ ปัญหาเรื่องงบประมาณด้านสาธารณสุขที่ยังน้อยเกินไป และปัญหาด้านบุคคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนักชั่วโมงการทำงานของหมอและพยาบาลที่มีมากเกินไป ส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านสุขภาพและจิตใจอย่างมาก จนอาจกระทบต่อการปฏิบัติงานได้ ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่ลดชั่วโมงการทำงานจากเดิม 87 ชม.ต่อสัปดาห์ เหลือเพียง 60 ชม.ต่อสัปดาห์ พร้อมกับลดสัดส่วนในการดูแลผู้ป่วยของแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐที่มี 1:200 คน ให้เหลือน้อยลง แม้จะไม่เท่ากับแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนที่มีราว 1:20 ถึง 40 คนก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาแพทย์ย้ายไปทำงานกับโรงพยาบาลเอกชน
นอกจากนี้ พรรคจะเน้นทำให้แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง เป็นแผนกฉุกเฉินจริงๆ รองรับกรณีการเจ็บป่วยแบบฉุกเฉิน พร้อมกันนี้ ยังจะเน้นใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะการนำระบบเทเลเมดิซีนมาใช้ในการตรวจรักษาผู้ป่วยทั่วประเทศ
ในช่วงการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะรวมถึงการถาม-ตอบจากตัวแทนสื่อมวลชนที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ อาทิ นายศักดา แซ่เอียว หรือ “เซียร์ ไทยรัฐ” การ์ตูนนิสต์ชื่อดัง นายจิระ ห้องสำเริง นายจิระพงษ์ เต็มเปี่ยม ฯลฯ มีประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะนโยบายบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งตัวแทนพรรคการเมืองทั้งหมด ไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย ส่วนกรณีนโยบายกัญชาเสรีนั้น ทุกพรรคไม่เห็นด้วย แต่เห็นตรงกันที่จะสนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์เท่านั้น
สุดท้าย นายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ ได้กล่าวขอบคุณและปิดงาน และย้ำว่าการจัดประชุมครั้งนี้มีประโยชน์มาก เชื่อว่าในอนาคตหากพรรคการเมืองที่มาร่วมงานในวันนี้ได้มีโอกาสเป็นรัฐบาล คงจะได้จัดประชุมร่วมกันระหว่างสื่อมวลชนกับพรรคการเมืองเพื่อให้ข้อเสนอในการจัดทำนโยบายรัฐบาลด้านสุขภาพ พร้อมกันนั้นก็จะมีเวทีระหว่างสื่อมวลชนกับพรรคฝ่ายค้านเพื่อนำข้อมูลไปอภิปรายในรัฐสภา เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายรัฐบาลด้วย
Social Links