UN ศึกษาระบบ”นาวิกนคร 4.0 โมเดล”
แก้ปัญหาวิกฤตขยะ ด้วยวิธีธรรมชาติ
ดร.ลักษณารีย์ มณีโชติ ที่ปรึกษาการจัดการขยะ UN-HABITAT พร้อมด้วยนายสัญชัย ชนะสงคราม ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ชลบุรี และคณะ ได้มาศึกษาดูงานระบบกำจัดขยะที่ศูนย์กำจัดขยะ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือ ค่ายกรมหลวงชุมพร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี หรือ “นาวิกนคร 4.0 โมเดล” เพื่อดูระบบบริหารจัดการ เพื่อสำรวจและรวบรวมข้อมูล วิธีการกำจัดขยะแบบมีประสิทธิภาพ ด้วยวิธีธรรมชาติ โดยมี นาวาเอก จักรพงษ์ อาษานอก ผู้บังคับการกรมสนับสนุน กองพลนาวิกโยธิน ในฐานะ ประธานกรรมการกิจการบริการเก็บและกำจัดขยะ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน และนายฐานันดร ชินะเมธา ประธานกรรมการ บ.สมาร์ทแกรนด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้การต้อนรับและอธิบายวิธีการกำจัดขยะแบบมีประสิทธิภาพ ด้วยวิธีธรรมชาติ
โดย ดร.ลักษณารีย์ มณีโชติ ที่ปรึกษาการจัดการขยะ UN-HABITAT ได้กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ โดยโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ UN-HABITAT ได้ลงมาสำรวจและรวบรวมข้อมูลกระบวนการบำบัดขยะด้วยวิธีธรรมชาติ เนื่องจากจังหวัดชลบุรี ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมประยุกต์ใช้แนวทางเมืองอัจฉริยะพิชิตขยะ (Waste Wise Cities Tool : WaCT) ของ UN-HABITAT ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้โครงการ "SEA circular" ดำเนินโครงการโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เพื่อนำไปใช้พัฒนากลยุทธ์ และแผนการปรับปรุงการจัดการขยะมูลฝอย และบรรลุสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยในเมืองที่ดีขึ้นสำหรับผู้อยู่อาศัยในจังหวัดชลบุรี จึงได้เดินทางมา ศึกษาดูงานระบบกำจัดขยะที่ศูนย์กำจัดขยะ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือ หรือ “นาวิกนคร 4.0 โมเดล” เพื่อดูระบบบริหารจัดการ เพื่อสำรวจและรวบรวมข้อมูล วิธีการกำจัดขยะแบบมีประสิทธิภาพ ด้วยวิธีธรรมชาติ
นาวาเอก จักรพงษ์ อาษานอก กล่าวว่า ปัญหาขยะถือเป็นวาระแห่งชาติ ตามนโยบายของภาครัฐ ทางกองทัพเรือ โดยหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน จึงมุ่งหวังให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ด้วยพื้นที่ของสัตหีบ นอกจากจะใช้เป็นที่ตั้งของฐานทัพด้านความมั่นคงแล้ว ยังมีที่พักข้าราชการ ประชาชน และสถานประกอบการเป็นจำนวนมากที่ทำให้ก่อให้เกิดปริมาณขยะกว่าวันละ 20-30 ตัน ด้วยเหตุนี้ จึงมีแผนในการจัดทำ “นาวิกนคร 4.0 โมเดล” ขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบนำร่องในการแก้ไขปัญหาขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแผนงานดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่การสร้างจิตสำนึกให้แก่ประชาชนในการคัดแยกขยะ โดยมีการจัดตั้งศูนย์รับซื้อ ก่อนจะนำส่วนที่เหลือประมาณ 95% มาดำเนินการกำจัด โดยได้มอบหมายให้ทางเอกชน โดย บ.สมาร์ทแกรนด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจากผลการปฏิบัติพบว่า ปัญหาขยะที่สะสม ได้ถูกกำจัดไป โดยที่ไม่มีมลพิษทางกลิ่น ทางอากาศ และยังสามารถนำขยะไป Recycle หรือทำเชื้อเพลิง อีกทางหนึ่งด้วย พร้อมกับจัดทำองค์ความรู้ (KM) วิธีการปฏิบัติที่เป็นเลิศ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในพื้นที่ใกล้เคียง และพัฒนาต่อยอดขยายผลการดำเนินงานตามโครงการไปยังภาคส่วนต่างๆของสังคมอีกด้วย
ขณะที่ นายฐานันดร ชินะเมธา กล่าวว่า ระบบกำจัดขยะด้วยวิธีธรรมชาตินี้ เรียกว่า กระบวนการบำบัดขยะด้วยระบบ NBT (Natural Biological Treat ment) หรือระบบการเติมอากาศ เพื่อให้เกิดการย่อยสลายตามธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่ หรือใช้งบประมาณสูงในการดำเนินการ สาระสำคัญของการจัดการปัญหาขยะด้วยระบบนี้ คือ การใช้ธรรมชาติเป็นส่วนสำคัญ คือ การเติมอากาศตามความชื้น และอุณหภูมิที่เหมาะสม จากนั้นจะมีการพลิกกองขยะเพื่อระบายก๊าซมีเทน และการเติมอากาศ เพื่อปล่อยให้อินทรีย์สารย่อยสลายกันเองกระทั่งมีความสมบูรณ์พร้อม จึงจะนำมาคัดร่อนเพื่อแยกวัสดุที่จะนำไป Recycle ทำปุ๋ยอินทรีย์ และแปรรูปขยะที่ตกค้างให้เป็นขยะเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel) RDF และใช้เป็นพลังงานทดแทน
Social Links