ดัชนีภาวะ ศก.และการครองชีพครัวเรือนเริ่มฟื้น
เปิดประเทศช่วยหนุน แต่“น้ำมันแพง-น้ำท่วม”ยังหลอน!
…………………………………………………………………………….
• สถานการณ์โควิด-19 ในเดือนก.ย. เริ่มมีทิศทางทรงตัวส่งผลให้มีการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มการระบาดบางส่วน เช่น ห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารที่เริ่มกลับมาเปิดทำการได้ส่งผลให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในเดือนก.ย.ปรับตัวเพิมขึ้นอยู่ที่ 36.6 จาก 33.0 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้าที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 38.4 จาก 35.5 ในเดือนส.ค. โดยครัวเรือนมีมุมมองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับรายได้และการจ้างงาน อย่างไรก็ตามดัชนียังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากครัวเรือนบางส่วนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่ไม่รวมภาระหนี้รวมถึงราคาพลังงาน ค่าสาธารณูปโภค และบริการพื้นฐานในชีวิตประจำวัน
• ช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์การได้รับวัคซีนมีความคืบหน้าไปในทิศทางที่ดี การส่งมอบและการจัดหาวัคซีนเป็นไปตามแผนการของภาครัฐ แม้ว่าอัตราการฉีดวัคซีนจะยังมีการกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่เสี่ยง แต่เริ่มมีการจัดสรรไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มขึ้น โดยล่าสุดอัตราการฉีดวัคซีนของไทยเข็มแรกครอบคลุม 53.0% และเข็มที่สองครอบคลุม 35.4% ของจำนวนประชากร จำนวนผู้ติดเชื้อที่เริ่มทรงตัวและอัตราการฉีดวัคซีนที่คืบหน้าส่งผลให้ภาครัฐอนุมัติมาตรการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 และทัวร์เที่ยวไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้สำรวจเพิ่มเติมถึงโครงการท่องเที่ยวของภาครัฐดังกล่าวว่าจะสามารถช่วยจูงใจให้เกิดการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 4 ของปีเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ ผลสำรวจระบุว่า โครงการภาครัฐฯ ช่วยจูงใจให้ครัวเรือนในกรุงเทพฯ ออกไปท่องเที่ยวได้ 30.7% โดยส่วนมากวางแผนท่องเที่ยวในเดือนธ.ค.
• แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ภาครัฐได้ออกมาประกาศเปิดประเทศโดยมีเป้าหมายเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว (สำหรับประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ) ในเดือนพ.ย.64 รวมถึงจะมีการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ในประเทศต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ในระยะข้างหน้าภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังมีความเปราะบาง โดยมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากสถานการณ์น้ำท่วมที่สถานการณ์ยังไม่สิ้นสุด ราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่ความไม่แน่นอนของการระบาดโควิด-19 ยังคงมีอยู่ ภาครัฐจึงควรช่วยเร่งสร้างความเชื่อมั่นแก่ทุกภาคส่วน เช่น มาตรการป้องกันความเสี่ยงจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ชัดเจน เป็นต้น
……………………………………………………………………………..
ในเดือนก.ย.ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้น หลังมีการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มการระบาดในบางส่วน
จำนวนผู้ติดเชื้อในเดือนก.ย. เริ่มทรงตัวจึงส่งผลให้มีการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มบางส่วน โดยห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารสามารถกลับมาเปิดได้ภายใต้มาตรการควบคุมต่าง ๆ ส่งผลให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนทั้งในปัจจุบันและอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 36.6 และ 38.4 จาก 33.0 และ 35.5 ตามลำดับ โดยครัวเรือนมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อรายได้และภาวะการจ้างงานซึ่งคาดว่าเกิดจากที่ห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารต่าง ๆ ที่มีแรงงานภาคบริการอยู่จำนวนมากกลับมาเปิดได้
อย่างไรก็ตามดัชนียังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ครัวเรือนบางส่วนมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่ไม่รวมภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในส่วนของประกันสังคมและมาตรการคนละครึ่ง นอกจากนี้ครัวเรือนมีความกังวลเกี่ยวกับระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงาน ค่าสาธารณูปโภค และบริการพื้นฐานในชีวิตประจำวันอยู่ในระดับสูง (-16.9% จากเดือนก่อน) หลังราคาพลังงานปรับสูงขึ้นต่อเนื่องและมาตรการลดภาระค่าครองชีพจากภาครัฐสิ้นสุดลง สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อในเดือนก.ย.ที่กลับมาปรับสูงขึ้น
โดยดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 1.68% เมื่อเทียบรายปี หลังระดับราคาน้ำมันขายปลีกเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการลดค่าน้ำค่าไฟสิ้นสุดลงในเดือนส.ค.64 นอกจากนี้ผลสำรวจเพิ่มเติมระบุว่าองค์กรส่วนใหญ่ยังลดเวลาการทำงานล่วงเวลาซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ของภาคครัวเรือนต่อเนื่อง ปัจจัยดังกล่าวสะท้อนถึงกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอของภาคครัวเรือนจากการจ้างงานที่ยังมีแนวโน้มเปราะบางจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับมาอยู่ในระดับปกติ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการของภาครัฐในส่วนของภาคการท่องเที่ยว ทั้งเราเที่ยวด้วยกันและทัวร์เที่ยวไทยที่ออกมาในไตรมาส 4 โดยผลสำรวจระบุว่ามาตรการดังกล่าวสามารถจูงใจให้ครัวเรือนในกรุงเทพฯ ออกไปท่องเที่ยวได้ 30.7% ขณะที่จูงใจให้ครัวเรือนในต่างจังหวัดได้เพียง 16.5% ซึ่งส่วนใหญ่วางแผนท่องเที่ยวกันในเดือนธ.ค.64 ที่เป็นช่วงวันหยุดสิ้นปี อัตราการได้รับวัคซีนที่ครอบคลุมมีแนวโน้มส่งผลถึงการตัดสินใจออกไปท่องเที่ยว ดังนั้นการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมในแต่ละพื้นที่จึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ตลาดการท่องเที่ยวในประเทศสามารถกลับมาคึกคักได้ในช่วงที่เหลือของปี 2564
กิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาคธุรกิจต่าง ๆ มีแนวโน้มจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้เพิ่มขึ้น หลังภาครัฐประกาศเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจากประเทศที่มีความเสี่ยงโควิด-19 ต่ำเข้ามาท่องเที่ยวได้โดยไม่ต้องกักตัว รวมถึงจะมีการผ่อนคลายกิจกรรมต่าง ๆ ในประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตามดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนอีกหลายปัจจัย โดยมีความเสี่ยงที่เพิ่มเติมเข้ามาอย่างสถานการณ์น้ำท่วมที่จะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของครัวเรือนบางส่วน ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ยังไม่สิ้นสุด โดยทางกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าในช่วงเดือนต.ค.64 จะมีพายุที่ส่งผลกระทบต่อไทย คือ “ดีเปรสชันไลออนร็อก” ที่เริ่มอ่อนกำลังลงและ “โซนร้อนกำลังแรงคมปาซุ” ที่กำลังเริ่มก่อตัวขึ้นและคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อไทยในช่วง13-14 ต.ค. 64 โดยจะส่งผลกระทบหนักในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก นอกจากนี้คาดว่าจะมีพายุ “โซนร้อนน้ำเทิน” ที่ต้องจับตามองในช่วงหลังวันที่ 18 ต.ค.64 ว่าจะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไร ขณะที่ปัจจัยเรื่องราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อภาคครัวเรือน
โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในระดับปัจจุบัน (ก.ย.64) และ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แต่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 38.1 (ก.ย.63) และยังต่ำกว่าระดับ 50 ต่อเนื่อง กำลังซื้อของภาคครัวเรือนยังเปราะบาง ขณะที่ปัจจัยเรื่องการเปิดประเทศจะเข้ามาช่วยหนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้มากขึ้น ทั้งนี้ ภาครัฐควรสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคประชาชนเพิ่มขึ้น เช่น มาตรการป้องกันการระบาดของโรค เป็นต้น รวมถึงอาจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเกี่ยวกับมาตรการภาษีเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี
Social Links