บาทแตะแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือน
หุ้นไทยปิดบวกต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 2
จับตานโยบายรัฐบาลใหม่-ตัวเลขส่งออกเดือน กค.
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
- เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือนที่ 34.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะพลิกกลับมาอ่อนค่าท่ามกลางแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ก่อนถ้อยแถลงของประธานเฟดช่วงปลายสัปดาห์
เงินบาททยอยแข็งค่าในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือนที่ 34.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทมีแรงหนุนจากตัวเลขจีดีพีของไทยที่ขยายตัวดีกว่าที่คาด (Thai GDP +2.3% YoY ในไตรมาส 2/67 สูงกว่าตลาดคาดที่ +2.2% YoY และสูงกว่า +1.6% YoY ในไตรมาส 1/67) ขณะที่ Sentiment ของ เงินดอลลาร์ฯ ยังอ่อนแอต่อเนื่องท่ามกลางกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่เฟดอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC เดือนก.ย. นี้ นอกจากนี้การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกก็เพิ่มแรงหนุนให้เงินบาทแข็งค่าด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่ากลับมาบางส่วนช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ หลังจาก กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไว้ที่ 2.50% ตามที่ตลาดคาด ประกอบกับตลาดเริ่มทยอยซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชั่นก่อนถ้อยแถลงของประธานเฟดที่งานสัมมนาประจำปีของเฟดที่แจ็กสัน โฮลช่วงปลายสัปดาห์ นอกจากนี้ การย่อตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลกหลุดระดับ 2,500 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์ สวนทางการฟื้นตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ก็มีส่วนชะลอการแข็งค่าของเงินบาทด้วยเช่นกัน
ในวันศุกร์ที่ 23 ส.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 34.27 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.03 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (16 ส.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 19-23 ส.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 5,948 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 3,616 ล้านบาท (แบ่งเป็นซื้อสุทธิพันธบัตร 4,128 ล้านบาท และมีตราสารหนี้หมดอายุ 512 ล้านบาท)
สัปดาห์นี้(26-30 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.00-34.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สัญญาณเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ตัวเลขการส่งออก และรายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนก.ค. ของไทย รวมถึงสถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านที่รอปิดการขาย และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคา PCE และ Core PCE เดือนก.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์จากมุมมองของผู้บริโภคเดือนส.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 (Prelim.) และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามตัวเลขกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค. ของจีนด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
- ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นตลอดสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากปัจจัยบวกในประเทศ
หุ้นไทยดีดตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ โดยมีปัจจัยหนุนหลักๆมาจากรายงานตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 ของไทยที่ขยายตัวได้ 2.3% YoY ซึ่งดีกว่าตลาดคาดการณ์ ประกอบกับนักลงทุนคลายความกังวลบางส่วนต่อประเด็นการเมืองในประเทศและกลับมาคาดหวังเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลชุดใหม่ โดยประเด็นดังกล่าวกระตุ้นแรงซื้อหุ้นในทุกอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มไฟแนนซ์ แบงก์และค้าปลีก นอกจากนี้หุ้นไทยยังมีแรงหนุนจากการคาดการณ์เรื่องการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดด้วยเช่นกัน
หุ้นไทยขยับขึ้นต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ โดยยังคงมีแรงซื้อเข้ามาในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ที่มีประเด็นบวกเพิ่มเติมจากการที่ กนง. มีมติคงดอกเบี้ยในการประชุมรอบล่าสุดและการประกาศจ่ายเงินปันผลของกลุ่มแบงก์ อนึ่งนักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาขายสุทธิหุ้นไทยอีกครั้งในสัปดาห์นี้ หลังจากซื้อสุทธิหุ้นไทยติดต่อกันได้ 2 สัปดาห์
ในวันศุกร์ที่ 23 ส.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,354.87 จุด เพิ่มขึ้น 3.98% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 50,552.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.24% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 4.02% มาปิดที่ระดับ 329.40 จุด
สัปดาห์นี้(26-30 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,340 และ 1,330 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,365 และ 1,375 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนก.ค. ของไทย ประเด็นการเมืองในประเทศ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล และดัชนีราคา PCE/Core PCE เดือนก.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ กำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค.ของจีน ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนส.ค.ของยูโรโซน รวมถึงยอดค้าปลีกเดือนก.ค.ของญี่ปุ่น
Social Links