เงินบาทผันผวนในกรอบอ่อนค่า แต่ดัชนีหุ้นไทยยังขยับขึ้น

เงินบาทผันผวนในกรอบอ่อนค่า แต่ดัชนีหุ้นไทยยังขยับขึ้น

เงินบาทผันผวนในกรอบอ่อนค่า แต่ดัชนีหุ้นไทยยังขยับขึ้น

                                                                ……………………….

•             เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าในช่วงก่อนการประชุมนโยบายการเงินของเฟด 26-27 ก.ค. นี้

•             หุ้นไทยดีดตัวกลับมาได้ช่วงปลายสัปดาห์ โดยมีแรงซื้อคืนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี หลังการรายงานผลประกอบการ   

                                                                ………………………..

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

                เงินบาทแกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบ แต่ยังคงมีแรงกดดันด้านอ่อนค่า โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแอกดดันเงินดอลลาร์ฯ ให้อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงต่อมาตามทิศทางค่าเงินหยวน แรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ของผู้นำเข้าในช่วงสิ้นเดือน และแรงขายสุทธิพันธบัตรไทยของต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงก่อนการประชุมเฟด (ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ย อย่างต่อเนื่อง) และยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลัง IMF ปรับลดตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2565-2566 ลงมาที่ 3.2% และ 2.9% ตามลำดับ               

                ตลอดสัปดาห์ เงินบาทแกว่งตัวผันผวนอยู่ในกรอบประมาณ 36.62-36.88 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงระหว่างรอติดตามผลการประชุมเฟดเพื่อประเมินแนวโน้มและขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปี

                ในวันพุธที่ 27 ก.ค. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 36.80 เทียบกับระดับ 36.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (22 ก.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 25-27 ก.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 4,376 ล้านบาท แต่ขายสุทธิพันธบัตรไทย 1,921 ล้านบาท

                สัปดาห์ถัดไป (1-5 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 36.00-37.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.ค. ของไทย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนก.ค. ยอดคำสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนมิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษและธนาคารกลางออสเตรเลีย รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนก.ค. ของจีน อังกฤษ และยูโรโซนด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

                ดัชนีตลาดหุ้นไทยขยับขึ้นก่อนผลการประชุมเฟด ทั้งนี้ SET Index ปรับตัวขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงซื้อหุ้นในกลุ่มแบงก์ซึ่งได้รับอานิสงส์จากผลประกอบการไตรมาสล่าสุดที่ออกมาค่อนข้างดี ประกอบกับมีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวและอัตราดอกเบี้ยในประเทศน่าจะมีการทยอยปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดีแรงเทขายของกลุ่มนักลงทุนสถาบันกดดันตลาดช่วงสั้นๆ ในเวลาต่อมา แต่ดัชนีหุ้นไทยกลับมาปรับขึ้นอีกครั้งในวันทำการสุดท้ายของเดือนก.ค. นำโดย หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ขานรับผลประกอบการของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งออกมาดีกว่าคาด     

                ในวันพุธ (27 ก.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,576.41 จุด เพิ่มขึ้น 1.53% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 58,611.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.39% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.01% มาปิดที่ 581.46 จุด    

                สำหรับสัปดาห์ถัดไป (1-5 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,550 และ 1,535 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,585 และ 1,600 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนก.ค. ของไทย ผลประกอบการงวด 2Q/65 ของบริษัทจดทะเบียนใน ตลท. ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงสถานการณ์โควิด ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงานเดือนก.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI เดือนก.ค. ของจีน ญี่ปุ่น และยูโรโซน การประชุม BOE รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิตและยอดค้าปลีกเดือนมิ.ย. ของยูโรโซน

You may also like

เปิดตัวดัชนีชี้วัดความปลอดภัยของเด็ก บนโลกออนไลน์ทั้งในระดับชาติและระดับโลก

เปิดตัวด