เงินบาททำสถิติแข็งค่าสุดรอบ 19 เดือนครั้งใหม่ ส่วนหุ้นไทยปิดต่ำกว่าสัปดาห์ก่อนเล็กน้อย

เงินบาททำสถิติแข็งค่าสุดรอบ 19 เดือนครั้งใหม่ ส่วนหุ้นไทยปิดต่ำกว่าสัปดาห์ก่อนเล็กน้อย

เงินบาททำสถิติแข็งค่าสุดรอบ 19 เดือนครั้งใหม่

ส่วนหุ้นไทยปิดต่ำกว่าสัปดาห์ก่อนเล็กน้อย

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

  เงินบาทแข็งค่าสุดรอบ 19 เดือนตามทิศทางราคาทองคำโลกที่พุ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ขาดแรงหนุน เนื่องจากตลาดยังรอผลการประชุมเฟดวันที่ 17-18 ก.ย. นี้

เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค และการย่อตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อคืนของนักลงทุนท่ามกลางการปรับการคาดการณ์ของตลาดมามองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในขนาดที่มากกว่า 25 bps. ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. นี้

อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นและแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือนครั้งใหม่ที่ 33.26 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตามการพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใหม่ของราคาทองคำในตลาดโลก และการแข็งค่าของเงินเยนซึ่งมีแรงหนุนจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่นในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ เงินบาทน่าจะมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากสถานะซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่อ่อนค่าลง หลังธนาคารกลางยุโรปยังไม่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบการประชุมหน้า (แม้จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมรอบนี้) ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีราคาผู้ผลิตก็ออกมาแย่กว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดด้วยเช่นกัน

ในวันศุกร์ที่ 13 ก.ย. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.32 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.52 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (6 ก.ย. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 9-13 ก.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 9,474 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 3,692 ล้านบาท (แบ่งเป็น ซื้อสุทธิพันธบัตร 3,752 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 60 ล้านบาท)

สัปดาห์ระหว่างวันที่ 16-20 ก.ย. ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.00-33.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก และสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค หลังผลการประชุมนโยบายการเงิน การเปิดเผยตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ Dot Plots ของเฟด (17-18 ก.ย.) ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและฟิลาเดลเฟีย และดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนก.ย. ตัวเลขยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม การเริ่มสร้างบ้าน และยอดขายบ้านมือสองเดือนส.ค. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (19-20 ก.ย.) ธนาคารกลางอังกฤษ (19 ก.ย.) การกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของจีน รวมถึงข้อมูลอัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. ของอังกฤษ ยูโรโซน และญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงช่วงต้น-กลางสัปดาห์ แต่ฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงที่เหลือของสัปดาห์

หุ้นไทยปรับตัวลงช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์เนื่องจากเผชิญแรงขายทำกำไร หลังตลาดตอบรับปัจจัยบวกในประเทศอย่างประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลและกองทุนรวมวายุภักษ์ไปพอสมควรแล้ว ทั้งนี้หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงนำตลาดเนื่องจากมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลง หลังโอเปกปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกปีนี้และปีหน้าลง

ดัชนีหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ท่ามกลางแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ตามการปรับตัวขึ้นของหุ้นภูมิภาคจากการคาดการณ์เรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในสัปดาห์หน้า โดยมีแรงซื้อคืนหุ้นหลายกลุ่ม นำโดย แบงก์ ไฟแนนซ์และเทคโนโลยี อย่างไรก็ดีกรอบการปรับขึ้นเริ่มจำกัดในช่วงท้ายสัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนรอติดตามผลการประชุมเฟด รายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลรวมถึงสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ

ในวันศุกร์ที่ 13 ก.ย. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,424.39 จุด ลดลง 0.23% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 65,359.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.61% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 2.01% มาปิดที่ระดับ 351.58 จุด

สัปดาห์นี้(16-20 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,410 และ 1,400 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,440 และ 1,450 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (17-18 ก.ย.) และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสอง เดือนส.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOE และ BOJ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนส.ค.ของ อังกฤษยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนก.ย. ของจีน

You may also like

คปภ.เดินหน้า! เปิดเวทีสัมมนาวิชาการด้านประกันภัย ประจำปี 2567 “Thailand Insurance Symposium 2024”

 นายชูฉั