เหตุใดองค์กรธุรกิจจึงต้องจ่ายหนี้ทางเทคนิค
โดย มาร์ค วีเซอร์ รองประธานประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของเอาท์ซิสเต็มส์
ตามที่สุภาษิตว่าไว้ เวลาไม่เคยคอยใคร นั่นคือสิ่งที่บ่งบอกความรู้สึกในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมาขององค์กรธุรกิจ ผู้บริโภค และบางประเทศที่ต้องพยายามอย่างหนักกับการอัพเกรดโครงสร้างพื้นฐานและโปรโตคอลที่ล้าสมัยเพื่อรับมือกับปัญหาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาด สัตยา นาเดลลา ซีอีโอของไมโครซอฟท์ กล่าวว่า ข้อดีของสถานการณ์การแพร่ระบาดก็คือ ทำให้การปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล หรือดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น (Digital Transformation) เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียงสองเดือน จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะต้องใช้เวลาถึงสองปี ทั้งนี้ ภาคส่วนต่าง ๆ ได้ดำเนินการโยกย้ายระบบกันขนานใหญ่ โดยองค์กรธุรกิจต้องย้ายการดำเนินงานไปสู่ระบบออนไลน์ภายในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน ขณะที่พนักงานต้องรีบติดตั้งระบบเพื่อทำงานจากที่บ้าน อย่างไรก็ดี ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้เผยให้เห็นรอยร้าวในส่วนงานไอที หรือที่เรียกว่าหนี้ทางเทคนิค (Technical Debt) ซึ่งเป็นภาระหนักที่องค์กรธุรกิจจะต้องแบกรับ
เอาท์ซิสเต็มส์ (OutSystems) ผู้นำระดับโลกด้านการพัฒนาโมเดิร์นแอปพลิเคชัน เปิดเผยในผลการศึกษาระดับโลกว่า บริษัทเกือบ 7 ใน 10 แห่งระบุว่าหนี้ทางเทคนิคเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดที่ขัดขวางการสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่จริงแล้ว หากปล่อยปละละเลยไม่แก้ไขปัญหาหนี้ทางเทคนิค บริษัทต่าง ๆ ต้องสูญเสียเงินราว 6,000 ดอลลาร์ต่อวินาที และตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นจนแตะระดับ 5 ล้านล้านดอลลาร์ ในอีก 10 ปีข้างหน้า นอกจากจะขัดขวางการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการเติบโตของธุรกิจแล้ว หากไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม หนี้ทางเทคนิคก็อาจเพิ่มพูนจนส่งผลกระทบทางการเงินที่รุนแรง และอาจถึงขั้นฉุดรั้งให้อุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจทั้งระบบต้องพังครืนลงมา
โดยมากแล้วหนี้ทางเทคนิคมักจะถูกมองข้าม กล่าวคือ องค์กรต่าง ๆ ใช้จ่ายงบประมาณด้านไอทีโดยเฉลี่ยเพียง 28 เปอร์เซ็นต์เพื่อแก้ไขปัญหานี้ อย่างไรก็ดี งบประมาณที่ใช้สำหรับการดำเนินงาน (38 เปอร์เซ็นต์) และการสร้างสรรค์นวัตกรรม (33 เปอร์เซ็นต์) ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก กล่าวตามหลักเหตุผลก็คือ หากองค์กรแก้ไขปัญหาหนี้ทางเทคนิคอย่างจริงจังเสียแต่เนิ่น ๆ ก็จะมีงบประมาณเหลือพอสำหรับนำไปใช้ในส่วนอื่น ๆ ที่จะช่วยสร้างมูลค่าและก่อให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันพนักงานฝ่ายไอทีต้องเสียเวลาไปกับการแก้ไขปัญหาหนี้ทางเทคนิค เช่น การดูแลรักษาและแก้ไขปรับปรุงระบบรุ่นเก่า แทนที่จะทุ่มเทเวลาให้กับการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการขยายธุรกิจให้เติบโต ซึ่งนับเป็นสองภารกิจที่สำคัญมากกว่าท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบของหนี้ทางเทคนิค หรือบางองค์กรอาจดำเนินการแก้ไขบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ หรืออาจละเลยไม่คิดจะแก้ไขอะไร ซึ่งหากทิ้งไว้ ปัญหานี้อาจลุกลามกลายเป็นวงจรอุบาทว์ เปรียบเสมือนดอกเบี้ยจากหนี้บัตรเครดิต ซึ่งหากคุณไม่จ่ายหนี้ตามกำหนดเวลา ดอกเบี้ยก็จะเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ จนคุณจ่ายไม่ไหว หรืออาจจะต้องทยอยจ่ายไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ว่าจะใช้หนี้หมดเมื่อไร ปัญหานี้ยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นท่ามกลางสภาพธุรกิจในปัจจุบันซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากความสามารถที่จำกัดของเครื่องมือและแพลตฟอร์มการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งถ้าหากองค์กรธุรกิจไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของลูกค้า ก็ย่อมจะประสบปัญหาร้ายแรงตามมาอย่างแน่นอน
แต่ที่จริงแล้ว หนี้ทางเทคนิคคืออะไรกันแน่ ผลการศึกษาระดับโลกของเอาท์ซิสเต็มส์ระบุว่า ปัญหาร้ายแรงที่สุดที่องค์กรต่าง ๆ ต้องเผชิญก็คือ การลาออกของพนักงานฝ่ายพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยองค์กรมักจะต้องพบเจอกับสถานการณ์ที่ว่านักพัฒนาที่เพิ่งจ้างเข้ามาใหม่ถูกมอบหมายให้จัดการดูแลแพลตฟอร์มที่เขาไม่ได้เป็นคนสร้าง และเขาก็ไม่ค่อยเข้าใจแพลตฟอร์มนั้นสักเท่าไร และยิ่งไปกว่านั้นยังมีการใช้ภาษาและเฟรมเวิร์กสำหรับการพัฒนาที่แตกต่างหลากหลายมากเกินไป ซึ่งสร้างความลำบากในการอัพเกรดและดูแลรักษาระบบ ถ้าหากเราเปรียบเทียบกับกรณีของบัตรเครดิต ก็เหมือนกับการถือบัตรเครดิตหลายใบจนคุณไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าคุณใช้จ่ายผ่านบัตรแต่ละใบเป็นจำนวนเท่าไร
แล้วองค์กรจะสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ทางเทคนิคในกรณีนี้ คำตอบคือ องค์กรจะต้องปรับใช้กระบวนการพัฒนาที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ทันที ทั้งยังพร้อมรองรับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงในอนาคต แพลตฟอร์มการพัฒนาโมเดิร์นแอปพลิเคชันเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับนักพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพลตฟอร์มที่รองรับการพัฒนาแบบ Visual ที่ใช้โมเดล และประกอบด้วยเทมเพลตสำหรับการพัฒนาที่ถูกต้องเหมาะสม นักพัฒนาไม่ต้องวุ่นวายกับการเขียนโค้ดทีละบรรทัดอีกต่อไป แพลตฟอร์มดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความปลอดภัย ความยืดหยุ่น และความสามารถในการปรับขนาดสำหรับแอปพลิเคชันแบบคลาวด์เนทีฟระดับองค์กร ทำให้นักพัฒนาสามารถใช้เวลาที่เหลือไปกับการแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจและการคิดวิเคราะห์ในระดับที่สูงขึ้น
หลาย ๆ องค์กรไม่รู้ว่าการมองข้ามปัญหาหนี้ทางเทคนิคจะก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมาก จากผลการศึกษาพบว่า กว่าหนึ่งในสามของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า หนี้ทางเทคนิคเป็นปัญหาที่ไม่จำเป็นต้องรีบแก้ไขในตอนนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว หนี้ทางเทคนิคจะค่อย ๆ พอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกับการซื้อของออนไลน์เล็ก ๆ น้อย ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่าจนสะสมเป็นหนี้ก้อนใหญ่ คุณจะไม่สามารถลงทุนเพื่อพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานในปัจจุบันหรือรองรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมในอนาคต เพราะคุณได้ตัดสินใจอย่างฉาบฉวยในการสร้างแอปแบบขอไปทีเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แทนที่จะสร้างโซลูชั่นอย่างถูกต้องเหมาะสมโดยคำนึงถึงการใช้งานในอนาคต เปรียบเสมือนกรณีที่คุณไม่ได้จ่ายหนี้ทางการเงินในวันนี้ ซึ่งจะทำให้คะแนนเครดิตของคุณลดลง และทำให้คุณสูญเสียโอกาสที่จะขอสินเชื่อหรือกู้ยืมเงินสำหรับรายจ่ายที่จำเป็น เช่น สำหรับจ่ายค่าเทอม ซื้อบ้าน หรือทำธุรกิจ
ในการจัดการกับหนี้ทางการเงิน มีหลายช่องทางสำหรับการขอความช่วยเหลือ เช่น ที่ปรึกษาด้านการจัดการหนี้และสินเชื่อ ซึ่งจะช่วยจัดระเบียบทางการเงินและกำหนดแนวทางการชำระหนี้ให้กับคุณ ในทำนองเดียวกัน การเลือกใช้แพลตฟอร์มการพัฒนาโมเดิร์นแอปพลิเคชัน โดยผสานรวมเข้ากับโครงสร้างองค์กรและภารกิจของทีมงานอย่างเหมาะสมจะช่วยให้องค์กรสามารถจ่ายหนี้ทางเทคนิค โดยไม่บั่นทอนประสิทธิภาพการดำเนินงานที่มีอยู่หรือส่งผลกระทบต่อการดำเนินภารกิจสำคัญอื่น ๆ
…………………………………………………………………………………………
เกี่ยวกับเอาท์ซิสเต็มส์
เอาท์ซิสเต็มส์ (OutSystems) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 ด้วยพันธกิจในการเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่องค์กรต่าง ๆ สำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมโดยอาศัยซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน OutSystems ประกอบด้วยเครื่องมือประสิทธิภาพสูงที่เชื่อมต่อกันและขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI ช่วยให้นักพัฒนาสามารถสร้างและติดตั้งใช้งานแอปพลิเคชันที่หลากหลายได้อย่างรวดเร็ว ตอบโจทย์ความต้องการของทุกภาคส่วนภายในองค์กร ด้วย Community member กว่า 435,000 ราย พนักงานมากกว่า 1,500 คน พันธมิตรกว่า 350 ราย และลูกค้าหลายพันรายใน 87 ประเทศใน 22 กลุ่มอุตสาหกรรม ธุรกิจของเอาท์ซิสเต็มส์ครอบคลุมทั่วโลก และช่วยให้องค์กรต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนวิธีการพัฒนาแอปพลิเคชันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เยี่ยมชมเว็บไซต์ของบริษัทฯ ได้ที่ www.outsystems.com หรือติดตามเราบน Twitter @OutSystems หรือ LinkedIn ที่
https://www.linkedin.com/company/outsystems.
Social Links