คปภ. ชู 5 มาตรการ 5 ผลงานเด่นปี 63 เดินหน้าขับเคลื่อนเชิงรุกปี 64
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า นับแต่ปี 2560 สำนักงาน คปภ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมด้านการประกันภัย เพื่อเพิ่มกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลรับฟังสภาพปัญหา ตลอดจน
ระดมข้อคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ มาจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และสื่อมวลชน ได้แก่ สำนักงาน คปภ. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมประชาสัมพันธ์ สมาคมส่งเสริมและคุ้มครองผู้บริโภค สมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน และสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย
ล่าสุด สำนักงาน คปภ. ได้รายงานผลการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านประกันภัยในปี 2563 ต่อที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมด้านการประกันภัย โดยมีผลงานเด่นใน 5 มาตรการ คือ มาตรการที่ 1 การเร่งรัดเยียวยาและช่วยเหลือประชาชน ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ และผู้ได้รับความเสียหายจากสัญญาประกันภัย อาทิ กรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ จำนวน 91 ครั้ง มียอดผู้เสียชีวิต จำนวน 182 ราย มีผู้บาดเจ็บ 763 คน มีทรัพย์สินได้รับความเสียหายหลายรายการ โดยมีค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายให้กับผู้เสียหายหรือทายาทแล้วจำนวน 1,200,827,352 บาท
มาตรการที่ 2 การเพิ่มความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัย โดยปรับปรุงเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ซึ่งมีสาระสำคัญของเงื่อนไขกรมธรรม์ที่ได้ปรับปรุง คือ การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) สำหรับอุบัติเหตุจากรถที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป โดยเพิ่มจำนวนเงินความคุ้มครองสูงสุดกรณีเสียชีวิต จาก 300,000 บาท เป็น 500,000 บาท กรณีทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จำนวน 500,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะ จาก 200,000 – 300,000 บาท เป็น 200,000 – 500,000 บาท รวมทั้งให้มีการชดใช้ความเสียหายกรณีผู้ประสบภัยต้องใช้กะโหลกศีรษะเทียม ให้ถือว่าเป็นการสูญเสียอวัยวะอื่นใดตามกรมธรรม์ คุ้มครองสูงสุดที่ 250,000 บาท ทั้งนี้ ไม่มีการปรับเพิ่มเบี้ยประกันภัยแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีการปรับเพิ่มความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ หมวดความคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย อนามัยของบุคคลภายนอก กรณีบุคคลภายนอกเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง สำหรับกรมธรรม์ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 จากเดิมชดใช้ตามความเสียหายที่แท้จริงที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก เป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัยในหมวดนี้ และต้องมีจำนวนเงินเอาประกันภัยไม่น้อยกว่า 500,000 บาทต่อคน โดยบริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย สำหรับจำนวนเงินเอาประกันภัยตั้งแต่ 500,000 บาทต่อคน ถึง 2,000,000 บาทต่อคน และกรณีที่จำนวนเงินเอาประกันภัยเกินกว่า 2,000,000 บาทต่อคน บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาทต่อคน โดยส่วนเกินจาก 2,000,000 บาทต่อคน บริษัทจะชดใช้ตามความเสียหายที่แท้จริงที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ทั้งนี้ กรณีอุบัติเหตุเกิดจากความประมาทของรถหลายคัน หรือมีการคุ้มครองมากกว่า 1 กรมธรรม์ ให้นำความคุ้มครองสูงสุดเป็นจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่าย (เต็มจำนวน) แต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท สำหรับกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง โดยให้แต่ละบริษัทเฉลี่ยจ่ายตามสัดส่วนที่รับประกันภัยไว้ รวมทั้งมีการปรับปรุงแก้ไขคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ (ฉบับปรับปรุง) เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน ลดข้อพิพาทที่จะเกิดขึ้นระหว่างบริษัทประกันภัยและปัญหาข้อโต้แย้งระหว่างบริษัทประกันภัยกับประชาชนผู้เอาประกันภัย และจัดทำโครงการศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสินไหมทดแทนเกี่ยวกับการซ่อมรถยนต์เพื่อให้ประชาชน ผู้รับประโยชน์ ผู้มีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันภัยได้รับการบริการจากบริษัทประกันภัยที่มีมาตรฐานเดียวกัน
มาตรการที่ 3 ด้านเทคโนโลยีประกันภัยเพื่อเสริมสร้างสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค โดยสำนักงาน คปภ. ได้พัฒนาระบบ “กูรูประกันภัย” เพื่อช่วยให้ประชาชนมีแหล่งสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัย และสามารถเปรียบเทียบข้อมูลของแบบการประกันชีวิต การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล และการประกันภัยอุบัติเหตุการเดินทาง เช่น เงื่อนไขความคุ้มครอง การจ่ายเงินผลประโยชน์ อัตราเบี้ยประกันภัย เงื่อนไขการรับประกันภัยของแต่ละบริษัท เป็นต้น โดยสามารถสืบค้นข้อมูลผ่านเว็บไซต์ สำนักงาน คปภ. (https://guruprakanphai.oic.or.th) ในหัวข้อ “ค้นหาแบบประกันภัย” และหัวข้อ “เปรียบเทียบแบบประกันภัย” โดยเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการประกันภัยแบบ Real-Time ในขณะเดียวกัน สำนักงาน คปภ. ได้พัฒนาระบบ OIC Gateway เพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลาง หรือ ตัวกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างธุรกิจประกันภัย สำนักงาน คปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แบบ Real-Time ในรูปแบบ Application Programming Interface (API) โดยคาดว่าจะเปิดให้ประชาชนใช้บริการได้ภายในปี 2564 นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนา Chat Bot @OICConnect ซึ่งเป็นระบบตอบคำถามเกี่ยวกับการประกันภัยอัตโนมัติ
โดยสามารถเข้าถึงประชาชนคนไทยผู้ใช้งานบนระบบ Application LINE กว่า 44 ล้านคน รวมทั้งมีการเชื่อมโยงระบบให้บริการข้อมูลด้านการประกันภัย สายด่วน คปภ. 1186 กับมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงระบบประกันภัย
มาตรการที่ 4 การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการระงับข้อพิพาทด้านการประกันภัย เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค โดยสำนักงาน คปภ. ได้จัดสัมมนาอนุญาโตตุลาการและผู้ไกล่เกลี่ยของสำนักงาน คปภ. เพื่อให้อนุญาโตตุลาการและผู้ไกล่เกลี่ยของสำนักงาน คปภ. ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ถอดบทเรียนที่เกิดจากการปฏิบัติงานการระงับข้อพิพาทร่วมกัน ปรับปรุงกระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ สำนักงาน คปภ. อันจะทำให้การระงับข้อพิพาทด้านการประกันภัย มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ได้จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานด้านอนุญาโตตุลาการ เพื่อให้อนุญาโตตุลาการ เจ้าของสำนวน รวมทั้งพนักงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นเครื่องมือช่วยปฏิบัติงาน และมีการดำเนินงานที่เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน สร้างความเป็นธรรมและความน่าเชื่อถือแก่ประชาชนและภาคธุรกิจประกันภัย
มาตรการที่ 5 ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อประชาชน รวมทั้งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนเข้าใจสิทธิที่พึงมีในด้านประกันภัย โดยบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายและหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านประกันภัยให้แก่ประชาชนในพื้นที่ระดับอำเภอและตำบลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมทั้งประชาสัมพันธ์การประกันภัยให้เข้าถึงประชาชนทุกรูปแบบ ผ่านโครงการต่าง ๆ มากมาย เช่น โครงการส่งเสริมความรู้ด้านการประกันภัยเชิงรุกสู่สาธารณชนทั่วประเทศ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค “คลินิก สคบ.” โครงการ คปภ. เพื่อคนพิการ โดยร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย กองทุนประกันชีวิต และกองทุนประกันวินาศภัย ลงพื้นที่จัดกิจกรรมรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัยเชิงรุกให้แก่กลุ่มผู้พิการที่ศูนย์ส่งเสริมอาชีพผู้พิการ โครงการรณรงค์จัดกิจกรรมและเสริมสร้างความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมประกันภัย โดยร่วมออกบูธประชาสัมพันธ์ในงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้านการเงิน การลงทุน และการประกันภัย หรือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โครงการอัจฉริยะยุวชนประกันภัย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการประกันภัยให้แก่ ครู อาจารย์ และนักเรียนในโรงเรียน ระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาของภาครัฐและภาคเอกชนและเปิดโอกาสให้เยาวชนนำความรู้ด้านการประกันภัยไปเผยแพร่ให้ผู้ใกล้ชิดและบุคคลอื่น นอกจากนี้ยังมีโครงการอาสาสมัครประกันภัย โครงการ คปภ. เพื่อชุมชน รวมทั้งการจัดทำสื่อความรู้ด้านการประกันภัย เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาค ตลอดจนการออกมาตรการเพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) โดยการส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยจัดทำผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองโรคโควิด-19 โดยเฉพาะ ซึ่งพบว่า ประชาชนให้ความสนใจซื้อกรมธรรม์ประกันภัยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) เป็นจำนวนมาก โดยข้อมูล ณ ปัจจุบันมีจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้จำหน่ายไปแล้ว 9,262,370 ฉบับ เบี้ยประกันภัยโดยประมาณ 4,120,897,515 บาท รวมทั้งได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจฯ ทำหน้าที่ในการกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ติดตามตรวจสอบ ประสานงาน และแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามสัญญาประกันภัย รวมถึงกำหนดมาตรการในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย ให้มีความเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งปัจจุบันประเด็นปัญหาข้อร้องเรียนที่ยื่นมายังสำนักงาน คปภ. ได้รับการแก้ไขเป็นที่เรียบร้อยและมีการยุติข้อพิพาททุกรายแล้ว นอกจากนี้ ได้พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการและรองรับวิถีชีวิตของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่น กรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพเฉพาะโรค การประกันภัยที่รองรับสังคมผู้สูงอายุ Long-Term Care Product และ Remote Treatment การประกันภัยรองรับนโยบายของภาครัฐ เช่น กรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 สำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยตามที่ ศบค. กำหนด หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตามภูมิภาคหรือพื้นที่เฉพาะ เช่น การประกันภัยข้าวนาปี การประกันภัยลำไย การประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟ การประกันภัยประมง เป็นต้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แสดงความชื่นชมว่าการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านประกันภัยของสำนักงาน คปภ. ในปี 2563 มีความชัดเจนและมีผลงานปรากฏเป็นรูปธรรม จึงเห็นควรให้ขับเคลื่อนการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านการประกันภัยในเชิงรุกในปี 2564 ต่อไป รวมทั้งให้มีการติดตามและประเมินผลหลังจากมีการลงพื้นที่แล้วในระดับอำเภอและตำบล นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับมาตรการเชิงรุกในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการประกันภัยให้เข้าถึงประชาชนในทุกรูปแบบผ่านสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรมีการผลักดันให้การประกันภัยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนให้กับเยาวชน ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนรู้จักการออมเงินในรูปแบบของการทำประกันภัย
“สำนักงาน คปภ. จะนำข้อแนะนำต่าง ๆ ของคณะกรรมการฯ มาปรับปรุงแนวทางในการให้ความรู้ด้านประกันภัยแก่ประชาชนและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านประกันภัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในปี 2564 สำนักงาน คปภ. จะยังคงเดินหน้าในทุกมิติเพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย รวมทั้ง การส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการของประชาชนในทุกระดับ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยและได้รับการคุ้มครองด้านการประกันภัยอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
Social Links