คอคอดกระ…นำไทยสู่ยุค “ชาววิไล”
หลายคนอาจไม่เชื่อคำทำนายโบราณ เมื่อราว 300 ปีก่อน ช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย ที่ พระมหาลำไย หรือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ที่เคยทำนายเอาไว้ว่า…อยุธยาจะตกเป็นเมืองขึ้นของข้าศึก บ้านเมืองเสียหายจนยากจะฟื้นคืนสภาพดั่งเดิม แต่ก็เป็นได้ไม่นาน จะมีคนดีมีฝีมือมากอบกู้เอกราช แต่ต้องย้ายเมืองหลวงไปอยู่ในที่แห่งใหม่ ทว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งสำคัญ และต้องย้ายเมืองหลวงกันอีกครั้ง ซึ่งทั้งหมดล้วนตรงตามประวัติศาสตร์ ที่สมเด็จพระเจ้าตากสิน รวบรวมคนไทย ฟื้นฟูเอกราช พร้อมกับตั้งราชธานีแห่งใหม่ คือ กรุงธนบุรี แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน…เกิดการปราบดาภิเษก มีการตั้งราชวงศ์ใหม่ และย้ายเมืองหลวงไปอยู่อีกฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา นั่นเป็นที่ของคำทำนายโบราณ
คำทำนายโบราณที่ว่า…ยังพูดเหตุการณ์รัชกาลต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในยุคสมัยของราชวงศ์ใหม่ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 10 ดังปรากฏคือ… “1.มหากาฬ 2.พาลยักษ์ (ภาณยักษ์) 3.รักมิตร (รักบัณฑิต) 4.สนิทธรรม 5.จำแขนขาด 6.ราษฎร์โจร (ราชโจร) 7.ชนร้องทุกข์ 8.ยุคทมิฬ 9.ถิ่นตาขาว (ถิ่นกาขาว) 10.ชาววิไล” เรื่องนี้…ทีมข่าวเศรษฐกิจ” ไม่ขอลงรายละเอียด เพราะหาอ่านจากอินเตอร์เน็ตได้ไม่ยากนัก แต่จะขอเน้นย้ำตรงที่…เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในยุคสมัยของทั้ง 9 รัชกาลที่ผ่านมา…ล้วนตรงหรือใกล้เคียงกับคำทำนายโบราณของพระมหาลำไยทิ้งสิ้น
เหลือก็แต่รัชกาลปัจจุบัน คือ รัชกาลที่ 10 ที่คำทำนายบอกเอาไว้ “ชาววิไล” (ศิวิไลซ์) ที่หลายฝ่ายถอดความตามมาว่า…จะเป็นยุคที่บ้านเมืองไทยเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด เศรษฐกิจชาติเติบโตเข้มแข็งและมั่งคั่ง ผู้คนร่ำรวย ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะพลังงานใหม่ๆ จะถูกค้นพบในยุคสมัยนี้ จนทำให้เมืองไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจชั้นนำของโลก สิ่งนี้…จะเป็นจริงหรือไม่? คนไทยจำต้องอดทนรอ เพราะหากเป็นคำทำนายเป็นจริง! ทีมข่าวเศรษฐกิจ เชื่อว่า…เราคงได้เห็นปรากฏการณ์นี้ในไม่ช้า
แต่ที่แน่ๆ สิ่งที่น่าจะทำให้อำนาจการต่อรองของไทยมีสูงขึ้นในเวทีโลก ทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ นั่นคือ ความเป็น…ศูนย์กลางการเดินเรือข้ามทวีปของโลก ทุกวันนี้ โลกมี…คลองสุเอช มีคลองปานามา ฯลฯ ที่เชื่อมมหาสมุทรของแต่ละทวีป เหลือก็แต่ด้านเอเชีย ที่หากดูตามแผนที่โลก ก็ไม่พ้นบริเวณคอคอดของแหลมสุวรรณภูมิ ที่คนไทยเรียกกันว่า “คอคอดกระ” เพราะเป็นจุดที่แคบที่สุดของภูมิภาคนี้
ความคิดเรื่องการขุดคลองกระ เกิดขึ้นมายาวนานนับแต่สมัยแผ่นดินสมเด็จพระณารายณ์มหาราช ยุคที่อยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้าของชาติตะวันตกกับชนชาวเอเชีย เรื่อยกันจนถึงยุค “ทหารครองเมือง” ที่บรรดาจอมพลหลายคน เคยคิดจะขุดคลองเชื่อมทะเลอ่าวไทยกับอันดามันเข้าด้วย แต่ติดขัดด้วยสารพันปัญหามากมาย ทั้งเรื่องความหวาดหวั่นการแบ่งแยกดิน ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ความแตกต่างของระดับน้ำทะเล ไปจนถึงหลายชาติในภูมิภาคนี้และมหาอำนาจ พยายาม “กันท่า” ทำให้จนแล้วจนรอดการขุดคอคอดกระก็ไม่เกิดขึ้นเสียที
ล่าสุด ดูเหมือนแผนการเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลจีน นั่นคือ “เส้นทางสายไหมทางทะเล” จะผนวกรวมเรื่องการขุดคลองนี้เข้าไว้ในแผนด้วย พร้อมกับยอมควักเงินลงทุนนำร่องโครงการ ด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หากทางการไทยยอมรับแนวคิดนี้ คลองเชื่อมทะเลอ่าวไทยกับอันดามัน ก็พร้อมจะเปิดช่องให้มหาอำนาจตะวันตก ญี่ปุ่น เกาหลี อาหรับ อินเดีย รวมถึงชาติในอาเซียน ร่วมลงขันเป็นเจ้าของร่วมกัน โอกาสของ “คอคอดกระ” ดูเหมือนจะมีน้ำหนักความเป็นจริงมากขึ้นในยุคนี้
ขณะเดียวกัน ณ เวลานี้ ก็ฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่คัดค้านโครงการนี้ ต่างเริ่มดำเนินการในซีกของตัวเอง แต่ท้ายที่สุดแล้ว เราคนไทยต้องมองข้ามความเห็นต่างที่ว่า…ดีหรือไม่? คุ้มค่าการลงทุนหรือเปล่า? สร้างปัญหากับสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่มากน้อยแค่ไหน? เพราะประเด็นที่ใหญ่และสำคัญกว่ามาก นั่นคือ…เมืองไทยจำเป็นต้องมีโครงการขุดคอคอดกระหรือเปล่า? ถ้าจำเป็น…ทุกอย่างก็ต้องมองข้ามกันไป แน่นอนว่า…โครงการขนาดยักษ์ที่ใช้เวลาและงบลงทุนก่อสร้างจำนวนมหาศาล ย่อมส่งผลกระทบในวงกว้าง แต่ก็อย่างจะคลี่คลายหากพบว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นของเมืองไทยในยุคสมัยนี้
ซึ่งแน่นอนว่า…หากโครงการ “คอคอดกระ” เกิดขึ้นจริง! ไม่เพียงจะทำให้ไทยมีอำนาจการต่อรองที่สูงขึ้น ภาคอุตสาหกรรมการผลิต การบริการ ระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจในเซ็กเมนต์ต่างๆ ย่อมเติบโตตามภาวะของการเดินเรือที่จะมีมากมายมหาศาล เนื่องจากประหยัดทั้งเวลาและเงินในการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวในแต่ละเที่ยว เมื่อเทียบกับเส้นทางเดิมคือ ช่องแคบมะละกา ที่แออัดและมีอุบัติเหตุบ่อยครั้งจากความตื้นเขินของซากเรือขนาดใหญ่ที่อับปางจะพายุและคลื่นทะเลที่เกรี้ยวกราดนั่นเอง
ถึงตรงนี้ “ทีมข่าวเศรษฐกิจ” ก็แอบหวังใจเล็กๆ ว่า…ยุคสมัย “ชาววิไล” ณ ปัจจุบันนั้น เมืองไทยของเราจะก้าวไปสู่ยุคแห่งความศิวิไลซ์อย่างแท้จริง ตรงตามคำทำนายโบราณข้างต้น!.
ทีมข่าวเศรษฐกิจ
สำนักข่าว ThaiBCCnews
Social Links