คาด กนง.ยังคงดอกเบี้ยที่ 0.5%
ท่ามกลางกระแส“โอมิครอน”
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 22 ธ.ค. นี้ กนง. จะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ท่ามกลางความเสี่ยงที่มีมากขึ้นจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ขณะที่อาจปรับประมาณการเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในปีนี้และลดลงในปีหน้า
หลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป เผชิญการกลับมาพุ่งขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างรวดเร็ว ท่ามกลางการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งส่งผลให้หลายประเทศต้องกลับมาประกาศเพิ่มมาตรการจำกัดด้านการเดินทางและการเว้นระยะห่างทางสังคม ทั้งนี้ จากความเสี่ยงที่มีเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในไทยอาจน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักอีกครั้ง
ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ คาดว่ากนง. น่าจะยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ในการประชุมนโยบายการเงินที่จะถึงนี้เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยกนง. คงให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมากกว่าแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่มีมากขึ้น โดยมีมุมมองว่าแม้เงินเฟ้อไทยจะพุ่งสูงขึ้นตามแนวโน้มเงินเฟ้อโลก แต่คาดว่าระดับเงินเฟ้อไทยจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของกนง.
นอกจากนี้ ในการประชุมนโยบายการเงินครั้งนี้จะมีการประกาศประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ซึ่งคาดว่าธปท. อาจมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมที่ 0.7% หลังจาก GDP ไตรมาส 3/2564 ออกมาดีกว่าที่คาดและจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในปีนี้มีมากกว่าที่คาด ในขณะเดียวกันอาจปรับประมาณการเศรษฐกิจในปีหน้าลดลงจากประมาณการเดิมที่ 3.9% ท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น โดยธปท. คงคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในระดับหนึ่ง สำหรับในด้านของเงินเฟ้อ คาดว่าธปท. อาจปรับประมาณการเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นทั้งในปีนี้และปีหน้า หลังจากเงินเฟ้อโลกมีแนวโน้มที่จะยังอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกสักระยะหนึ่งท่ามกลางปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน
อย่างไรก็ดี กนง. มีแนวโน้มที่จะเผชิญแรงกดดันมากขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า หากเฟดทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่เคยส่งสัญญาณไว้ ซึ่งอาจส่งให้ค่าเงินบาทเผชิญแรงกดดันให้อ่อนค่าลงกว่าเดิมได้ อีกทั้งยังตามยังคงต้องติดตามผลกระทบของโอมิครอนต่อการท่องเที่ยวและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันทิศทางค่าเงินบาทในระยะข้างหน้าได้
ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกเริ่มส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวและปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ซึ่งจากผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 14-15 ธ.ค. ที่ผ่านมา ตลาดได้รับรู้แผนการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปีหน้าไปแล้ว อย่างไรก็ดี หากเฟดยังคงเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้ออย่างมากและมีความจำเป็นต้องพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ได้ส่งสัญญาณไว้ อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดเงินทุนไหลออกจากประเทศไทย และส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงกว่าเดิมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า เนื่องจากเฟดคงจะส่งสัญญาณล่วงหน้าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประชุมเฟดในเดือนมี.ค. 2565 ก่อนที่วงเงิน QE จะสิ้นสุดลง
นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามแนวโน้มภาคการท่องเที่ยวและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ท่ามกลางความเสี่ยงจากโอมิครอนที่มีมากขึ้น หากการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ดุลบัญชีเดินสะพัดที่กระเตื้องขึ้นอาจจะหนุนเงินบาทให้กลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ในทางตรงข้าม หากสถานการณ์ภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ขณะที่หากเฟดมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่เคยส่งสัญญาณไว้จนก่อให้เกิดเงินทุนไหลออกจากไทย กนง. คงเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินมากขึ้น จากดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะอ่อนแอกว่าที่คาด และอาจเป็นแรงกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงกว่าเดิมได้
ทำให้กนง.ต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางเลือกที่จะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประเด็นการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านการเงินผ่านอัตราแลกเปลี่ยน โดยหากกนง. พิจารณาคงดอกเบี้ยในระดับต่ำ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจะยิ่งไปเร่งให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นผ่านทางต้นทุนสินค้านำเข้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ในทางตรงกันข้าม หากกนง. พิจารณาปรับดอกเบี้ยขึ้นเพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนและเงินเฟ้อในระดับที่เหมาะสม แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยก็จะยิ่งไปกดดันอุปสงค์และการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้
Social Links