เงินบาทผันผวน กลับมาลดบวกและอ่อนค่าในปลายสัปดาห์
ดัชนีหุ้นไทยปรับลงเป็นสัปดาห์ที่ 3
จับตาคำแถลงจากเฟดและการเมืองในประเทศ
……………………………………
- เงินบาทแกว่งตัวเป็นกรอบ โดยมีแรงหนุนในช่วงแรกหลังการเปิดประชุมสภาฯ ผ่านไปด้วยความเรียบร้อยและมีแรงซื้อต่างชาติเข้ามาในตลาดพันธบัตร ก่อนจะลดช่วงบวกลงในช่วงต่อมา หลังเงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวจากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
- SET Index ร่วงลงหลุดแนว 1,500 จุด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ประกอบกับตลาดยังรอติดตามสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ
……………………………
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน โดยขยับแข็งค่าในช่วงแรก ก่อนลดช่วงบวกลงบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ เงินบาทแข็งค่าผ่านแนว 35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงแรก โดยมีแรงหนุนหลังการเปิดประชุมสภาฯ ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ ยังเผชิญแรงกดดันต่อเนื่องจากข้อมูลดัชนีราคา PCE และ Core PCE ของสหรัฐฯ ล่าสุดในเดือนพ.ค. ที่ชะลอตัวลง นอกจากนี้เงินบาทยังมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากแรงซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงบวกและอ่อนค่ากลับมาในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ขณะที่ตลาดยังคงรอติดตามความคืบหน้าในประเด็นอื่นๆ ของการเมืองไทย ส่วนเงินดอลลาร์ฯ ทยอยฟื้นตัวขึ้น หลังบันทึกการประชุมเฟดและข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ที่ออกมาดีกว่าที่คาดหนุนโอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในการประชุม FOMC เดือนก.ค. นี้
ในวันศุกร์ที่ 7 ก.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.24 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.46 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (30 มิ.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 3-7 ก.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 8,010 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 10,043 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 15,432 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 5,389 ล้านบาท)
สัปดาห์นี้(10-14 ก.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.80-35.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์การเมืองในประเทศ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิ.ย. รายงาน Beige Book ของเฟด ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองผู้บริโภคเดือนก.ค. (เบื้องต้น) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจจีนในเดือนมิ.ย. อาทิ ยอดปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวน ดัชนีราคาผู้บริโภคและ ดัชนีราคาผู้ผลิต ด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงหลุดแนว 1,500 จุด หลังจากที่ขยับขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงซื้อจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันตอบรับความคืบหน้าทางการเมืองในประเด็นการโหวตประธานสภาฯ อย่างไรก็ดีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงในเวลาต่อมาตามทิศทางหุ้นต่างประเทศท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังรายงานการประชุมเฟดสะท้อนว่าเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่สนับสนุนการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า รวมถึงตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ ออกมาแข็งแกร่ง ประกอบกับนักลงทุนมีความระมัดระวังระหว่างรอติดตามประเด็นความคืบหน้าทางการเมืองในสัปดาห์หน้า โดยนักลงทุนต่างชาติอยู่ในฝั่งขายสุทธิหุ้นไทยทุกวันทำการตลอดสัปดาห์นี้
ในวันศุกร์ที่ 7 ก.ค. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,490.51 จุด ลดลง 0.84% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 39,313.94 ล้านบาท ลดลง 15.81% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.37% มาปิดที่ระดับ 458.09 จุด
สำหรับสัปดาห์นี้(10-14 ก.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,475 และ 1,460 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,520 และ 1,545 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิ.ย. รายงาน Beige Book ของเฟด รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น และข้อมูล
Social Links