ไมโครอินชัวรันส์บูม !
คุ้มครองคนจน เบี้ยสะพัดกว่า 2,000 ล้านบาท
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่าปี 2560 นับเป็นปีที่สำนักงาน คปภ. ครบรอบ 10 ปี ในการทำหน้าที่กำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย ตลอดจนการคุ้มครองผู้บริโภคด้านประกันภัยให้ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งมีการทำงานในเชิงรุก และบูรณาการอย่างมุ่งมั่น เต็มความรู้ ความสามารถ เพื่อให้สำนักงาน คปภ. เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยให้สามารถเป็นที่พึ่งที่ยั่งยืนให้แก่ประชาชนทุกระดับในวงกว้าง โดยหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักก็คือประชาชนในระดับฐานรากที่มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงระบบประกันภัย
ในขณะเดียวกันสำนักงาน คปภ. มีนโยบายมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในกลุ่มนี้ ผ่านการขับเคลื่อนองค์กรสู่ประชาชนให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้สามารถใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในชีวิต และทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) อย่างต่อเนื่อง อาทิ กรมธรรม์ประกันภัย 200 กรมธรรม์ประกันภัยประกันภัย 100 และกรมธรรม์ประกันภัย 222 ซึ่งจำหน่ายเฉพาะในช่วงเทศกาล รวมถึงกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุเพื่อคนพิการ พร้อมออกประกาศ/คำสั่งที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผลักดันให้บริษัทประกันภัยพัฒนาและเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรายย่อยขึ้นเองเพื่อความหลากหลายและประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
ทั้งนี้ จากข้อมูลการรับประกันภัยกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ในปี 2560 พบว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรายย่อยที่มีผลบังคับทั้งสิ้น 4,079,144 ฉบับ คิดเป็นเบี้ยประกันภัยรับรวม 2,189,873,638.24 บาท และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนไปทั้งสิ้น 1,789,333,895.28 บาท โดยมีอัตราส่วนค่าสินไหมทดแทนต่อเบี้ยประกันภัยรับรวม หรือ Loss Ratio เท่ากับร้อยละ 81.71 โดยหากพิจารณาในแต่ละประเภทของกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรายย่อยจะสามารถแบ่งเป็นกรมธรรม์ประกันภัย 200 จำนวน 65,517 ฉบับ มีเบี้ยประกันภัย 13,103,400 บาท และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน 6,150,000 บาท กรมธรรม์ประกันภัย 100 จำนวน 63,069 ฉบับ มีเบี้ยประกันภัย 6,306,900 บาท และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน 2,940,000 บาท กรมธรรม์ประกันภัย 222 จำนวน 14,006 ฉบับ มีเบี้ยประกันภัย 3,109,332 บาท และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน 229,226.80 บาท กรมธรรม์ประกันภัยรายย่อยอื่นๆ ของบริษัทประกันชีวิต จำนวน 35,423 ฉบับ มีเบี้ยประกันภัย 40,918,776.67 บาท และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน 26,656,118.06 บาท กรมธรรม์ประกันภัยรายย่อยอื่นๆ ของบริษัทประกันวินาศภัย จำนวน 453,535 ฉบับ มีเบี้ยประกันภัย 138,072,317.57 บาท และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน 66,567,315.19 บาท และประกันภัยข้าวนาปี จำนวน 3,447,594 ฉบับ มีเบี้ยประกันภัย 1,988,362,912 บาท และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน 1,686,791,235 บาท
“จากสถิติการรับประกันภัยสำหรับรายย่อยใน 3 ปีหลังสุดตั้งแต่ปี 2557-2560 จะเห็นได้ว่าจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรายย่อยในภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มีการจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรายย่อยเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 2.52 สำหรับในปี 2561 สำนักงาน คปภ. ยังคงมีแผนที่จะต่อยอดความสำเร็จของกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรายย่อย ผ่านทั้งการพัฒนาตลาดด้านผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับรายย่อยเพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้เอาประกันภัยให้ได้รับความคุ้มครองที่ตรงความต้องการด้วยเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของผู้เอาประกันภัยแต่ละราย และยังคงจะมีการขับเคลื่อนองค์กรสู่ประชาชน ผ่านโครงการ คปภ. เพื่อชุมชนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนในชุมชนต่างๆ ของประเทศมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยและสิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย รวมถึงมีการต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาสที่มีความเหมาะสมกับชุมชนต่างๆ ต่อไป” เลขาธิการกล่าวในตอนท้าย
Social Links