จับตา!ตลาดโซลูชั่นโรงงานอัจฉริยะไทย
เร่งโตทะลุ 10% ท่ามกลางเศรษฐกิจทยอยฟื้น
……………………………………………………………………..
• ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลาดบริการโซลูชั่นโรงงานอัจฉริยะไทย (SFS) มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นในปี 2564 ราวร้อยละ 10.3 โดยได้รับแรงหนุนหลักด้านอุปสงค์จากความพยายามที่จะลดการพึ่งพาแรงงานของผู้ผลิตรายใหญ่ และกระแสการลงทุนของผู้ประกอบการจีนในอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าไทย ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤตโควิด รูปแบบการลงทุนในโรงงานอัจฉริยะเริ่มขยับจากเดิมที่เน้นเพียงการเพิ่มผลิตภาพ สู่การขยายครอบคลุมความต้องการที่จะเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่สายการผลิต เพื่อช่วยให้สามารถวางแผนการผลิตทดแทนระหว่างโรงงาน และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
• สำหรับปี 2565 ตลาด SFS ไทยน่าจะมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงสู่ระดับร้อยละ 9.4 เนื่องจากกระแสปรับปรุงสายการผลิตเพื่อเลี่ยงผลกระทบโควิดน่าจะมีแนวโน้มอ่อนลง จากการแพร่ระบาดที่น่าจะเริ่มผ่อนคลาย อย่างไรก็ดี กระแสการลงทุนจากต่างชาติโดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น น่าจะยังคงเป็นปัจจัยหนุนสำคัญต่อการเติบโตของตลาด SFS ไทยในปีหน้า
………………………………………………………………………….
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ธุรกิจบริการโซลูชั่นโรงงานอัจฉริยะไทย (Smart Factory Solutions: SFS) มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นจากเดิมก่อนช่วงโควิดที่มีแนวโน้มเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับแรงหนุนหลักจากกระแสอุปสงค์ของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ต้องการปรับตัวเพื่อลดการพึ่งพาแรงงาน และกระแสการรุกลงทุนของผู้ประกอบการจีนในอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าไทย
นอกจากนี้ ยังได้รับแรงเสริมจากการเปลี่ยนแปลงด้านอุปทานในช่วงปีที่ผ่านมาที่เกิดกระแสการจับมือเป็นพันธมิตรระหว่างผู้ประกอบการ SFS รายใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นและจีน กับผู้ประกอบการเทเลคอมไทย ทำให้เกิดระบบนิเวศการให้บริการ SFS แบบครบวงจรขึ้นในไทย
ทั้งนี้ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตไทยได้เริ่มขยายมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนโรงงานอัจฉริยะจากเดิมที่มักจำกัดอยู่เพียงการนำหุ่นยนต์และระบบลำเลียงอัตโนมัติมาใช้งานเพื่อเพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุนด้านแรงงาน ไปสู่การลงทุนเพื่อบริหารจัดการสายการผลิตแบบบูรณาการผ่านเทคโนโลยีต่างๆ เช่น IoT และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นต้น
โดยนอกเหนือจากเพื่อทำให้การผลิตสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องและลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาแรงงานภายใต้วิกฤตโควิด-19 แล้ว ยังมีเป้าประสงค์ที่จะสร้างสายการผลิตที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อให้สามารถผลิตสินค้าที่หลากหลายได้ในสายการผลิตเดียวกัน ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันแล้ว ยังช่วยให้สามารถวางแผนการผลิตทดแทนกันระหว่างโรงงานในกรณีวิกฤตได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
-ในช่วงก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลาด SFS ไทย มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปเฉลี่ยราวร้อยละ 2.8 ต่อปี ตามความต้องการเพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุนด้านแรงงานของผู้ประกอบการรายใหญ่ในบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เน้นการส่งออกและต้องการการประหยัดเชิงขนาดในการผลิต เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยการลงทุนมักเน้นการนำหุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่น รวมไปถึงระบบลำเลียงอัตโนมัติเข้ามาเพิ่มผลิตภาพการผลิต สะท้อนจากมูลค่าของกลุ่มผลิตภัณฑ์โซลูชั่นทั้งสองดังกล่าวที่เติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงในระดับร้อยละ 5.7 และ 6.8 ตามลำดับ ในขณะที่โซลูชั่นที่เกี่ยวเนื่องกับการบริหารจัดการสายการผลิตเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น ทั้งการรวบรวมข้อมูลสถานะระหว่างการผลิตผ่านเซ็นเซอร์ เช่น เซ็นเซอร์ตรวจจับลักษณะชิ้นงานเพื่อกำหนดรูปแบบการผลิต เป็นต้น รวมไปถึงระบบ ICT ที่ใช้จัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อควบคุมสายการผลิต มีมูลค่าเติบโตเฉลี่ยต่อปีเพียงร้อยละ 1.5 และ 1.2 ตามลำดับ
-ในช่วงเริ่มเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ตลาด SFS ไทยสะดุดหดตัวลงราวร้อยละ 7.5 จากเศรษฐกิจทั่วโลกที่เข้าสู่ภาวะซบเซา และสร้างความไม่แน่นอนให้กับการลงทุนในหลายอุตสาหกรรม มีเพียงบางอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการใช้หุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่นเป็นหลักในการผลิต ที่ยังคงขยายการผลิตเพื่อรองรับอุปสงค์สินค้าดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะหนุนภาพรวมการเติบโตของตลาด SFS ไทยในปีที่ผ่านมา
-อย่างไรก็ดี เมื่อย่างเข้าสู่ปี 2564 ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เริ่มทยอยฟื้นตัว ตลาด SFS ไทยมีแนวโน้มกลับมาเร่งขยายตัวได้อีกครั้งที่อัตราร้อยละ 10.3 โดยเป็นการเติบโตเร่งขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะกลุ่มเพิ่มความยืดหยุ่นในการผลิต ซึ่งมีการเติบโตของโซลูชั่นเซ็นเซอร์ และระบบ ICT ราวร้อยละ 15.9 และ 6.4 ตามลำดับ เร่งตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนช่วงโควิดที่อยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 2.0 สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการลงทุนโรงงานอัจฉริยะที่เริ่มขยับครอบคลุมความต้องการที่จะเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่สายพานการผลิตเพื่อให้สามารถผลิตสินค้าที่หลากหลายได้ เช่น แต่เดิมการผลิตเครื่องปรับอากาศต่างโมเดลกันอาจต้องแยกสายพานการผลิต แต่หากใช้ระบบอัจฉริยะก็สามารถผลิตร่วมบนสายพานการผลิตเดียวกัน ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการวางแผนการผลิตมากขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้ การเร่งขยายตัวของตลาด SFS ไทยโดยรวมและในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ได้รับแรงหนุนจากหลากหลายปัจจัยนอกจากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า โดยมีรายละเอียดดังนี้
กระแสลดการพึ่งพาแรงงานท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 หลายระลอก ซึ่งมีส่วนก่อให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน และการหยุดชะงักของสายการผลิตจากการติดเชื้อโควิด ส่งผลให้ผู้ผลิตรายใหญ่บางรายในอุตสาหกรรมที่เน้นส่งออกซึ่งกำลังเติบโตได้ดีในปีนี้ อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หันมาปรับปรุงสายการผลิตโดยนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาทดแทนแรงงาน รวมทั้งปรับสายการผลิตให้มีความยืดหยุ่นเพื่อสามารถวางแผนการผลิตทดแทนกันระหว่างโรงงานในกรณีที่เกิดเหตุสุดวิสัยได้ สะท้อนจากมูลค่าขอส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอในมาตรการเปลี่ยนเครื่องจักรเป็นระบบอัตโนมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในพื้นที่ EEC ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ที่ขยายตัวกว่า 1.3 เท่าเมื่อเทียบกับก่อนโควิด ณ ปี 2562 ทั้งปี อย่างไรก็ดี การลงทุนดังกล่าวต้องใช้เงินลงทุนสูงและยังต้องใช้ระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนเพื่อไม่ให้กระทบกับกำลังการผลิตโดยรวม ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงเลือกใช้มาตรการลดการแพร่ระบาดในหมู่แรงงาน โดยเข้าร่วมโครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงานของภาครัฐ (Factory Sandbox) ในการตรวจคัดกรองเชิงรุกและฉีดวัคซีนให้กับแรงงาน รวมไปถึงการใช้มาตรการ Bubble & Seal เพื่อให้สายการผลิตยังคงดำเนินต่อได้
กระแสการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตไทยของผู้ประกอบการจีนรายใหญ่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เริ่มทยอยขึ้นสายการผลิตในไทยเพื่อให้เป็นฐานส่งออกเพิ่มเติมจากจีนในการรุกตลาดโลกและลดความเสี่ยงจากสงครามการค้า ทั้งนี้ การลงทุนของผู้ผลิตจีนรายใหญ่ในไทยมักเป็นการนำระบบโรงงานอัจฉริยะเข้ามาติดตั้งตลอดสายการผลิตตั้งแต่เริ่มต้น โดยมีเป้าหมายนอกจากการลดต้นทุนการผลิตจากการประหยัดเชิงขนาดแล้ว ยังเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารสายการผลิตให้สามารถตอบสนองความต้องการที่ต่างกันในแต่ละตลาดได้ เช่น สายการผลิตที่ผลิตเครื่องปรับอากาศได้ทั้งแบบอัจฉริยะสำหรับตลาดประเทศพัฒนา และแบบอินเวอร์เตอร์รุ่นธรรมดาเพื่อจับตลาดเกิดใหม่ เป็นต้น
กระแสร่วมเป็นพันธมิตรระหว่างผู้ประกอบการ SFS รายใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นและจีนที่ทยอยเข้ามาแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในตลาด SFS ไทย กับผู้ประกอบการเทเลคอมไทยซึ่งเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โดยเฉพาะโครงข่าย 5G ที่มีการลงทุนจนครอบคลุมทั่วพื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญอย่าง EEC ทำให้เกิดความพร้อมในการรองรับเทคโนโลยีการผลิตแบบ IoT หรือสายการผลิตที่มีความยืดหยุ่นซึ่งต้องการการสื่อสารแบบเรียลไทม์ในโรงงานอัจฉริยะได้ โดยความร่วมมือดังกล่าวนอกจากจะก่อให้เกิดระบบนิเวศการให้บริการแบบครบวงจรแล้ว ยังสามารถอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการ SFS ต่างชาติรายใหญ่กับบริษัทแม่ของผู้ผลิตที่เข้ามาตั้งโรงงานในไทยในการขยายฐานตลาด SFS ได้ ซึ่งประเด็นความพร้อมด้านอุปทานดังกล่าว ก็มีส่วนเสริมปัจจัยด้านอุปสงค์ให้ตลาด SFS ไทยเร่งขยายตัวขึ้น
สำหรับแนวโน้มในปี 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ตลาด SFS ไทยน่าจะยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่ชะลอตัวลงสู่ระดับร้อยละ 9.4 เนื่องจากต้องเทียบกับฐานที่เร่งขึ้นสูงในปีก่อนหน้า ในขณะที่กระแสปรับปรุงสายการผลิตโดยใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อเลี่ยงผลกระทบโควิดน่าจะมีแนวโน้มอ่อนลง จากการแพร่ระบาดที่น่าจะเริ่มผ่อนคลายแม้ว่าอาจจะยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงจากการระบาดของโควิดกลายพันธุ์เป็นบางระยะ อย่างไรก็ดี กระแสการลงทุนจากต่างชาติโดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมหลักของไทยที่มีการใช้ระบบโรงงานอัจฉริยะ อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ น่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องตามทิศทางการลงทุนและแข่งขันท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีสู่ยานยนต์ไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ/IoT ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญต่อการเติบโตของตลาด SFS ไทยในระยะข้างหน้า
ปัจจุบัน ธุรกิจบริการ SFS ไทยยังคงมีข้อจำกัดที่ต้องพึ่งพากลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่เป็นหลัก เนื่องจากการลงทุนระบบโรงงานอัจฉริยะต้องการเงินลงทุนก้อนใหญ่และควรจะมีปริมาณการผลิตสินค้าที่สูงเพื่อให้เกิดการประหยัดเชิงขนาด ทำให้ผู้ผลิต SMEs อาจจะยังไม่พร้อมที่จะลงทุนในระบบดังกล่าว
ฉะนั้น เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจในอนาคต ผู้ประกอบการ SFS ไทยอาจควรจะพิจารณานำโมเดลธุรกิจบริการเช่าใช้ระบบหุ่นยนต์เพื่อการผลิต (Robot as a Service: RaaS) ซึ่งกำลังเริ่มเป็นที่นิยมในต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ในเมืองไทย โดยโมเดลธุรกิจดังกล่าวจะเปิดให้ผู้ประกอบการเช่าใช้หุ่นยนต์รวมไปถึงระบบคลาวด์ที่ใช้ควบคุมการผลิต ในขณะที่ค่าใช้จ่ายจะถูกคิดตามระยะเวลาหรือปริมาณการผลิตที่เกิดขึ้นจริง ทำให้ลดข้อจำกัดทั้งด้านเงินลงทุนและปริมาณการผลิตของผู้ประกอบการ SMEs
ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวน่าจะช่วยหนุนให้ตลาดบริการ SFS ไทยสามารถขยายตัวได้เพิ่มมากขึ้น และมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้กับกลุ่มผู้ผลิต SMEs ไทยจากการสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีโรงงานอัจฉริยะได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี การนำระบบ SFS มาใช้งานก็ยังคงต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละกิจการด้วย ซึ่งผู้ประกอบการคงต้องชั่งน้ำหนักหลายปัจจัยโดยเฉพาะประเด็นความคุ้มค่า และระยะเวลาคืนทุน เพื่อเลือกจังหวะและระดับการใช้งานที่เหมาะสมสำหรับกิจการของตน
Social Links