แนะให้ EEC ใช้“น้ำบาดาล”แทน“น้ำท่า”
ไม่สิ้นเปลืองงบฯ แถมเป็นทรัพยากรที่มีเหลือเฟือ
ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในวาระรับทราบรายงานประจำปี 2563 ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยได้ให้ข้อสังเกตกับ กมธ. โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องน้ำ เนื่องจากเห็นว่าสิ่งที่ กมธ. ได้เสนอนั้นยังแคบเกินไป เพราะมองเฉพาะน้ำผิวดิน และสรุปว่าจะต้องมีการผันน้ำ ต้องมีการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนส่งน้ำจากที่ไกลๆ มาสู่พื้นที่ในเขต EEC ที่ต้องการใช้น้ำ
ในหลักคิดดังกล่าวยังเป็นหลักคิดของระบบราชการที่เกี่ยวกับเรื่องน้ำอยู่ ก็คือมองเฉพาะมิติเพียงเรื่องน้ำผิวดิน แต่ความจริงแล้ว ตนได้เคยอภิปรายมาหลายครั้งว่าประเทศไทยมีความโชคดีที่ธรรมชาติให้ไว้ นอกจากเรื่องแสงอาทิตย์แล้ว ยังมีเรื่องฝน ประเทศไทยได้รับน้ำฝนแต่ละปีเกือบ 2,000 มม.ต่อปี เพื่อจ่ายไปทั่วประเทศ 60% ของน้ำเหล่านี้ระเหยไปในอากาศ ที่เหลืออยู่บนพื้นดินกลายเป็นน้ำท่า และน้ำบาดาล แต่ในส่วนที่ กมธ. พูดถึงนี้เป็นเพียงเฉพาะน้ำท่า และเป็นเพียงส่วนน้อยของน้ำที่เราได้รับ
เพราะน้ำจำนวนมหาศาลได้แทรกซึมเข้าไปในแผ่นดิน อยู่ในระดับชั้นต่างๆ กลายเป็นน้ำบาดาล และเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ระบบงบประมาณแผ่นดินของเราในเรื่องการลงทุนมัวแต่คิดถึงโครงการขนาดใหญ่ การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ หรือก่อสร้างเขื่อน แต่มองข้ามงานของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ที่ขุดเจาะน้ำบาดาลทั่วประเทศ แต่ละปีได้งบประมาณเพียง 2,000 – 3,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงบน้ำในแต่ละปีที่มีสูงถึงแสนล้าน และเรื่องที่ กมธ. รายงานก็สะท้อนเรื่องนี้ว่ามองเฉพาะน้ำผิวดิน ว่ามีไม่เพียงพอ จึงต้องนำเงินงบประมาณที่มีอยู่จำกัด และเข้าสู่ภาวะวิกฤติ แต่ยังนำงบประมาณไปใช้ก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ
ดร.พิสิฐ ได้แสดงให้เห็นว่าในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC นั้นมีแหล่งน้ำอยู่หลายแหล่ง โดยมีแหล่งน้ำที่สำคัญอยู่ที่บางน้ำเปรี้ยว มีน้ำบาดาลถึง 3,000 ล้าน ลบ.เมตร นอกจากนี้ยังมีที่พนัสนิคม และระยอง น้ำ 4 แห่งนี้รวมกันมีปริมาณมากกว่า 5พันล้าน ลบ.เมตร สามารถตอบโจทย์ความต้องการน้ำๅในเขต EEC ได้เป็นอย่างดี เพราะในพื้นที่ภาคตะวันออกต้องการใช้น้ำปีละประมาณ 9,000 กว่าล้าน ลบ.เมตร เท่านั้น แต่มีการใช้น้ำบาดาลเพียง 1 ใน 4 ที่เหลือใช้น้ำท่า และการใช้น้ำท่านี้ก็ถือว่าเป็นน้ำที่สกปรกกว่าเพราะไม่ได้ถูกกรองโดยธรรมชาติ จึงต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกรอง และใช้สารเคมีมากมาย ขณะที่เรามีปริมาณน้ำบาดาลที่ฝังอยู่ในเขตตะวันออก ทั้งฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี รวมกันกว่า 53 ล้าน ลบ.เมตร แต่เรากลับไม่คิดเรื่องนี้ คิดแต่ขนน้ำจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งที่อยู่ห่างไกล
แม้การขุดเจาะน้ำบาดาลจะมีต้นทุนและค่าใช้จ่าย แต่ทุกวันนี้เรามีพลังงานแสงอาทิตย์มาช่วยในการขุดเจาะน้ำบาดาลมีต้นทุนต่ำลงมาก และการใช้น้ำบาดาลก็ไม่จำเป็นต้องมีการก่อสร้างขนาดใหญ่ แต่จะเป็นใช้เม็ดเงินที่สามารถกระจายไปตามหมู่บ้านต่างๆ และโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อให้สามารถมีน้ำสะอาดใช้เป็นน้ำประปาได้
“ขนาดอีสาน เมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรน้ำบาดาลประกาศว่าสามารถเจาะน้ำบาดาลในระดับความลึกกว่า 1 กม. ขึ้นมาได้ แน่นอนว่าต้องผ่านชั้นต่างๆ หลายชั้น ผมจึงขอใช้โอกาสนี้ผ่านไปยัง กมธ. ได้ช่วยปรับปรุงข้อคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะสักเล็กน้อย อย่ามองแต่เรื่องน้ำท่า มองเรื่องน้ำบาดาลด้วย เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ประเทศไทยได้มาอย่างเหลือเฟือ แต่เรากลับใช้เงินงบประมาณแผ่นดินไปในสิ่งปลูกสร้างต่างๆ และละเลยน้ำบาดาล” ดร.พิสิฐ กล่าวในที่สุด
Social Links