อ่านได้ที่นี่! ปาฐกถาพิเศษ ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ
The Future of Thai Economy and Finance
“อนาคตของเศรษฐกิจและการเงินไทย”
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ผมขอขอบคุณ The Standard ที่ให้เกียรติผมมานำเสนอมุมมองในเรื่อง “The Future of Thai Economy and Finance” หรือ “อนาคตของเศรษฐกิจและการเงินไทย” ซึ่งผมจะตอบสั้น ๆ ว่า อนาคตของเศรษฐกิจและการเงินไทยต้อง inclusive กว่าเดิม ต้องโตแบบทั่วถึง และต้องไม่ใช่แค่โตไปด้วยคนแค่บางกลุ่มแล้วหวังว่าการเติบโตจะกระจายไปยังกลุ่มที่เหลือ แต่ตอนนี้ ด้วยปัญหาโครงสร้างที่สะสมมานาน ทำให้การเติบโตแบบทั่วถึงจำเป็นสำหรับเศรษฐกิจไทยมากขึ้น เพราะถ้าไม่ทั่วถึง ความเหลื่อมล้ำมีสูง เศรษฐกิจจะเปราะบาง เราจะไม่มี Growth ให้ไปแชร์ในวงกว้าง และจะไม่สามารถโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน
วันนี้ผมจึงอยากชวนท่านผู้มีเกียรติให้ลองคิดว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้าเรายังเน้นไปที่การเติบโตอย่างเดียว แต่ไม่ทั่วถึง เราจะยังสามารถโตได้ดีจริงหรือ
ผมจะขอแบ่งมุมมองในเรื่องนี้ออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับ inclusion ผ่านการมองกลับไปดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่วนที่สอง ในระยะข้างหน้า เรามีทางเลือกอะไรบ้าง ต้องเจอความท้าทายหรือมีโอกาสอะไร ที่จะทำให้เศรษฐกิจและการเงินเติบโตได้อย่างทั่วถึง และส่วนที่สาม โจทย์สำคัญของนโยบายประเทศที่ต้องคิด เพื่อปรับตัวสู่การเติบโตอย่างทั่วถึงมีอะไรบ้าง
ในส่วนแรก เพื่อให้เห็นภาพปัญหาที่ชัด ก่อนที่จะเห็นทางออก ผมขอพูดถึง 3 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความไม่ทั่วถึงก่อนข้อเท็จจริงที่ 1: ตระกูลรวยที่สุด 50 อันดับแรกตามการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes มีทรัพย์สินเท่ากับประชากร 13 ล้านครัวเรือน สะท้อนให้เห็น “ช่องว่าง” ระหว่างคนจนและคนรวย ที่เกิดจากการเติบโตของรายได้ และความมั่งคั่งเฉพาะในบางกลุ่มมาเป็นเวลานาน
ข้อเท็จจริงที่ 2: 50% ของกำไรภาคธุรกิจทั้งประเทศ กระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่เพียง 600 รายใน ตลาดหลักทรัพย์ สะท้อนความได้เปรียบของบริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ที่ปัจจุบัน SMEs ในไทยกว่า 60% ยังไม่ใช้บริการสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน SMEs จึงมีโอกาสน้อยที่จะไล่ตามบริษัทขนาดใหญ่
ข้อเท็จจริงที่ 3: เกือบ 2 ใน 3 ของผลผลิตของเศรษฐกิจโดยรวม กระจุกตัวอยู่เพียง 11 จังหวัด ได้แก่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดที่ผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรม เช่น ชลบุรี ระยอง และจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต แสดงให้เห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กระจุกตัวอยู่เพียงบางพื้นที่
……………………
“ปัจจุบัน SMEs ในไทยกว่า 60% ยังไม่ใช้บริการสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน
SMEs จึงมีโอกาสน้อยที่จะไล่ตามบริษัทขนาดใหญ่”
…………………….
จากข้อเท็จจริงเหล่านี้ เราคงจะโตไปแบบเดิม ๆ ที่หวังพึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากเพียงบางกลุ่มคน บางกลุ่มธุรกิจ และบางพื้นที่ แบบไม่ทั่วถึงไม่ได้แล้ว เห็นได้จาก 40 ปีที่ผ่านมา ในทศวรรษ 1980 เราเคยโตได้ถึง 10% แต่ในทศวรรษนี้ เราโตเหลือไม่ถึง 4% และจะต่ำกว่านี้อีกในอนาคตถ้าไม่มีการปรับตัว
ทั้งนี้ การเติบโตที่ไม่ทั่วถึงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือน ล่าสุดเร่งตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ 90% ของ GDP โดย 1 ใน 3 ของคนไทยมีหนี้ และยอดหนี้ต่อหัวเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า เทียบกับ 10 ปีที่แล้ว หนี้ครัวเรือนที่สูงนี้เป็นปัจจัยฉุดรั้งการบริโภคของประชาชน หากรายได้ไม่โต ทางเดียว คือ ต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อนำไปใช้จ่าย แต่ด้วยภาระหนี้ที่สูงอยู่เดิม ยิ่งทำให้ก่อหนี้เพิ่มได้ยาก แล้วเศรษฐกิจไทยจะโตต่อไปด้วยความลำบาก
และถ้าถามว่า อนาคตเศรษฐกิจการเงินจะ inclusive หรือทั่วถึงกว่าในอดีตได้หรือไม่ คำตอบสั้น ๆ คือ “ไม่แน่” เพราะถ้ามองไปข้างหน้า มีอย่างน้อย 2 กระแสที่จะมาแน่นอน คือ Digital และ Green ซึ่งทั้งสองกระแสนี้ มีศักยภาพที่จะเพิ่ม inclusion ได้ แต่ก็มีโอกาสที่อาจจะซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำได้เช่นกัน
ผมจึงอยากวาดภาพของอนาคตใน “2 Alternative Futures” ให้เห็นว่ามีโอกาสที่จะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง
ภาพแรก อาจเป็นอนาคตที่ดูมืดมน ที่ทั้งกระแส Digital และ Green มาซ้ำเติมให้ความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น เพราะรายใหญ่มักคว้าโอกาสและปรับตัวได้เร็วกว่า จึงต่อยอดการเติบโตและยิ่งทิ้งห่างรายเล็กไปไกลกว่าเดิม
ในมุม Digital คนที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีมักเป็นคนที่ได้แต้มต่ออยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนทักษะสูง ที่สามารถเรียนรู้ใช้เทคโนโลยีใหม่ได้ง่ายกว่าคนที่ทักษะต่ำ หรือบริษัทรายใหญ่ไม่กี่รายที่ dominate ประโยชน์จากเทคโนโลยีเช่น บริษัท Big Tech อย่าง Google Apple Facebook Amazon ที่สามารถสร้าง network และใช้ประโยชน์จาก platform ของตนเองที่มีข้อมูลปริมาณมหาศาล และใช้ประโยชน์จาก digital platform ในรูปแบบโลกไร้พรมแดนเข้ามาแข่งขันเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดในที่ต่าง ๆ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ รายเล็กมักทำได้ยาก เพราะการพัฒนา online platform ต่าง ๆ ต้องยอมขาดทุนในช่วงแรก เพื่อแลกกับการได้ส่วนแบ่งตลาด และข้อมูลของลูกค้าให้ได้มากเพียงพอ และมีความจำเป็นที่ต้องมีคนที่มีทักษะเพียงพอ มีคนจำนวนมากพอ และมีระบบข้อมูลที่พร้อม ทำให้มีไม่กี่ประเทศหรือไม่กี่บริษัทที่ทำได้สำเร็จ และเป็นอีกรูปแบบของความเหลื่อมล้ำจากเทคโนโลยี Digital ที่จะซ้ำเติม SMEs หรือผู้เล่นรายเล็กให้ปรับตัวได้ลำบาก นำไปสู่โอกาสที่จะมีการผูกขาดในระยะยาว หรือ winner takes all และรายใหญ่จะทิ้งห่างรายเล็กไปมากกว่าเดิม
ในส่วนของกระแส Green ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยเริ่มปรับตัวรับกระแสนี้ไปแล้ว และสามารถยกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในระดับสากลได้ เห็นได้จาก 13 บริษัทไทยเข้าเป็นสมาชิกของดัชนี DJSI หรือ Dow Jones Sustainability Index ซึ่งมีจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน (ผลการคัดเลือกบริษัทเพื่อเป็นสมาชิกในดัชนี Dow Jones Sustainability World Index (effective ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน2021)
ขณะที่รายเล็ก กลุ่มแรก คือ SMEs มีเงินทุนไม่สูงมาก สายป่านสั้น และยังต้องปรับตัวให้ผ่านวิกฤตโควิดก่อน จึงอาจยากที่จะปรับตัวต่อกระแส Green และจากกรณีที่สหภาพยุโรปออก European Green Deal และบังคับ ใช้Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM ซึ่งคล้ายการเก็บภาษีตามปริมาณ carbon footprint ของสินค้าต่าง ๆ ซึ่งบริษัทใหญ่น่าจะสามารถปรับตัวได้ดีกว่า ยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างรายใหญ่และรายเล็กห่างกันมากกว่าเดิม
กลุ่มที่สอง คือ แรงงาน มีโอกาสที่เกือบครึ่งหนึ่งของแรงงานไทยจะถูกกระทบไม่มากก็น้อยจากกระแส climate change โดยกลุ่มเกษตรกร ที่เป็น 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานทั้งหมด จะถูกกระทบโดยตรง เพราะรายได้ จากผลผลิตขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ อีกทั้งเกษตรกรส่วนใหญ่มีbuffer ทางการเงินต่ำ ยิ่งไปกว่านั้น ทรัพย์สินของเกษตรกรส่วนมากเป็นที่ดินทำเกษตร ซึ่งหากเกิดภัยพิบัติ มูลค่าอาจลดลงเร็ว ซ้ำเติมรายได้ที่น้อยอยู่แล้วของเกษตรกรได้
นอกจากนี้ แรงงานในภาคท่องเที่ยว ที่คิดเป็น 20% ของกำลังแรงงานทั้งหมด ก็จะถูกกระทบจากกระแส Green เช่นกัน โดยต้นทุนการเดินทางจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสายการบิน long haul ที่มี carbon footprint สูง หรือระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทุกปีอาจทำให้สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งหน้าตาเปลี่ยนไปและไม่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเหมือนเดิม ซึ่งเมื่อรวมกับแรงงานในภาคเกษตร กว่าครึ่งของกำลังแรงงานทั้งหมดอาจมีรายได้ที่ถูกกระทบและลดลงจากกระแส Green
แต่ในอีกภาพอนาคต ทั้งกระแส Digital และ Green ก็เป็นโอกาสที่จะสร้าง inclusive growth ได้มากขึ้นกว่าเดิม
ในมุม Digital เทคโนโลยีDigital จะช่วย SMEs และประชาชนได้อย่างน้อย 3 ด้าน
(1) เพิ่มโอกาสทางธุรกิจและสร้างรายได้ให้รายเล็ก ด้วยการเข้าสู่ digital platform เห็นได้จากการเข้าสู่ e-commerce platform ของ SMEs ตั้งแต่ช่วงก่อนโควิดที่ทำให้ธุรกิจขยายฐานลูกค้าไปยังจังหวัดใหม่ ๆ นอกภูมิภาค และเพิ่มยอดขายได้ ซึ่งผู้ขายที่เข้ามาใช้e-commerce พบว่า 80% มีรายได้เพิ่มขึ้น และหลังโควิดการใช้งาน digital platform ยังเร่งตัวขึ้นอีก โดยไทยมีจำนวนผู้ใช้งานบน platform รายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 9 ล้านคน
โดยเกือบ 70% ของผู้ใช้รายใหม่อยู่ในเมืองรอง5 ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการเติบโตแบบกระจุกในบางพื้นที่ที่พูดถึงในช่วงแรก
(2) เมื่อประชาชนและธุรกิจเข้าสู่โลก Digital การซื้อขายของหรือจ่ายเงินระหว่างกัน จะทำให้เกิด digital footprint เป็นข้อมูลมหาศาล ที่สามารถนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ได้ตัวอย่างเช่น การที่ SMEs และประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น จากการที่ผู้ปล่อยกู้สามารถประเมินความเสี่ยงได้ดีขึ้นด้วยการใช้ alternative data โดยเฉพาะรายย่อยและ SMEs ที่ไม่มีรายได้ประจำ ไม่มีหลักประกัน หรือไม่มีข้อมูลกับสถาบันการเงินมาก่อน ข้อมูลจึงเป็นเรื่องสำคัญมากในภาคการเงิน และการแชร์ข้อมูลเชื่อมต่อด้วย open data จะเพิ่มประสิทธิภาพให้ภาคการเงินสามารถกระจายเม็ดเงินในระบบดีขึ้น ให้ไปถึงคนที่ต้องการเงินทุน แต่ ไม่สามารถเข้าถึงได้มาก่อน
(3) เทคโนโลยี Digital ในภาคการเงิน ยังทำให้มีผู้เล่นใหม่ ๆ ซึ่งจะสร้างการแข่งขัน กระตุ้นภาคการเงินให้มีพัฒนาการและสนับสนุนประชาชนและธุรกิจได้หลากหลายกลุ่ม และตอบโจทย์ผู้บริโภครายเล็ก ๆ และทำให้ระบบเศรษฐกิจการเงินของไทย inclusive มากขึ้น
นอกจากนี้ กระแส Green จะเป็นโอกาสทางธุรกิจให้รายเล็กได้เกิดใหม่ และคนในพื้นที่ห่างไกลได้ประโยชน์ มากขึ้น
ที่เห็นได้ชัด คือ การเกษตรสมัยใหม่ เช่น เกษตรอินทรีย์ ที่ลดการใช้สารเคมีหรือใช้พลังงานหมุนเวียน จะสามารถขยายตลาดไปยังผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสามารถตั้งราคาที่สูงกว่า ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรไทยด้วย
………………………………………..
เทคโนโลยี Digital ในภาคการเงิน ยังทำให้มีผู้เล่นใหม่ ๆ ซึ่งจะสร้างการแข่งขัน
กระตุ้นภาคการเงินให้มีพัฒนาการและสนับสนุนประชาชนและธุรกิจได้หลากหลายกลุ่ม
และตอบโจทย์ผู้บริโภครายเล็ก ๆ
………………………………………….
นอกจากนี้ ในภาคท่องเที่ยว ที่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนจะได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งSMEs โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่นและเมืองรองจะสามารถได้รับประโยชน์จาก trend นี้ผ่านการปรับโมเดลของธุรกิจเพื่อขายจุดแข็งทั้งวัฒนธรรมท้องถิ่นและแหล่งท่องเที่ยวแบบ unseen เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ และสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดการกระจุกตัวของรายได้เชิงพื้นที่ และยังเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากปัญหา over-tourism ในบางจังหวัดที่เดิมเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของประเทศ
จาก 2 Alternative Futures ข้างต้น หน้าที่หลักของผู้กำหนดนโยบาย (policymakers) คือ ต้องสร้าง ecosystem หรือระบบนิเวศ ที่เอื้อให้เกิด future ที่ 2 ที่ inclusive กว่าเดิม โดยใช้กลไกตลาดในทางที่ถูกต้อง ผมจึงจะขอ focus ที่ส่วนของ ธปท. โดยเห็นว่ามีโจทย์สำคัญอย่างน้อย 3 เรื่อง
โจทย์แรก คือ ทำให้ภาคการเงินส่งเสริม inclusion ด้วยการเพิ่มโอกาสให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จาก Digital และข้อมูลได้เต็มที่ เช่น การมีDigital ID ที่จะพาคนเข้าสู่โลก Digital ได้สะดวก ปลอดภัย สามารถเปิดบัญชีธนาคารได้โดยไม่ต้องไปสาขา รวมถึงสมัครใช้บริการทางการเงินประเภทอื่น ๆ โดยยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันได้ สำหรับ SMEs ก็จะสามารถทำธุรกิจบนระบบ Digital ได้แบบ end-to-end ตั้งแต่วางบิล จ่ายเงินบริหารคลังสินค้า เหมือนระบบของบริษัทใหญ่ ซึ่งจะเป็น digital footprint ที่จะใช้ต่อยอดเป็นข้อมูลในการขอสินเชื่อได้ ซึ่งการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในวงกว้างขึ้นในอนาคต จะเอื้อให้เกิดกลไกการค้ำประกันเครดิตให้ทุกกลุ่ม ทั้งประชาชน SMEs และบริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม
ธปท. กำลังผลักดันนโยบายในทิศทางนี้ ด้วยแนวทาง 3 Open
(1) Open Infrastructure คือ มีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เปิดกว้าง ให้ผู้ให้บริการที่หลากหลายสามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม และทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกบริการ Digital ที่ตอบโจทย์มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ จะรวมถึงการพัฒนา Central Bank Digital Currency (CBDC) ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่รองรับการต่อยอดนวัตกรรมของภาคธุรกิจในอนาคตด้วย
(2) Open Data โดยการผลักดันระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลของประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและนอกภาคการเงิน เพื่อให้digital footprint ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้าง ไม่เกิดการผูกขาดข้อมูลโดยบริษัทรายใหญ่ไม่กี่ราย
(3) Open Competition ในการสนับสนุนให้ผู้เล่นหน้าใหม่และหน้าเดิม สามารถแข่งขันกันบน level-playing field เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ และอยู่ภายใต้เกณฑ์การกำกับดูแลที่เท่าเทียมกัน
อีกโจทย์ที่สำคัญ คือ การมีระบบที่เอื้อให้เราเท่าทันความเสี่ยงที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี Digital ทั้งการป้องกันและรับมือกับภัย cyber และการหลอกลวง (fraud) รวมทั้งมีกลไกป้องกันความเสี่ยงของข้อมูลรั่วไหล ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน เกิดได้เร็ว และมีแต่จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า โดยในปี 2020 cyber attack ทั่วโลก ได้สร้างความเสียหายมากถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ6 ซึ่งการสร้างภูมิคุ้มกันเหล่านี้ ต้องทำควบคู่ไปกับ
การพัฒนาทักษะการใช้งาน Digital ของประชาชนและธุรกิจไทย และขณะเดียวกันต้องรู้เท่าทันความเสี่ยง เพื่อสามารถใช้ประโยชน์จาก Digital ได้อย่างมั่นใจ สบายใจ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้มากขึ้น
โจทย์สุดท้าย คือ การเตรียมกลไกภาคการเงิน และออกแบบแรงจูงใจเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนได้อย่างราบรื่น โดยที่ผ่านมา ธปท. และหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน ร่วมกันพัฒนา“ภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน” เช่น มีมาตรการจูงใจเพื่อสร้างตลาดและการลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืน และให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่มีคุณภาพ และมองไปข้างหน้า ภาคการเงิน( 6 The Hidden Costs of Cybercrime, McAfee Report, ปี 2020)จะต้องเพิ่มบทบาทในการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะในช่วงแรกของการดำเนินงาน เพื่อช่วยให้ปรับตัว โดยเฉพาะรายเล็กที่จะต้องได้รับโอกาสเพื่อให้ก้าวทันกระแสโลกใหม่
แล้วในระยะต่อไป เราจะดูแลให้ecosystem ของภาคการเงินสามารถรองรับโจทย์ 3 ข้อข้างต้นได้อย่างไร
ภายใต้บริบทโลกใหม่ที่สองกระแสข้างต้นจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เร็วและมีความไม่แน่นอนสูง การรักษาเสถียรภาพหรือ stability ให้กับภาคการเงินจะยังมีความสำคัญ เพราะต้องมั่นใจว่าผู้ให้บริการทางการเงินยังสามารถทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการอย่าง SMEs และประชาชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง และต้องไม่สร้างความเสี่ยงต่อระบบการเงิน หรือกลายมาเป็น shock amplifier จนกระทบต่อความเชื่อมั่นและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวม
อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้า หากเราจะมุ่งรักษา stability เพียงอย่างเดียว ผ่านการสร้างกฎเกณฑ์เพื่อดูแลความเสี่ยงจากนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งอาจไปจำกัดขอบเขตการทำธุรกิจ ทำให้ต้อง trade-off กับประโยชน์จากนวัตกรรมที่ผู้ใช้บริการและระบบเศรษฐกิจจะได้รับ เราควรต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง resilience มากกว่าการรักษา stability เพียงอย่างเดียว เพราะคำว่า resilience แม้ในภาษาไทยจะแปลว่า “ความเข้มแข็งมั่นคง” เหมือนกับ stability แต่ resilience กินความหมายกว้างกว่านั้น เพราะยังสื่อรวมไปถึงความสามารถในการฟื้นตัวหรือรับมือกับ shocks ต่าง ๆ ได้
สุดท้ายนี้ecosystem ของภาคการเงิน จะต้อง balance ให้ดีระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยงที่จะตามมา ไม่ให้กระทบภาคการเงินในวงกว้าง เพื่อนำไปสู่ resilience ที่แท้จริงที่จะสนับสนุนให้ระบบการเงินทำหน้าที่ได้ดี สามารถกระจาย resource และโอกาสทางการเงินไปสู่ผู้ที่ต้องการได้อย่างเหมาะสม เป็น enabler ให้เศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืน สร้างความเจริญ มั่งคั่ง ให้ทั่วถึง
ขอบคุณครับ
……………………………………………………………………………………………………………
จากงานสัมมนาออนไลน์ The Standard Economic Forum 2021
The Great Reform: Thailand’s Tipping Point for a Sustainable Future
หัวข้อ “The Future of Thai Economy and Finance”
“อนาคตของเศรษฐกิจและการเงินไทย”
…………………………………………………………………………………………………………
Social Links