ยูโอบีเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคอาเซียน
ชี้ยังกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยในยามเงินเฟ้อ
“ช่องทางธนาคาร-การชำระเงินดิจิทัล”มีแนวโน้มสดใส
รายงานศึกษาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอาเซียน (ASEAN Consumer Sentiment Study หรือ ACSS) ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นการศึกษาชิ้นสำคัญโดยยูโอบี (UOB) พบว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความหวาดกลัวภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอาเซียนมากขึ้น ขณะที่การรับนำไปใช้และการใช้งานช่องทางธนาคารและการชำระเงินดิจิทัลเติบโตอย่างคึกคัก
กว่า 70% ของผู้ตอบแบบสำรวจในการศึกษา ACSS ปี 2566 คาดว่า ประเทศของตนจะประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า ดับความหวังที่จะเกิดการฟื้นตัว ขณะที่ความรู้สึกหดหู่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงเท่าใดนักจากปีก่อน การศึกษานี้ยังเผยให้เห็นความนิยมที่เพิ่มขึ้นในการใช้ช่องทางธนาคารดิจิทัล อย่างแอปธนาคารในมือถือ ตลอดจนวิธีการชำระเงินแบบใหม่ ๆ เช่น อีวอลเล็ตหรือการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด แพลตฟอร์มชำระเงินอีคอมเมิร์ซ และบัตรเดบิตหรือเครดิตการ์ดผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล
การศึกษา ACSS ของยูโอบีจัดทำขึ้นเป็นปีที่ 4 แล้วในปีนี้ ซึ่งดำเนินการระหว่างวันที่ 1 ถึง 26 มิถุนายน 2566 โดยสำรวจผู้ตอบแบบสอบถามทางออนไลน์จำนวน 3,400 คนจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม ครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ยูโอบีร่วมมือกับบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการระดับโลกอย่างบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group) ในการศึกษานี้ด้วย
คุณแจ็กเกอลีน ตัน (Jacquelyn Tan) หัวหน้าฝ่ายบริการการเงินส่วนบุคคลของเครือยูโอบี กล่าวว่า “แม้การศึกษา ACSS ปี 2566 ของยูโอบีจะชี้ว่า ผู้บริโภคในอาเซียนมีมุมมองที่มีลักษณะระมัดระวังเกี่ยวกับแนวโน้มในอนาคต เมื่อภาวะเงินเฟ้อในสิงคโปร์และตลาดพัฒนาแล้วแห่งอื่น ๆ ยังคงอยู่ในระดับสูง แต่เรายังยินดีที่ได้เห็นว่าความกระตือรือร้นในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลและการเปิดรับยุคใหม่แห่งเทคโนโลยียังคงไม่แผ่วลง ทั้งนี้ ในการเป็นเครื่องวัดความรู้สึกในระดับภูมิภาคต่อเศรษฐกิจ รวมถึงด้านสำคัญที่เป็นที่สนใจอย่างพฤติกรรมการใช้จ่ายและพฤติกรรมทางการเงิน และเทคโนโลยี ข้อค้นพบจากการศึกษา ACSS ปี 2566 ของยูโอบีนี้มอบมุมมองเชิงลึกที่มีค่า ให้ผู้บริโภคและธุรกิจได้ปรับตัวและเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนในขณะนี้”
“ในฐานะสถาบันทางการเงินแห่งหนึ่ง กระแสแนวโน้มและมุมมองเชิงลึกที่เห็นได้เด่นชัดในการศึกษาเกี่ยวกับความกังวลหลักของผู้บริโภค การออมเงิน พฤติกรรมและความต้องการทางการเงินและดิจิทัล จะช่วยให้เราเข้าใจลูกค้าของเราในภูมิภาคนี้ได้ดียิ่งขึ้น ทำให้เราตอบสนองความต้องการของลูกค้า และยกระดับความพยายามในการมีปฏิสัมพันธ์ เพื่อสนับสนุนลูกค้าของเราในการปรับตัวเข้าสู่ภูมิทัศน์ใหม่ด้านการธนาคารและดิจิทัล ตลอดจนในการคว้าโอกาสในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจปัจจุบันเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่มั่นหมายไว้”
เงินเฟ้อดับฝันเศรษฐกิจฟื้นตัว แต่ยังคงมีเรื่องดี ๆ อยู่บ้าง
เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นข้อกังวลหลักในอาเซียน โดย 63% ของผู้ตอบแบบสอบถามแสดงความกังวลในเรื่องนี้ ขณะที่ 57% กังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายครัวเรือนที่สูงขึ้น ชาวสิงคโปร์มีความกังวลในสองเรื่องนี้มากที่สุด โดย 71% และ 64% ของผู้ตอบแบบสอบถามกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายครัวเรือนที่สูงขึ้นตามลำดับ ข้อกังวลทางการเงิน 3 อันดับแรกในภูมิภาคนี้ ได้แก่ ความสามารถที่จะกันเงินเป็นเงินออม (37%) ความสามารถที่จะซื้อของจำเป็น (31%) และความสามารถที่จะรักษาระดับการดำเนินวิถีชีวิตในปัจจุบัน (28%) ในขณะที่ค่าสาธารณูปโภค (42%) และการซื้อของกินของใช้ในครัวเรือน (34%) เป็นรายการที่ผู้บริโภคใช้จ่ายสูงสุด 2 อันดับแรก ตามด้วยการสั่งอาหารหรือซื้ออาหาร และการศึกษาของบุตรอยู่ในอันดับสามร่วมกัน (31%) สำหรับค่าใช้จ่ายที่ไม่มีความจำเป็นนั้น คนส่วนใหญ่ลดรายจ่ายด้านเครื่องประดับ (38%) และการรับประทานอาหารที่ร้าน (34%) ตามด้วยเครื่องใช้ในบ้านและเฟอร์นิเจอร์ (32%)
แม้จะเป็นเช่นนั้น แต่ก็ยังมีมุมมองเชิงบวกอยู่บ้าง โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 3 ใน 5 ทั่วภูมิภาคนี้คาดว่าตนเองจะมีสถานภาพทางการเงินที่ดีขึ้นภายในเดือนมิถุนายนปีหน้า มากที่สุดคือเวียดนาม (76%) ตามด้วยอินโดนีเซีย (74%) และไทย (68%) สอดคล้องกับการคาดการณ์แนวโน้มครึ่งปีหลังของปี 2566 โดยยูโอบีว่าความเชื่อมั่นจะดีขึ้น เมื่ออัตราดอกเบี้ยในภูมิภาคมีเสถียรภาพและเศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคง
ในสิงคโปร์ สถานการณ์ทางการเงินที่เป็นข้อกังวลสูงสุด 2 ประการ ได้แก่ ความสามารถที่จะกันเงินเป็นเงินออม (42%) และความสามารถในการวางแผนเกษียณล่วงหน้า (37%) ส่วนความสามารถที่จะซื้อของจำเป็นและความสามารถที่จะรักษาระดับการดำเนินวิถีชีวิตปัจจุบันอยู่ในอันดับ 3 ร่วมกัน (31%) โดย 43% ของผู้บริโภคในการสำรวจระบุว่า ตนมีการจ่ายค่าสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา ส่วน 34% รายงานว่าค่าใช้จ่ายในการซื้อของกินของใช้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น และ 32% ใช้จ่ายด้านการเดินทางประจำวันเพิ่มขึ้น กว่า 1 ใน 4 ของชาวสิงคโปร์จัดสรรงบประมาณสำหรับการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อน ส่งผลให้ผู้บริโภคกันเงินสำหรับการออมน้อยลง โดย 23% ระบุว่าเป็นเช่นนั้น คนรุ่นเจนซี (Gen Z] เป็นกลุ่มประชากรที่ยึดหลักระมัดระวังมากที่สุด โดย 48% วางแผนที่จะออมเงินมากขึ้นในปีนี้ เทียบกับค่าเฉลี่ยระดับประเทศที่ 35% ส่วนคนรุ่นเจนวาย (Gen Y] ให้ความสำคัญกับการลงทุน โดย 30% จัดสรรเงินสำหรับลงทุน เทียบกับค่าเฉลี่ยระดับประเทศที่ 24%
ไม่ว่าความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร ยูโอบีให้ความสำคัญกับมุมมองระยะยาวในการวางแผนทางการเงิน โดยมีความระมัดระวังรอบคอบและการบริหารจัดการความเสี่ยงเป็นรากฐานสำคัญ ในทุกห้วงขณะของวงจรเศรษฐกิจ ยูโอบีจะแนะนำให้ลูกค้ามีแผนทางการเงินที่แข็งแรง รองรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็น การคุ้มครอง ตลอดจนการสะสมเพิ่มพูนความมั่งคั่งของตน ตัวอย่างเช่นนักลงทุนที่อายุยังน้อยควรรู้จักที่จะก้าวเล็ก ๆ แต่มั่นคงในการบรรลุเป้าหมายทางการเงิน สะสมเพิ่มพูนเงินออม พร้อมทั้งคว้าประโยชน์ของการลงทุนตั้งแต่เนิ่น ๆ หนทางหนึ่งที่จะทำเช่นนี้ได้คือด้วยยูโอบี ซิมเปิลอินเวสต์ (UOB SimpleInvest) แพลตฟอร์มการลงทุนดิจิทัลที่สร้างขึ้นโดยให้ความสำคัญกับเป้าหมายและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของลูกค้า ซึ่งมอบ 4 โซลูชันการลงทุนที่มีการบริหารจัดการอย่างแข็งขัน โดย 2 โซลูชันใช้ข้อมูลเชิงลึกจากสำนักงานการลงทุนหลักของธนาคารส่วนบุคคลยูโอบี โดยยูโอบีงัดใช้โซลูชันและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ชีวิตในระยะต่าง ๆ เพื่อมอบข้อเสนอสำหรับทุกกลุ่มประชากรเพื่อทำให้แน่ใจว่าความต้องการทางการเงินของพวกเขาจะได้รับการรองรับอย่างเพียงพอ
ช่องทางธนาคารและการชำระเงินดิจิทัลเป็นที่นิยมใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ผู้บริโภคในอาเซียนใช้บริการธนาคารในมือถือเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการทางการเงินของตน และเปิดรับเทคโนโลยีอย่างเช่นแพลตฟอร์มแบบผนวกรวมในการดูแลข้อมูลทางการเงินของตนมากขึ้น เกือบ 55% ของผู้ตอบแบบสอบถามได้เพิ่มการใช้งานแอปธนาคารในมือถือในช่วงปีที่ผ่านมา ส่วนการใช้ธนาคารทางอินเทอร์เน็ตผ่านเว็บเบราเซอร์เป็นที่สองรองมาที่ 35% แพลตฟอร์มข้อมูลทางการเงินแบบผนวกรวมมีการใช้งานเพิ่มขึ้น 20% ในทั้งภูมิภาค โดยไทยและเวียดนามใช้บริการเหล่านี้คึกคักที่สุดในภูมิภาค ขณะที่ในสิงคโปร์ 1 ใน 5 ของคนรุ่นเจนวายใช้งานแพลตฟอร์มอย่างเช่นเอสจีฟินเด็กซ์ (SGFinDex) เพิ่มขึ้น ซึ่งเปิดโอกาสให้ดูข้อมูลทางการเงินของผู้ใช้ได้อย่างครอบคลุม นอกจากลูกค้าของยูโอบีจะสามารถเข้าถึงเอสจีฟินเด็กซ์ผ่านแอปยูโอบี ทูมอร์โรว์ (UOB TMRW) ได้แล้ว ธนาคารยูโอบียังเป็นที่แรกที่บูรณาการแพลตฟอร์มเช่นนี้เข้ากับเครื่องมือให้คำปรึกษาพอร์ตฟอลิโอ (Portfolio Advisory Tools) ของยูโอบีเอง จึงช่วยให้ที่ปรึกษาของลูกค้าสามารถติดตามดู บริหารจัดการ และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพอร์ตโฟลิโอความมั่งคั่งของลูกค้าได้อย่างเป็นองค์รวมมากขึ้น
อีกข้อมูลที่โดดเด่นคือ สาขาธนาคารมีการใช้งานเพิ่มขึ้น 17% ในทั้งภูมิภาค ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้บริโภคยังคงให้คุณค่ากับปฏิสัมพันธ์แบบต่อหน้า เพิ่มเติมจากหลากหลายช่องทางดิจิทัลที่มีอยู่ ในสิงคโปร์นั้น กว่าครึ่งหนึ่งเลือกที่จะใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับบริการง่าย ๆ อย่างเช่นการสมัครบัตรเครดิตและบัตรเดบิต และตรวจสอบสถานะรางวัล แต่ชอบที่จะใช้ช่องทางออฟไลน์หรือหลายช่องทางร่วมกันสำหรับธุรกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้น อย่างเช่นธุรกรรมมูลค่าสูง การยื่นขอและรีไฟแนนซ์เงินกู้ธนาคาร ตลอดจนการซื้อประกัน เช่นนี้สอดรับอย่างลงตัวกับแนวทางการเชื่อมรวมหลากหลายช่องทางของยูโอบี ซึ่งธนาคารยูโอบีเสนอโมเดลปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างไร้รอยต่อจากออนไลน์สู่ออฟไลน์ ประสิทธิภาพของแนวทางการเชื่อมรวมหลากหลายช่องทางนั้นปรากฏอย่างชัดเจน เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้มีปฏิสัมพันธ์กับธนาคารมากที่สุด โดยถือครองและดำเนินธุรกรรมมากกว่าลูกค้าแบบดั้งเดิมถึง 20 เท่า
ในด้านการชำระเงินนั้น ผู้บริโภคในอาเซียนแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ที่พร้อมนำเทคโนโลยีล่าสุดไปใช้งาน โดยการชำระเงินผ่านอีวอลเล็ตหรือคิวอาร์โค้ดเป็นวิธีการชำระเงินที่ได้รับความนิยมสูงสุดในภูมิภาค โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 56% ใช้วิธีชำระเงินดังกล่าวนี้ในปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์มการชำระเงินอีคอมเมิร์ซอยู่ในอันดับที่สองที่ 49% ขณะที่บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตในกระเป๋าเงินดิจิทัลอยู่ในอันดับสามที่ 48% อีกทั้งยังเป็นวิธีการชำระเงินที่ผู้บริโภคมีความสนใจมากที่สุดที่จะลองใช้ โดย 22% ระบุความประสงค์ที่จะลองใช้ในปีหน้า
ในสิงคโปร์ ผู้บริโภคยังคงเลือกที่จะชำระเงินผ่านแพลตฟอร์มของธนาคารมากกว่าแพลตฟอร์มภายนอกของบุคคลที่สาม โดยบัตรเครดิตและบัตรเดบิตที่เป็นตัวบัตรเป็นวิธีการชำระเงินที่มีผู้เลือกใช้อันดับสูงสุดที่ 62% บัตรเครดิตและบัตรเดบิตในกระเป๋าเงินดิจิทัลและบริการชำระเงินระหว่างบุคคล (Peer-to-Peer) อยู่ในอันดับสองร่วมกันที่ 50% เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมภูมิภาค ชาวสิงคโปร์มีความสนใจที่จะลองใช้การชำระเงินด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตในกระเป๋าเงินดิจิทัลมากที่สุดในปีถัดไป โดย 20% ระบุว่าจะทำเช่นนั้น
ยูโอบีมีบทบาทการดำเนินงานใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยอยู่ในตำแหน่งเหมาะสมที่จะรองรับความต้องการข้ามพรมแดนของลูกค้าในภูมิภาค ข้อเสนอบัตรระดับภูมิภาคที่ไม่เหมือนที่อื่นใดของยูโอบีทำให้ผู้ถือบัตรได้รับรางวัลและสิทธิประโยชน์จากผู้ค้าที่เป็นคู่ค้าได้ทั่วทั้งอาเซียน นอกจากนี้ การขยายโซลูชันการชำระเงินและการโอนเงินทุนระหว่างประเทศไปสู่ตลาดสำคัญอย่างมาเลเซียและไทย ทำให้ธนาคารยูโอบีพร้อมที่จะเป็นธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยที่เป็นตัวเลือกสำหรับผู้บริโภคในภูมิภาคนี้ บทบาทของยูโอบีในการเชื่อมโยงการชำระเงินข้ามพรมแดนซึ่งนำโดยรัฐบาลเช่นนี้จะเสริมสร้างความตระหนักรู้และการใช้บริการของยูโอบีในอาเซียน ทั้งยังมอบความสะดวกที่เพิ่มมากขึ้นให้กับลูกค้าทั้งภูมิภาคด้วย
การธนาคารแบบเฉพาะบุคคล
ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในอาเซียนพร้อมที่จะเผยข้อมูลทางการเงินของตนกับธนาคาร และเห็นชอบกับการที่ข้อมูลของตนได้รับการนำไปใช้เพื่อคัดสรรผลิตภัณฑ์และบริการที่สอดรับกับความจำเป็นและความต้องการของตนโดยเฉพาะ กว่า 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามสบายใจที่จะให้ข้อมูลทางการเงินให้ธนาคารนำไปรวมบนแพลตฟอร์มเดียว โดย 83% เลือกที่จะทำเช่นนั้นผ่านแอปธนาคาร เมื่อเทียบกับผู้ให้บริการแอปรายอื่น ๆ อย่างเช่นแอปอีคอมเมิร์ซหรือแอปชอปปิง และแอปรวมหลายบริการ ในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถามเหล่านี้ กว่า 90% ระบุความต้องการที่จะรับข้อเสนอผลิตภัณฑ์และบริการแบบปรับแต่งเฉพาะบุคคลในแอปธนาคารของตน ความต้องการที่แข็งแกร่งสำหรับการปรับแต่งเฉพาะบุคคลยังปรากฏอย่างทั่วถึงในทุกกลุ่มอายุ ระดับรายได้ และเพศในการสำรวจนี้
การปรับแต่งเฉพาะบุคคลเป็นเสาหลักสำคัญของยูโอบี ตั้งแต่ดีลและรางวัลที่เสนอให้กับลูกค้าโดยอิงจากการซื้อที่ผ่านมา ไปจนถึงอินไซต์การ์ด (insight card) ที่ส่งมอบผ่านแอปยูโอบี ทูมอร์โรว์โดยอิงจากพฤติกรรมการใช้จ่าย และการแจ้งเตือนเมื่อใกล้จะบรรลุขั้นเกณฑ์ที่จะได้อัตราดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากที่สูงขึ้น ยูโอบียึดมั่นในการทำสิ่งที่ถูกต้องให้แก่ลูกค้าด้วยการเชิดชูลูกค้าในตัวตนที่เป็น
………………..
เกี่ยวกับยูโอบี
ธนาคารยูโอบีเป็นธนาคารชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย มีสำนักงานใหญ่ที่ประเทศสิงคโปร์และมีการดำเนินธุรกิจในจีน อินโดนิเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม อีกทั้งยังมีเครือข่ายระดับโลกที่ประกอบด้วยสำนักงานประมาณ 500 แห่ง ใน 19 ประเทศและเขตการปกครอง ทั้งในเอเชียแปซิฟิก ยุโรป และอเมริกาเหนือ นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ 2478 ธนาคารยูโอบีได้พัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องผ่านการควบรวมกิจการที่สำคัญ ปัจจุบันธนาคารยูโอบีได้รับการจัดลำดับให้เป็นธนาคารที่มีความแข็งแกร่งในระดับสากลจากบริษัทจัดลำดับความน่าเชื่อถือระดับโลก ได้แก่ ความน่าเชื่อถือระดับ Aa1 โดย มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส และความน่าเชื่อถืออยู่ในลำดับ AA- จากเอสแอนด์พี โกลบอล เรทติงส์ และฟิทช์ เรทติงส์
ตลอดระยะเวลาเกือบ 9 ทศววรษ ธนาคารยูโอบีดำเนินธุรกิจโดยยึดความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลางเพื่อสร้างคุณค่าให้แก่ธุรกิจในระยะยาวโดยการปรับกลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคผ่านพลังงานแห่งความสร้างสรรค์และความมุ่งมั่นในการทำสิ่งที่ถูกต้องแก่ลูกค้า ยูโอบีพร้อมที่จะพัฒนาอนาคตของภูมิภาคอาเซียนในเติบโต ทั้งประชากรและธุรกิจให้มีความเชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึงในภูมิภาค
เรายังมีส่วนในการเชื่อมต่อโอกาสทางธุรกิจภายในภูมิภาคนี้ ผ่านเครือข่ายทางการเงินที่แข็งแกร่ง เรามีการจัดทำฐานข้อมูลและรวบรวมข้อมูลเชิงลึกสำหรับพัฒนาและนำเสนอประสบการณ์ทางการเงินส่วนบุคคล และบริการทางการเงินที่เหมาะสมเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลง ยูโอบีมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจให้แก่ลูกค้า ผ่านกิจกรรมการมีส่วนร่วมทางสังคม สร้างผลกระทบที่ดีต่อสื่งแวดล้อม พร้อมไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ธนาคารเชื่อมั่นในการเป็นผู้บริการทางการเงินที่มีความรับผิดชอบ พร้อมทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผ่านการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมด้านศิลปะ เยาวชน และการศึกษา
Social Links