จีนชูจุดยืน เดินหน้าสร้างประชาคมโลก ที่มีอนาคตร่วมกัน ผ่านความร่วมมือกับนานาประเทศ

จีนชูจุดยืน เดินหน้าสร้างประชาคมโลก ที่มีอนาคตร่วมกัน ผ่านความร่วมมือกับนานาประเทศ

จีนชูจุดยืน เดินหน้าสร้างประชาคมโลก

ที่มีอนาคตร่วมกัน ผ่านความร่วมมือกับนานาประเทศ

หญ้าจวินฉ่าว (Juncao) จากจีนที่สามารถนำไปใช้เพาะเห็ดกินได้ กำลังเติบโตงอกงามในต่างแดน ตั้งแต่ฟิจิ เลโซโท ไปจนถึงรวันดา โดยได้เข้ามาแทนที่วิธีการเพาะเห็ดแบบเดิมที่ต้องอาศัยต้นไม้ที่โค่นล้มเพียงอย่างเดียว

จีนได้จัดการฝึกอบรมการปลูกหญ้าจวินฉ่าวมากกว่า 270 ครั้งให้แก่ประชาชนมากกว่า 10,000 คน จาก 106 ประเทศ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงคุณูปการของหญ้าจวินฉ่าว สมดังที่เกษตรกรในเลโซโทต่างเรียกขานว่า “หญ้าแห่งความเจริญรุ่งเรือง”

นอกจากหญ้าจวินฉ่าวแล้ว จีนยังดำเนินโครงการอีกมากมายในต่างแดน เช่น โครงการปลูกข้าวลูกผสม สร้างถนน สะพาน บ่อน้ำ ฯลฯ ภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ซึ่งมีความก้าวหน้าอย่างมาก และช่วยให้ประชาชนในท้องถิ่นมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สมุดปกขาวในหัวข้อ “ประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน: ข้อเสนอและการดำเนินการของจีน” (A Global Community of Shared Future: China’s Proposals and Actions) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ระบุว่า ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเป็น “ตัวอย่างที่เด่นชัด” ของการสร้างประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน นอกจากนั้นยังเป็น “สินค้าสาธารณะของโลก” และเวทีความร่วมมือที่จีนมอบให้กับทั่วโลก

ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 10 ปีของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน นำเสนอเป็นครั้งแรกในปี 2556

ในงานแถลงข่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวว่า วิสัยทัศน์ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางได้รับการสนับสนุนจากประชาคมโลกในวงกว้าง

นายหวัง อี้ กล่าวว่า สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า นานาประเทศและประชาชนจำนวนมากต่างแสวงหาสันติภาพ ความยุติธรรม และความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดจนมีความปรารถนาร่วมกันในการสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม

การดำเนินการของจีน

นับตั้งแต่ที่มีการนำเสนอข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จีนก็ได้ดำเนินการสร้างความร่วมมืออย่าง “เปิดกว้าง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สะอาด และมีมาตรฐานสูง” เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

รายงานเศรษฐศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Economics) ซึ่งจัดทำโดยธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่า เมื่อมีผลอย่างเต็มรูปแบบ ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางจะช่วยให้การค้าภายใต้ข้อริเริ่มเพิ่มขึ้น 4.1% และสร้างรายได้ทั่วโลก 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2573

สมุดปกขาวระบุว่า “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ทางภูมิรัฐศาสตร์หรือการทหาร” อีกทั้งยังเป็น “กระบวนการที่เปิดกว้างและครอบคลุม ซึ่งไม่ได้พุ่งเป้าหรือกีดกันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”

ณ เดือนกรกฎาคม 2566 ประเทศต่าง ๆ มากกว่า 3 ใน 4 ของทั่วโลก และองค์กรระหว่างประเทศมากกว่า 30 แห่งได้เข้าร่วมข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งไม่ใช่ “สโมสรจีน” หรือ “ช่องทางส่วนตัวสำหรับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”

ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ (Global South) จีนได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ตลอดจนช่วยเหลือประเทศผู้รับในการขยายขีดความสามารถด้านการพัฒนา ผ่านข้อริเริ่มด้านการพัฒนาระดับโลก (Global Development Initiative)

สมุดปกขาวระบุว่า จีนได้ร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งเพื่อดำเนินโครงการต่าง ๆ มากกว่า 130 โครงการในด้านการบรรเทาความยากจน ความมั่นคงทางอาหาร และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในเกือบ 60 ประเทศ เช่น เอธิโอเปีย ปากีสถาน และไนจีเรีย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า 30 ล้านคน

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นายหวัง อี้ ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการผลักดันประเด็นด้านการพัฒนากลับสู่วาระหลักระหว่างประเทศ เพื่อให้ประชาชนจากทุกประเทศได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น

นอกจากนี้ เพื่อรับมือกับความไม่สมดุลด้านความมั่นคงที่เห็นเด่นชัด จีนได้พยายามสร้างเส้นทางใหม่สู่ความมั่นคงผ่านข้อริเริ่มด้านความมั่นคงระดับโลก (Global Security Initiative) ซึ่งเน้นการเจรจามากกว่าการเผชิญหน้า การเป็นหุ้นส่วนมากกว่าการเป็นแนวร่วม และประโยชน์ของทุกฝ่ายมากกว่าประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

จีนยังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายสนับสนุนการเคารพความหลากหลายของอารยธรรมผ่านข้อริเริ่มด้านอารยธรรมระดับโลก (Global Civilization Initiative) ยกตัวอย่างเช่น จีนได้ดำเนินโครงการเส้นทางสายไหมทางวัฒนธรรม (Cultural Silk Road) พร้อมกับสร้างโรงละคร พิพิธภัณฑ์ เทศกาลศิลปะ ห้องสมุด และพิพิธภัณฑ์ศิลปะนานาชาติเส้นทางสายไหม

“หนึ่งครอบครัวใหญ่ในหมู่บ้านโลก”

การสร้างประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกันตลอด 10 ปีที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยวิสัยทัศน์ดังกล่าวได้รับการบรรจุลงในมติสมัชชาสหประชาชาติเป็นเวลา 6 ปีติดต่อกัน ตลอดจนรวมอยู่ในมติและปฏิญญาพหุภาคีหลายฉบับ

จีนได้สร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันกับหลายสิบประเทศและภูมิภาค โดยนายหวัง อี้ ระบุว่า ข้อริเริ่มด้านการพัฒนาระดับโลกและข้อริเริ่มด้านความมั่นคงระดับโลกได้รับการสนับสนุนจากกว่า 100 ประเทศ ขณะที่ข้อริเริ่มด้านอารยธรรมระดับโลกก็ได้รับการตอบรับเชิงบวกจากหลายประเทศ

นายหวัง อี้ เตือนว่า ในขณะที่มนุษยชาติกำลังอยู่บนทางแยกของประวัติศาสตร์ การเผชิญหน้ากันและการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด

สมุดปกขาวระบุว่า ท่ามกลางวิกฤตทั่วโลก กว่า 190 ประเทศต่าง “ลงเรือลำเดียวกัน” และประชากรโลกทุกคนต่างเป็น “หนึ่งครอบครัวใหญ่ในหมู่บ้านโลก”

“ไม่มีประเทศใด ไม่ว่าจะแข็งแกร่งเพียงใดก็ตาม ที่สามารถทำทุกอย่างได้เพียงลำพัง เราจึงต้องสร้างความร่วมมือในระดับโลก” สมุดปกขาวระบุ

สมุดปกขาวยังชี้ด้วยว่า วิสัยทัศน์ประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกันนั้น อยู่เหนือการผูกขาดของการเมืองแบบกลุ่ม แนวคิดอำนาจคือความชอบธรรม และ “คุณค่าสากล” ที่กำหนดโดยประเทศตะวันตกเพียงหยิบมือเดียว

“วิสัยทัศน์นี้สอดคล้องกับกระแสของยุคสมัย สะท้อนการเรียกร้องให้เกิดความร่วมมือระดับโลก ตลอดจนมีส่วนทำให้เกิดระเบียบโลกที่ยุติธรรมและเท่าเทียมกันมากขึ้น”

You may also like

TQM ร่วมกับ MSIG ส่งความสุขท้ายปี มอบฟรี “ประกันภัยรถยนต์ตามคน” ขับคันไหนก็คุ้มครอง

TQM ร่วม