“ดร.พิสิฐ” ตั้ง 3 คำถามคาใจ จี้เร่งดันโซล่าร์รูฟเกิดได้จริง 100% เลิกปกป้องกลุ่มผลประโยชน์เดิม

“ดร.พิสิฐ” ตั้ง 3 คำถามคาใจ จี้เร่งดันโซล่าร์รูฟเกิดได้จริง 100% เลิกปกป้องกลุ่มผลประโยชน์เดิม

ดร.พิสิฐ” ตั้ง 3 คำถามคาใจ

จี้เร่งดันโซล่าร์รูฟเกิดได้จริง 100%

เลิกปกป้องกลุ่มผลประโยชน์เดิม

            ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายในการพิจารณาเพื่อรับทราบรายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศถ้าเดินถูกทาง เพราะทุกวันนี้กำลังประสบปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะมีปัญหาด้านการคลัง ที่มีหนี้สูงขึ้นและมีรายได้ทางออก จึงจำเป็นต้องหาทางออกหลายด้าน จึงมองว่าประเทศไทยโชคดีที่อยู่ในเขตภูมิศาสตร์ที่มีแสงอาทิตย์เหลือเฟือ ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ในโลกไม่มีโอกาสได้แสงอาทิตย์เหมือนบ้านเรา เพราะแสงอาทิตย์เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีประโยชน์และยังไม่ได้นำมาใช้เท่าที่ควร

                ที่ผ่านมา เราใช้พลังงานจากซอสซิลเป็นหลัก โดยต้องนำเข้าทั้งแก๊ส น้ำมัน และถ่านหิน จากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในอดีตทำให้เราประสบปัญหาการขาดดุล และมีปัญหาจากราคาที่ผันผวนเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จนบ่อยครั้งประสบปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเนื่องจากราคาน้ำมัน แม้กระทั่งขณะนี้ที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และอาจส่งผลทางการเมืองได้

                ดังนั้นเรื่องของความเสี่ยงจากการที่ต้องนำเข้าพลังงาน และผลด้านเศรษฐกิจ การเมืองที่เกิดขึ้นนี้ หากมีหนทางใดที่จะสามารถลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้ก็จะต้องรีบพยายามทำ ซึ่งในอดีตเทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้าจึงจำเป็นต้องพึ่งพา และนำเข้าพลังงาน แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถนำแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ทดแทนพลังงานฟอสซิลต่างๆ ซึ่งมีต้นทุนที่ถูกกว่าการไปลงทุนเผาฟอสซิล

                ดร.พิสิฐ กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นห่วงว่าวิธีคิด หรือระบบราชการ หรือนโยบายที่ทำอยู่ทุกวันนี้โดยเฉพาะในส่วนของคณะกรรมการที่เป็นผู้ชี้แจง อาจมีแนวคิดแบบเดิม ยังไม่เปลี่ยนแปลงให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เข้ามา และอาจพยายามปกป้องผู้ที่ได้ประโยชน์จากระบบเก่าโดยเฉพาะเรื่องไฟฟ้า ที่การไฟฟ้าได้รับประโยชน์ มีกำไรเป็นหลักพันล้าน หมื่นล้านจากการขายไฟฟ้า โดยไม่คิดเปลี่ยนแปลง

                ผมอยากให้เราช่วยคิดใหม่ เรามีทางไหนมั้ย ที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากแสงอาทิตย์ ที่มีอย่างเหลือเฟือ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ จริงอยู่ที่มีความพยายามทำเรื่องโซล่าร์ แต่ที่ทำทุกวันนี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของกิจการขนาดใหญ่ให้ประโยชน์ทางภาษีกับเขา แต่ผมอยากเห็นท่านกล้าหาญให้ประชาชนทุกบ้านสามารถติดตั้งโซล่าร์ได้อย่างเสรี และการไฟฟ้ารับซื้อในราคาที่สมเหตุสมผลไม่เอาเปรียบจนเกินไป” ดร.พิสิฐกล่าว

                พร้อมทั้งระบุในเรื่องการติดตั้งโซล่าร์เซลส์ว่า ตอนนี้มีต้นทุนที่ถูกมาก แต่มีขั้นตอนวิธีการลำบากมาก และตนได้ติดต่อด้วยตัวเองเพื่อขอติดตั้งโซล่าร์เซลส์พบว่าวุ่นวายมาก ทำให้มีความรู้สึกว่าเป็นความตั้งใจหรือไม่ที่ไม่ต้องการให้ประชาชนใช้โซล่าร์เซลส์เพราะต้องการปกป้องระบบที่เป็นอยู่ ปกป้องกิจการขนาดใหญ่ และสิ่งที่ทำเรื่องพลังงานทดแทนนี้เป็นเพียงเพื่อเอื้อประโยชน์กับกิจการขนาดใหญ่หรือไม่ เหตุใดจึงไม่พยายามหาวิธีการให้ประชาชนทั่วไปสามารถติดตั้งได้โดยง่าย และสามารถขายให้การไฟฟ้าได้ ซึ่งจะทำให้เป็นรายได้เสริมให้ประชาชน และลดการนำเข้าพลังงานจากน้ำมัน ถ่านหิน ลดความเสี่ยงจากการผันผวนของราคา ทำให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองดีขึ้น

                ทั้งนี้อีกไม่นานจะมีรถ EV จะเข้ามามีบทบาท จะทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จึงอยากให้เปลี่ยนความคิด แทนที่จะปกป้องกิจการขนาดใหญ่ แต่ควรเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ส่งเสริมอย่างเต็มที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชน ให้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้ง่าย และรับซื้อในราคาที่เหมาะสม

                “เกษตรกรทุกวันนี้มีรายได้จากการผลิตสินค้าเกษตร ในเยอรมันพิสูจน์แล้วว่าเกษตรกรสามารถตั้งแผงโซล่าร์ และขายไฟฟ้าได้ สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดิน ทำการเกษตรและผลิตไฟฟ้า สามารถลืมตาอ้าปากได้ มีรายได้เสริมจากรายได้เกษตร ขอวิงวอนให้คิดใหม่ ทบทวนสิ่งที่ทำ และคิดหาทางให้การติดตั้งแผงโซล่าร์โดยประชาชนสามารถทำได้ง่าย รับซื้อในราคาที่ไม่เอาเปรียบ ซึ่งจะเป็นผลทำให้เศรษฐกิจไทยมีความยั่งยืน มั่นคง มีต้นทุนต่ำ สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ ทุกวันนี้ด้วยราคาพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้เราเสียเปรียบไปพอสมควรแล้ว พลังงานแสงอาทิตย์ที่ลงมาทุกวันมันสูญเปล่าโดยเปล่าประโยชน์ ขอให้ช่วยกันนำสิ่งเหล่านี้มาให้เกิดประโยชน์ด้วย” ดร.พิสิฐ กล่าว

                ทั้งนี้หลังจากได้ฟังคำชี้แจงจากเลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในประเด็นเกี่ยวกับการไฟฟ้าประชาชนแล้ว ดร.พิสิฐ ได้ยังคงมีคำถามใน 3 ประเด็น ดังนี้

                1. ฟังแล้วพบว่ายังคงปกป้องระบบเดิมอยู่ ซึ่งจากรายงานหน้า 44 ได้มีความพยายามผลักดันให้มีการติดตั้งโซล่าร์รูฟอย่างเสรี แต่นโยบายนี้ยังคงติดขัด เพราะได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 มาถึงตอนนี้ได้มีความสำเร็จคืบหน้าหรือไม่

                2. จากการที่มีหลักการในเรื่องนี้ว่า ได้มีการรับซื้อจากประชาชน แต่ต้องไม่เป็นภาระต่อผู้รับซื้อ ก็ถือว่าเป็นหลักการที่ดี แต่การรับซื้อจากประชาชนในอัตรา 1.68 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (Kilowatt-hour) นั้น เมื่อเทียบกับต้นทุนการไฟฟ้าในขณะนี้มีส่วนต่างเป็นจำนวนเท่าใด เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้ขายไฟฟ้าที่เป็นประชาชนหรือไม่

                3. เท่าที่ได้ฟังจากคำตอบ เห็นว่ายังไม่ให้ความสำคัญกับการให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์อย่างเต็มที่ และยังคงพยายามปกป้องกลุ่มผลประโยชน์เดิม ผู้ประกอบการเดิม ยังไม่เปิดทางให้รายเล็กๆ ได้มีการใช้แสงอาทิตย์ให้เป็นประโยชน์ เช่น เรื่องการจำกัดการติดตั้งไว้ที่ 5-10 กิโลวัตต์เท่านั้น เหตุใดไม่เปิดให้สูงกว่านั้น ขณะที่มีการรับซื้อจากรายใหญ่อื่นๆ เป็นจำนวนมาก

                “ผมคิดว่าเรื่องของอนาคตประเทศ เราจะต้องใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติให้เต็มที่ แม้จะมีผลกระทบต่อฐานะการเงินของการไฟฟ้า แต่ก็จะต้องมาแก้ไขในเรื่องนั้น แต่ไม่ใช่ให้ประชาชนเสียโอกาส ในโลกนี้มีกี่ประเทศที่มีโอกาสได้รับแสงอาทิตย์อย่างประเทศไทย ชาวยุโรป ทางเหนือของเอเชีย มาเมืองไทยเพื่อได้รับประโยชน์จากแสงอาทิตย์ เพราะบ้านเมืองเรามีทรัพยากรส่วนนี้มาก ขณะที่บ้านเขามีแต่ลม และลมในปีนี้ก็ไม่ค่อยดี ทำให้เกิดวิกฤติพลังงานแม้แต่จีนเอง โลกกำลังเกิดวิกฤติพลังงาน แต่เรายังคงไม่ตื่นตัวในเรื่องนี้ว่าเรามีธรรมชาติที่เอื้อประโยชน์กับเรา จึงน่าจะเปิดเสรีให้เต็มที่ ขยับเพดานขึ้นไปให้เต็มที่ และตั้งราคาให้สมเหตุสมผล อย่างน้อยถ้าต้นทุนการใช้พลังงานจากแหล่งอื่นที่การไฟฟ้าใช้อยู่ ฟังดูแล้วยังคงเอื้อต่อการนำเข้าแก๊ส LPG มากกว่าที่จะดูแลเรื่องของโซล่าร์เซลส์” ดร.พิสิฐกล่าวในที่สุด

You may also like

วิเคราะห์เกมเศรษฐกิจโลกยุคทรัมป์ 2.0 “กรุงศรี ไพรเวทฯ” ชี้ไทยเตรียมรับมือความท้าทายครั้งใหญ่

วิเคราะห