“นาโนไฟแนนซ์”ฝืด!เสี่ยงสูง-ศก.ไม่แน่นอน
……………………………………………………………………………………………..
• ธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ รับผลกระทบจากโควิด 19 ผู้ประกอบการต่างดำเนินนโยบายให้สินเชื่ออย่างระมัดระวัง ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อชะลอตัวติดต่อกัน 2 ปีซ้อน (2562-2563) โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ในเครือธนาคารบางรายเริ่มถอนตัวจากตลาดและบางรายชะลอแผนการเข้าสู่ตลาด
• ต้นทุนการดำเนินธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ที่สูง จากการให้สินเชื่อขนาดเล็กมากและมีผู้กู้รายย่อยที่หลากหลาย เป็นปัจจัยหลักหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการที่มีฐานทุนขนาดใหญ่ถอนตัวชั่วคราวเพื่อหาโมเดลธุรกิจใหม่ ขณะเดียวกัน การชะลอการให้สินเชื่อใหม่ยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้อัตราส่วนหนี้เสียของธุรกิจเร่งตัวขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
• แนวโน้มปี 2564 คาดว่ายังเป็นปีที่ยากต่อการฟื้นตัวของธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ เนื่องจากโควิดรอบใหม่ ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายชะลอแผนการกลับเข้าตลาด ขณะที่ผลการปล่อยสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา คุณภาพสินเชื่อของธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ด้อยกว่าสินเชื่อจำนำทะเบียน ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจทั้งสองประเภท ให้น้ำหนักกับการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนมากกว่า
………………………………………………………………………………………
สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ หรือสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ เกิดขึ้นในปี 2558 โดยธนาคารแห่งประเทศไทยให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่โดยรวมของประชาชน และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอันเนื่องมาจากปัญหาหนี้นอกระบบ โดยผู้กู้เป็นบุคคลธรรมดาที่อาจไม่มีรายได้ประจำ ไม่เคยเดินบัญชีกับธนาคาร และไม่มีหลักประกัน แต่เป็นผู้มีความสามารถในการชำระหนี้ กำหนดวงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อรายไม่เกิน 1 แสนบาท และระยะเวลาชำระหนี้ขึ้นกับผู้ให้บริการกำหนดตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยในช่วง 4 ปีแรกของการดำเนินงาน บทบาทของนาโนไฟแนนซ์เพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ ก่อนจะชะลอตัวตั้งแต่ปี 2562 หลังผู้ประกอบการรายใหญ่ยุติการให้สินเชื่อใหม่เนื่องจากต้นทุนการดำเนินงานที่สูงไม่คุ้มความเสี่ยง ประกอบกับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในปี 2563-2564 เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ความเสี่ยงของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพิ่มสูงขึ้น
ลักษณะเฉพาะของกลุ่มลูกค้าสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ เป็นข้อจำกัดในการขยายธุรกิจในภาวะเศรษฐกิจขาลงในปี 2563 เนื่องจากประเด็นด้านคุณสมบัติผู้กู้ที่ไม่มีเอกสารแสดงรายได้และไม่สามารถนำสินทรัพย์ที่มีมาใช้เป็นประกันได้ ในขณะที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจกระจายตัวกว้างและลงลึกเป็นเวลานานจากสถานการณ์โควิด 19 ก่อผลกระทบต่อรายได้ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และเพิ่มความเปราะบางให้กับสถานะทางการเงินของลูกค้า ทำให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์มีความเสี่ยงสูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่น
ในปี 2562-2563 ผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์รายใหญ่ในเครือธนาคารที่อยู่ในตลาดเดิม ระงับการให้สินเชื่อใหม่ และชะลอการกลับเข้าสู่ตลาด ขณะที่บางส่วนที่มีแผนเข้าตลาดในปี 2563 ได้เลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยมีสาเหตุหลักจากต้นทุนการดำเนินงานที่สูงจากการคัดกรองลูกค้าและการติดตามหนี้ เมื่อเทียบกับวงเงินสินเชื่อและรายได้ที่เกิดขึ้นในแต่ละรอบ ขณะเดียวกัน การชะลอการให้สินเชื่อใหม่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ชะลอตัวลงติดต่อกันมาเหลือเพียงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปี 2561 สวนทางกับอัตราส่วนหนี้เสียที่เร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
แม้อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์อยู่ในระดับสูงถึง 33% แต่มีผลิตภัณฑ์สินเชื่ออื่นที่ตอบโจทย์ความเสี่ยงและการสร้างรายได้ให้ผู้ให้บริการสินเชื่อได้มากกว่าในภาวะนี้ โดยการให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ในรูปแบบเดิมของผู้ให้บริการสินเชื่อ มักเน้นไปที่ลูกค้าเก่าที่เคยมีประวัติการชำระหนี้เดิม
อย่างไรก็ตาม สินเชื่อรายย่อยที่มีหลักฐานแสดงรายได้และมีสินทรัพย์เป็นประกัน เป็นตัวเลือกที่ดีกว่าในเชิงเปรียบเทียบความเสี่ยงกับธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากมุมมองของสถาบันการเงิน ดังเห็นได้จากอัตราส่วนหนี้เสียของสินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำใกล้เคียงกับสินเชื่อเช่าซื้อรถในระบบธนาคารพาณิชย์ ซึ่งบางส่วนอาจเป็นผลในเชิงจิตวิทยาที่สร้างความตระหนักและรับผิดชอบภาระหนี้ที่เกิดขึ้น ทำให้ในปีนี้การแข่งขันของผู้ประกอบการในธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ซึ่งถือใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยหลายประเภทและมีฐานผู้ถือหุ้นเป็นสถาบันการเงิน จะทยอยเข้าสู่ตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในตลาดล่าง โดยเฉพาะสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ อันเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีระดับรายได้ใกล้เคียงกับลูกค้าในธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ แต่สามารถพิสูจน์หรือติดตามลักษณะพฤติกรรมจากการทำธุรกรรมทั่วไปได้
*สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (นาโนไฟแนนซ์) เป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ แต่ในทางปฏิบัติยากที่จะระบุได้แน่ชัด เนื่องจากเป็นอาชีพอิสระ จึงครอบคลุมถึงสินเชื่อสำหรับบุคคลทั่วไปโดยไม่จำกัดเฉพาะเพื่อประกอบอาชีพ
โดยในไตรมาส 2 ปีนี้ บริษัทร่วมทุนธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเริ่มให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 18% ต่อปี ที่เน้นกลุ่มตลาดล่างจากเป้าหมายวงเงินสินเชื่อปีนี้ที่ 2 หมื่นล้านบาท และฐานลูกค้า 1 ล้านราย โดยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเพดานดอกเบี้ยวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลฯ และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถทั่วไป ทำให้เป็นประเด็นที่ต้องติดตามว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายอาจไม่ใช่ผู้ที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบมาก่อน แต่อาจกระตุ้นให้เกิดการรีไฟแนนซ์หนี้และเป็นประโยชน์ต่อผู้กู้ในระบบเดิมมากกว่าที่จะมุ่งขยายบริการไปสู่กลุ่มลูกค้ารายย่อยใหม่
ประเด็นด้านคุณสมบัติผู้กู้และหลักประกันที่มีนัยสำคัญต่อความเสี่ยงและต้นทุนดำเนินงานในระยะที่ผ่านมา ทำให้ผู้ให้บริการมีการปรับตัวในหลายมิติ เพื่อให้กระบวนการด้านเครดิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ดังนี้
นำเสนอสินเชื่อในช่องทางดิจิทัล: เพื่อเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่มีศักยภาพ และลดต้นทุนในการบริหารจัดการลง ดังเห็นได้จากผู้เล่นที่มีธนาคารหนุนหลัง ต่างพัฒนาแอปพลิชันสำหรับนำเสนอสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์โดยผู้กู้สามารถแสดงความจำนงขอรับสินเชื่อได้ผ่านช่องทางดิจิทัล
ใช้ข้อมูลประกอบการพิจารณาสินเชื่อในลักษณะ Information based Lending: โดยร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในสาขาต่าง ๆ อาทิ อี-คอมเมิร์ซ ค้าวัสดุก่อสร้าง โลจิสติกส์ และบริการรับส่งอาหาร ซึ่งมีฐานคู่ค้าและลูกค้าจำนวนมาก เพื่อค้นหาลูกค้า รวมทั้งคัดกรองศักยภาพ และความมีวินัยในการชำระหนี้จากลักษณะพฤติกรรมในการทำธุรกรรมทั่วไป
ปรับลดขนาดวงเงินสินเชื่อลง: โดยบางแห่งเสนอสินเชื่อในกรอบวงเงิน 5,000-50,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าเพดานวงเงินสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 100,000 บาท เพื่อช่วยกระจายและลดความเสี่ยงลง
แนวโน้มการเติบโตของนาโนไฟแนนซ์ในปี 2564 อาจขยายตัวเล็กน้อยในช่วง 1-5% หลังจากที่หดตัวติดต่อในปี 2562-2563 เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่บางส่วนทยอยกลับเข้าทดลองตลาดสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์โดยผ่านบริษัทในเครือ ที่บุกเบิกช่องทางสินเชื่อนาโนดิจิทัล อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดของฐานข้อมูลที่รายงานเฉพาะยอดคงค้างสินเชื่อ ณ ช่วงเวลา ทำให้การปล่อยสินเชื่อใหม่ส่วนมากมีขนาดวงเงินเล็กมากเฉลี่ยในช่วง 5,000-20,000 บาท (แม้กรอบวงเงินสูงสุดจะกำหนดไว้ที่ 50,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 1 แสนบาทก็ตาม) และมีระยะเวลาชำระคืนสั้นไม่เกิน 1 ปี อาจไม่ถูกสะท้อนให้แสดงถึงการเติบโตของยอดคงค้างสินเชื่อ ณ สิ้นปี แม้ว่าจำนวนการหมุนรอบสินเชื่อที่เป็นเม็ดเงินสินเชื่อที่ปล่อยไปจะเติบโตดีกว่าฐานข้อมูลที่ปรากฏก็ตาม
ด้านหนี้เสียในธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ปี 2564 คาดว่ายังมีทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อนมาที่ระดับประมาณ 5.0-5.5% จากระดับ 6.1% และ 7.7% ในปี 2563 และ 2562 ตามลำดับ อันเป็นผลจากความระมัดระวังในการพิจารณาเครดิตตลอดช่วงการชะลอสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ใน 2 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เนื่องจากโมเดลธุรกิจนาโนดิจิทัลยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ทำให้ยังต้องติดตามความเสี่ยงของการให้สินเชื่อด้วยแนวทางใหม่ดังกล่าวด้วย แม้ว่าด้วยขนาดสินเชื่อที่เล็กและมีการกระจายตัวมาก ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าคงไม่มีผลต่อภาพรวมหนี้เสียอย่างมีนัยสำคัญในช่วงแรกของธุรกิจก็ตาม
ขณะที่เป้าหมายธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ปีนี้ นอกจากการบริหารความเสี่ยงแล้ว ยังมุ่งสานต่อการรุกขยายฐานลูกค้าในช่องทางดิจิทัล ควบคู่ไปกับการจับคู่ความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อสนับสนุนการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนขึ้น
กล่าวโดยสรุป แนวโน้มในธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ในปี 2564 คาดว่าจะมีการเติบโตไม่สูงนัก เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจประกอบกับสถานการณ์โควิด 19 ที่ทำให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง โดยผู้ให้บริการสินเชื่อยังมุ่งเน้นการควบคุมคุณภาพลูกหนี้และป้องกันความเสี่ยงจากการเกิดหนี้เสียในอนาคต ทั้งนี้ หากสถานการณ์โควิด 19 อยู่ในความควบคุมได้ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศทยอยกลับสู่ภาวะปกติ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การแข่งขันในตลาดสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จะกลับมา ด้วยอัตราผลตอบแทนของนาโนไฟแนนซ์ที่สูงกว่าสินเชื่อรายย่อยอื่น ทำให้มีผู้ประกอบการในเครือธนาคารรายใหญ่รอจังหวะเข้าสู่ตลาด
นอกจากนี้ กลไกการให้สินเชื่อแบบดั้งเดิมที่พิจารณาบนฐานข้อมูลด้านการเงินการธนาคารเป็นหลัก ทำให้เกิดช่องว่างที่ผู้มีศักยภาพในการชำระหนี้บางส่วนไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนในระบบ เพราะสถาบันการเงินไม่มีข้อมูลที่สะท้อนโอกาสและความเสี่ยงของคนกลุ่มนี้ แต่ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมอื่นนอกเหนือจากระบบสถาบันการเงิน จะเอื้อต่อการให้โอกาสลูกค้าให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบการเงินได้โดยไม่เพิ่มความเปราะบางต่อระบบเศรษฐกิจการเงิน เนื่องจากอยู่บนรากฐานการพิจารณาสินเชื่อที่ตระหนักถึงโอกาสและความเสี่ยงอย่างสมดุล บนความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนา
Social Links