AI ค้นหาโมเลกุลในมนุษย์ดึกดำบรรพ์
เอามาทำยาปฏิชีวนะรุ่นใหม่ที่ไม่ดื้อยา
แนวคิดเดียวกับในหนัง Jurassic Park
สุทธิชัย ทักษนันต์
Jurassic Park ปี 1993 มีฉากที่อธิบายวิธีการนำไดโนเสาร์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วกลับมาได้ โดยการสกัดดีเอ็นเอที่อยู่ในเลือดของยุงแช่แข็งที่เคยกัดไดโนเสาร์
จินตนาการในหนัง ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีไอเดียที่เป็นไปได้มากขึ้นด้วยการนำโมเลกุลที่หายไปจากโลกแล้วกลับมาใหม่ โดยใช้ AI มาช่วยทำงาน ทำให้สามารถค้นพบยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ได้เร็วขึ้น และใช้ได้ผล
Antibiotic หรือ ยาปฏิชีวนะ ผลิตจากเชื้อจุลชีพตามธรรมชาติหรือจากการสังเคราะห์ ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคปอดอักเสบ วัณโรคปอด การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ ต่อมทอนซิลอักเสบ ฯลฯ
ยาปฏิชีวนะตัวแรกของโลก คือ เพนิซิลลิน และตัวอื่นๆที่มีตามมา เช่น อะม็อกซีซิลลิน แอมพิซิลลิน อิริโทรโมซิน เตตร้าไซคลิน คลินด้าไมซิน นอร์ฟรอกซาซิน ฯลฯ
ยาปฏิชีวนะที่มีใช้อยู่ในวันนี้หลายตัว อยู่ในตลาดมานานกว่า30 ปี แบคทีเรียที่โดนเล่นงานด้วยยาปฏิชีวนะต่างๆ พยายามต่อต้านหรือมีอาการดื้อยา ทำให้ยาปฏิชีวนะที่มีอยู่ในตลาดมีประสิทธิภาพต่ำลงหรือใช้ไม่ได้ผล กว่าจะผลิตยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ขึ้นมาได้แต่ละตัว ต้องใช้เวลาทดลองนานหลายปี ผลิตไม่ทันการปรับตัวของแบคทีเรีย
แต่วันนี้มี AI ที่สามารถช่วยนักวิจัยในการคิดค้นยาใหม่ๆได้รวดเร็วขึ้น แทนที่จะต้องใช้เวลาหลายปี อาจใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์
งานวิจัยที่นำเสนอใน Nature วันที่ 28-07-2023 รายงานว่า นักวิจัยสามารถนำโปรตีนซึ่งไม่มีในปัจจุบัน แต่มีอยู่ในซากมนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่เป็นญาติของเรา คือ Neanderthals หรือ Homo Neanderthalensis และ Denisovan แล้วเอามาใช้ในการสร้างยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ได้
ผลการวิจัยพบว่า เปปไทด์ จากซากมนุษย์ดึกดำบรรพ์ สามารถนำมาสร้างเป็นยาปฏิชีวนะที่ต่อสู้กับแบคทีเรียในจานในห้องแล็บได้
สรุปให้เข้าใจง่ายขึ้นจากภาพประกอบของ ScienDirect คือ นักวิทยาศาสตร์ค้นหาโปรตีนที่สูญพันธ์จากซากมนุษย์ดึกดำบรรพ์ แล้วให้ AI ค้นหาเปปไทด์ที่น่าจะได้ผล แล้วนำไปทดลองจริง หลังจากนั้นก็ผลิตออกมาเป็นยา
การนำ AI มาช่วยผลิตยาตามแนวทางนี้ สามารถประยุกต์ใช้กับการผลิตยาต่างๆได้มากมาย
จินตนาการที่กว้างไกลของนักวิทยาศาสตร์ และ AI ที่ทำงานได้อย่างมหัศจรรย์ กำลังทำให้โลกน่าอยู่มากขึ้น….
Social Links