คาด“ส่งออก”ไตรมาสแรกแผ่ว หลังปี 60 โตกระฉูด 9.9%

คาด“ส่งออก”ไตรมาสแรกแผ่ว หลังปี 60 โตกระฉูด 9.9%

 

คาด“ส่งออก”ไตรมาสแรกแผ่ว

หลังปี 60 โตกระฉูด 9.9%

                                การส่งออกสินค้าไทยในเดือนธ.ค. 2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ชะลอตัวลงจากเดือนพ.ย. 2560 ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 13.4 YoY ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการพลิกกลับมาหดตัวของการส่งออกน้ำตาลทราย รวมถึงการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงของการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับปิโตรเลียม แต่ก็ยังช่วยหนุนการส่งออกตลอดทั้งปี 2560 ให้ขยายตัวดีที่ร้อยละ 9.9 YoY ในขณะที่การนำเข้าสินค้าไทยในเดือนธ.ค. 2560 ขยายตัวสูงเกินคาดที่ร้อยละ 16.6 YoY จากมูลค่าการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นจากทั้งทางด้านปริมาณและราคา ทำให้การนำเข้าของไทยในปี 2560 ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 14.7 YoY

                ดุลการค้าในเดือนธ.ค. 2560 ติดลบเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปี จากการนำเข้าที่โตสูงเกินคาด ในขณะที่การส่งออกขยายตัวแผ่วลงจากปัจจัยฐานในปีก่อน

                การส่งออกสินค้าไทยในเดือนสุดท้ายของปี 2560 ยังขยายตัวดี แต่แผ่วลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 8.6 YoY จากการพลิกกลับมาหดตัวสูงของการส่งออกน้ำตาล ประกอบกับการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน เช่น ยางพารา เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูปที่เริ่มอ่อนแรงลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานที่เริ่มสูงขึ้นในช่วงธ.ค. 2559 อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ยังขยายตัวดีและเป็นแรงขับเคลื่อนการส่งออกในเดือนนี้

                ในขณะที่การนำเข้าสินค้าของไทยในเดือนธ.ค. 2560 ขยายตัวสูงเกินคาดที่ร้อยละ 16.6 YoY จากการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่ขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 29.7 YoY จากทั้งทางด้านราคาและปริมาณที่เพิ่มขึ้น

                ทั้งนี้ ดุลการค้าของไทยที่ขาดดุล 278.1 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนธ.ค. 2560 ส่งผลให้ดุลการค้าตลอดทั้งปี 2560 เกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 13,930.7 ล้านดอลลาร์ฯ

                เมื่อมองไปในช่วงไตรมาสที่ 1/2561 โมเมนตัมการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะยังเป็นแรงสนับสนุนหลักของการส่งออกสินค้าไทย แต่คาดว่าจะผ่อนแรงลงจากปัจจัยฐานที่สูงในปีก่อน โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับปิโตรเลียมที่เริ่มเห็นสัญญาณการผ่อนแรงตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2560 ที่ผ่านมานอกจากนี้ มีข้อสังเกตถึงประเด็นที่ต้องติดตามซึ่งอาจจะเป็นแรงกดดันต่อการส่งออกบางสินค้าไปยังบางตลาดที่ขยายตัวสูงในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น

                ความล่าช้าในการต่อสิทธิพิเศษทางภาษีของสหรัฐฯ (GSP: Generalized System of Preferences) ที่ทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ เผชิญอัตราภาษีนำเข้าที่กลับมาสู่อัตราปกติ (MFN) โดยอัตโนมัติตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งสินค้าส่งออกที่มีอัตราภาษีเปลี่ยนไปมาก ได้แก่ กุญแจรถยนต์ มอเตอร์ อาหารปรุงแต่ง เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่เป็นเซรามิกส์ วาล์วสำหรับยางใน ของที่ทำด้วยพลาสติก ลิ้นจี่กระป๋อง แผงควบคุมไฟฟ้า กรดซิทริก มะม่วงหิมพานต์ ซอสปรุงรส เครื่องยนต์สันดาปภายใน และของใช้บนโต๊ะอาหารที่ทำด้วยเหล็กไม่เป็นสนิม ทั้งนี้ หากไทยขาดช่วงสิทธิ GSP ไม่เกิน 6 เดือน คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ อย่างไม่มีนัยสำคัญ แต่ถ้าหากขาดช่วงยาวนานกว่านั้น ก็อาจจะทำให้การส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าวไปสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้ประเทศคู่แข่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า

                การบังคับใช้กฎระเบียบที่เกี่ยวกับเงื่อนไขการผลิต การค้า และการนำเข้ารถยนต์ (Decree 116/2017/NC-CP) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2561 ของเวียดนาม ซึ่งในเนื้อหาได้มีการบังคับให้ผู้นำเข้าต้องเป็นตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ การนำเข้าทุกครั้งต้องมีการสุ่มตรวจคุณภาพรถยนต์ก่อนวางจำหน่ายในประเทศ นอกจากนี้ ผู้นำเข้ายังต้องได้เอกสารรับรองจากประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกรถยนต์ไปเวียดนาม รวมถึงจากหน่วยงานภาครัฐของเวียดนาม ดังนั้น การบังคับใช้กฎระเบียบนี้จะทำให้การนำเข้ารถยนต์มีความยุ่งยาก มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และใช้เวลาในการตรวจสอบคุณภาพก่อนวางจำหน่ายนานขึ้น แม้เวียดนามจะมีการปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์นั่งและรถปิคอัพ (รวมรถบัสและรถบรรทุก) จากอัตราร้อยละ 30 และร้อยละ 5 ในปี 2560 มาเป็นร้อยละ 0 ในปี 2561 สำหรับการนำเข้าจากกลุ่มประเทศในอาเซียนแล้วก็ตาม ทั้งนี้ ในปี 2560 ไทยมีการส่งออกรถยนต์นั่ง รถปิคอัพ รถบัส และรถบรรทุกไปเวียดนามคิดเป็นมูลค่า 589.5 ล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.3 ของมูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่ง รถปิคอัพ รถบัส และรถบรรทุกทั้งหมดของไทย

                ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกและนำเข้าสินค้าไทยตลอดทั้งปี 2561 ไว้ที่ร้อยละ 4.5 และร้อยละ 8.0 โดยในช่วงที่เหลือของปี 2561 ยังต้องติดตามประเด็นการต่ออายุ GSP การกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ตลอดจนค่าเงินบาทที่จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ฯ จากปัจจัยทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศ ท่ามกลางปัจจัยพื้นฐานจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงต่อเนื่องในปี 2561 ที่ราวร้อยละ 9 ต่อจีดีพี

 

 

You may also like

อานิสงส์สงครามการค้า หนุนส่งออกไทยเดือน ต.ค.โตพุ่ง  14.6%

  การส่ง