AI แยกประเภทยุงด้วยการมองและฟัง
ตรวจหาสายพันธุ์ยุงพาหะ มาลาเรีย
ยุ่งฆ่าคนแต่ละปีมากกว่า 600,000 คน
สุทธิชัย ทักษนันต์
ยุงก้นปล่องเพศเมีย (Anopheles) เป็นต้นเหตุของการแพร่เชื้อมาลาเรีย ซึ่งฆ่าคนทั่วโลกทุกๆปี ปีละมากกว่า 600,000 คน
มียุงประมาณ 3,500 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีรูปร่างคล้ายกันมาก หากต้องการแยกให้ออกว่าเป็นชนิดไหนต้องมองผ่านกล้องจุลทรรศน์ และใช้สายตาของผู้ชำนาญเท่านั้น
ยุงแต่ละสายพันธุ์แพร่เชื้อโรคต่างชนิดกัน การจัดการกับยุงต่างสายพันธุ์กัน ต้องใช้เครื่องมือต่างกัน ยาฆ่าแมลงที่แตกต่างกัน
วันนี้เรากำลังจะใช้ AI เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับยุง
เทคโนโลยี AI ในรถไร้คนขับที่มีกล้องคอยมองว่ารอบๆมีอะไร และใช้ไมค์แยกเสียงต่างๆรอบข้าง เป็นเทคโนโลยีเดียวกันที่ทำให้สามารถตรวจจับหายุงก้นปล่องที่เป็นตัวแพร่เชื้อมาลาเรียได้
VectorCam เป็นเทคโนโลยีที่น่าตื่นเต้นซึ่งเริ่มใช้ได้จริงแล้ว เพียงแค่ใช้โทรศัพท์มือถือร่วมกับ VectorCam แล้วตรวจสอบยุงจากภาพโดยแอปที่ทำงานด้วย AI ก็สามารถแยกแยะประเภทของยุงได้ทันที
เมื่อรู้ว่าพื้นที่นั้นมีสายพันธุ์ยุงที่เป็นภัยต่อมนุษย์ ก็สามารถเริ่มจัดการฆ่ายุงอย่างจริงจังได้ โดยเลือกวิธีจัดการหรือเลือกยาฆ่าแมลงที่ถูกต้อง
เราสามารถจำกัดพื้นที่ในการกำจัดยุงได้ ไม่ต้องฆ่ายุงทุกชนิด ไม่กระทบต่อระบบนิเวศ และสร้างมลพิษจากฆ่าแมลงน้อยลง
VectorCam เป็นโครงการที่พัฒนาโดยทีมงานจาก Johns Hopkins University และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานควบคุมมาลาเรียของประเทศยูกันดา โดยมี Gates Foundation ของ บิล เกตส์ เป็นผู้สนับสนุนหลัก
นอกเหนือจากการใช้ AI มองแล้วแยกแยะสายพันธุ์ยุงได้แล้ว วันนี้ยังมีอีกแอปชื่อ HumBug ที่กำลังพัฒนาการแยกแยะประเภทยุงด้วยการฟังเสียง เพียงแค่ได้ยินเสียงบินของยุง AI ก็จะแยกออกได้ว่ามันเป็นยุงสายพันธุ์ไหน
บิล เกตส์ มีเป้าหมายที่จะลดจำนวนคนตายจากปีละมากกว่า 600,000 คน ให้เป็น 0 คน เขากำลังพัฒนาวัคซีน และ AI เพื่อต่อสู้กับยุง ศัตรูตัวร้ายที่สุดของมนุษย์!!!
Social Links