ปรับเปลี่ยนธุรกิจเอสเอ็มอีสู่ดิจิทัล กุญแจสำคัญสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19

ปรับเปลี่ยนธุรกิจเอสเอ็มอีสู่ดิจิทัล กุญแจสำคัญสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19

ปรับเปลี่ยนธุรกิจเอสเอ็มอีสู่ดิจิทัล

กุญแจสำคัญสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19

โดย นางสาวสิรินันท์ จิรดิลก ผู้อำนวยการอาวุโส Digital Engagement & FinTech Innovation ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย

                การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จำเป็นต้องเร่งการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลภายในเวลาอันรวดเร็ว  ที่สำคัญเอสเอ็มอีที่ปรับธุรกิจสู่ดิจิทัลแล้วจะกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายหลังวิกฤตการณ์ครั้งนี้

                รัฐบาลได้ประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์ในหลายๆ พื้นที่ รวมทั้งสั่งปิดสถานศึกษาและธุรกิจห้างร้านต่างๆ เป็นการชั่วคราว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด โดยบริษัทจำนวนมากต้องปรับเปลี่ยนไปสู่รูปแบบการทำงานจากที่บ้าน  องค์กรในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ อาทิ ค้าปลีก ท่องเที่ยว ส่วนใหญ่จะเป็นเอสเอ็มอีและธุรกิจที่ยังไม่ได้ปรับองค์กรด้วยดิจิทัลทำให้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์การแพร่ระบาด

                ท่ามกลางภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เอสเอ็มอีจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัลอย่างเป็นการเร่งด่วน (Digital Transformation – DX)

                สอดคล้องกับผลสำรวจ “ASEAN SME Transformation Study 2020”  โดยธนาคารยูโอบี ร่วมกับแอคเซนเจอร์ และดันแอนด์แบรดสตรีท ชี้กว่า 2 ใน 3 ของธุรกิจเอสเอ็มอี (ร้อยละ 64) ในภูมิภาคอาเซียนได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีเป็นอันดับแรก เพื่อช่วยในการดำเนินธุรกิจช่วงสถานการณ์โควิด-19  ทั้งนี้เอสเอ็มอีในประเทศไทยจำนวนถึง 3 ใน 4  (ร้อยละ 71) ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีเป็นลำดับแรก และเป็นที่น่าสังเกตว่าแม้จะมีความท้าทายจากรายได้ที่ลดลง แต่เอสเอ็มอี ในอาเซียนยังคงวางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี แสดงให้เห็นว่าเอสเอ็มอีในกลุ่มอาเซียน ต่างมองข้ามความท้าทายในปัจจุบัน และเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว

                นอกเหนือจากการลงทุนด้านเทคโนโลยีแล้ว เอสเอ็มอีต้องแน่ใจว่าฟังก์ชันทางธุรกิจทั้งหมดพร้อมแล้วสำหรับกระบวนการปรับสู่ดิจิทัล แม้ว่าจะสามารถนำระบบอัตโนมัติต่างๆ เข้ามาแทนกระบวนการทำงานที่ต้องทำด้วยตัวเองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ สิ่งสำคัญคือเจ้าของธุรกิจและผู้บริหารระดับสูงจะต้องปรับใช้แนวคิดที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีและโซลูชันด้านดิจิทัลต่างๆ มาใช้ได้อย่างรวดเร็ว

            ตามรายงานของ Digital Transformation: Reshaping The Way  We Work   โดยธนาคารยูโอบี  ร่วมกับ Digital Reality บริษัทให้คำปรึกษาและบริหารจัดการธุรกิจดิจิทัล ได้แนะนำเอสเอ็มอีในการเริ่มต้นเส้นทางธุรกิจดิจิทัลด้วยกรอบแนวคิด 'ASSESS' ซึ่งประกอบด้วย

                1.Ascertain the problem(s): ตรวจสอบปัญหา อันดับแรก เอสเอ็มอีจะต้องระบุปัญหา/ความท้าทายที่สำคัญที่องค์กรกำลังเผชิญอยู่ และวิเคราะห์ว่ามีขั้นตอนหรือกระบวนการไหนบ้างที่พนักงานใช้เวลามากเกินไปในดำเนินการ

                2.Set goals:  กำหนดเป้าหมาย จากนั้น เอสเอ็มอีจะต้องกำหนดเป้าหมายและระบุส่วนงาน / กระบวนการที่ต้องการปรับปรุงเพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัล  เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอียังคงขีดความสามารถด้านการแข่งขันในตลาดได้อย่างเหมาะสม

                3.Select partners : ค้นหาพันธมิตรทางธุรกิจ หลังจากที่กำหนดเป้าหมายแล้ว เอสเอ็มอีจะต้องเลือกพันธมิตรเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัล ซึ่งมาจากหลากหลายกลุ่ม ขึ้นอยู่กับขอบเขตการปรับองค์กรสู่ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรที่เป็นบริษัทผู้จัดหาเทคโนโลยีหรือดิจิทัลโซลูชันโดยตรง นอกจากนี้การเป็นพันธมิตรกับ อาทิ ธนาคาร อาจช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงไปถึงการขอรับสิทธิประโยชน์ / เงินช่วยเหลือจากภาครัฐเพราะการเลือกพันธมิตรที่ได้รับการยอมรับจากภาครัฐ จะยิ่งเป็นโอกาสที่ดีในการได้รับการสนับสนุนแบบไม่มีค่าใช้จ่าย

                4.Empower employees: เสริมสร้างขีดความสามารถให้กับพนักงาน เมื่อเอสเอ็มอีจะปรับตัว ฟันเฟืองขับเคลื่อนองค์กรชิ้นสำคัญอย่างพนักงานจึงต้องมีความพร้อมในการก้าวสู่ดิจิทัลด้วยเช่นกัน เอสเอ็มอีจึงต้องจัดฝึกอบรม ให้ความรู้ให้แก่พนักงาน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างทักษะ เพื่อเตรียมพร้อมและให้เห็นประโยชน์ของการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัลที่จะช่วยให้ชีวิตการทำงานของพวกเขาดีขึ้น

                5.Streamline processes: เพิ่มความคล่องตัวให้กับกระบวนการทำงาน เนื่องจากการปรับเปลี่ยนเอสเอ็มอีสู่ดิจิทัลอาจสร้างแรงกดดันให้กับพนักงานที่ไม่คุ้นเคยกับความเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ดังนั้นจึงควรรวมพนักงาน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการนำโซลูชัน หรือเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาทดลองใช้ เพื่อชี้ให้เห็นว่าเครื่องมือดิจิทัลต่างๆ ที่องค์กรนำเข้ามาใช้ จะช่วยแก้ปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่อย่างไร นอกจากจะทำให้พนักงานรู้สึกว่าพวกเขาอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลง ก็จะเห็นถึงประโยชน์และยอมรับได้ง่ายขึ้น

                6.Support forward-thinking ideas: สนับสนุนไอเดียที่ก้าวล้ำ: เอสเอ็มอีจำเป็นที่จะต้องเปิดกว้างยอมรับนวัตกรรมและไอเดียใหม่ๆ  สภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนการคิดค้นและเสนอแนะสิ่งใหม่ๆ จะช่วยให้เอสเอ็มอีประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัล

                นอกจากกรอบแนวคิด 6 ข้อที่ช่วยเอสเอ็มอีวางแนวทางปรับองค์กรสู่ดิจิทัลเบื้องต้นได้แล้ว เอสเอ็มอียังสามารถมองหาทางลัดต่างๆ ในประเทศที่จะช่วยบ่มเพาะและเอสเอ็มอีไปสู่จุดหมายได้อย่างเร็วขึ้น หนึ่งในทางลัดที่ได้สนับสนุนเอสเอ็มอีให้ปรับองค์กร คือโครงการ Smart Business Transformation (SBTP)  ดำเนินการโดย ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย และเดอะ ฟินแล็บ นับตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งได้ช่วยให้เอสเอ็มอีนำเครื่องมือทางธุรกิจและดิจิทัลโซลูชันไปใช้ได้ตรงกับความต้องการของธุรกิจ ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ต้นทุนลดลง ตลอดจนปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจต่างๆ รวมถึงสร้างทัศนคติและความคิดดิจิทัลให้เกิดขึ้นในองค์กร นอกจากนี้ ยังช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงข้อมูลและแหล่งเงินทุนในการนำเทคโนโลยีมาใช้อีกด้วย

                ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดส่งผลกระทบในระยะยาว แรงขับเคลื่อนสำหรับการเปลี่ยนสู่ธุรกิจดิจิทัล จะค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นสืบเนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิต การทำงาน ความบันเทิงที่เปลี่ยนไป  ความเปลี่ยนแปลงที่เราพบเห็นในวันนี้เทียบกันไม่ได้เลยกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่รออยู่เบื้องหน้า  ธุรกิจเอสเอ็มอีจะต้องเริ่มต้นเปลี่ยนสู่ดิจิทัล นับตั้งแต่วันนี้เพื่อก้าวให้ทันกับกระแสความเปลี่ยนแปลง ควบคู่ไปกับการรักษาธุรกิจให้อยู่รอดและเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขัน

                สำหรับเอสเอ็มอีที่สนใจปรับเปลี่ยนสู่ธุรกิจดิจิทัล หรือกำลังปรับเปลี่ยน  สามารถเยี่ยมชมรายละเอียดโครงการ SBTP หรือลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ https://thefinlab.com/thailand/ ได้ทันที

You may also like

“เฉลิมชัย-ประชาธิปัตย์“ห่วงปัญหาเหลื่อมล้ำ จัดเวทีนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเดโมแครต ฟอรั่ม” ขจัดการผูกขาด: ลดเหลื่อมล้ำแก้จน”

“เ