ททท. ชี้กระแส Sport Tourism  มาแรง! แนะเอกชนปรับตัว จัดท่องเที่ยวเชิงกีฬาวิถีใหม่ และใส่ใจความยั่งยืน

ททท. ชี้กระแส Sport Tourism  มาแรง! แนะเอกชนปรับตัว จัดท่องเที่ยวเชิงกีฬาวิถีใหม่ และใส่ใจความยั่งยืน

ททท. ชี้กระแส Sport Tourism  มาแรง!

แนะเอกชนปรับตัว จัดท่องเที่ยวเชิงกีฬาวิถีใหม่ และใส่ใจความยั่งยืน

                                ……………………………………………………….

      –          แนะปรับตัวจัดงานแบบ Virtual events และ Hybrid  รวมทั้งนำสื่อดิจิทัลมาใช้

     –           เผย E-sports และการผสมผสานเทคโนโลยีได้รับความนิยมต่อเนื่อง

    –           การท่องเที่ยวเชิงกีฬาประเภทเดี่ยวหรือกีฬาที่เล่นคนเดียวจะได้รับความนิยมมากขึ้น

    –           ย้ำยังคงต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยในระบบสาธารณสุข และความยั่งยืน

                                 ………………………………………………………….           

                นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมการจัดงาน หรือ Event Industry เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งยืดเยื้อมานานเกือบ 3 ปีแล้ว ส่งผลกระทบให้การเดินทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกหยุดชะงัก กระทั่งสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และทั่วโลกเริ่มปลดล็อกการเดินทาง ททท. จึงพยายามผลักดันให้ภาคธุรกิจเร่งปรับตัว พัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวมิติใหม่ ๆ ที่ใส่ใจและคำนึงถึงความปลอดภัยในระบบสาธารณสุข ควบคู่ไปพร้อมกับการสร้างสรรค์กิจกรรมให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน 

                รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท. เปิดเผยว่า จากการติดตามเทรนด์การท่องเที่ยวทั่วโลก พบว่าการท่องเที่ยวเชิงกีฬามีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นสูงสุด หลายประเทศส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการนำเอากีฬาเข้ามารวมกับการท่องเที่ยว เกิดเป็นกิจกรรมหรือสินค้าการท่องเที่ยวที่สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่เข้าชมหรือเข้าร่วมการแข่งขันกีฬา 

                นอกจากนั้นแล้ว ทั่วโลกยังได้ปรับรูปแบบกิจกรรรมการท่องเที่ยวเชิงกีฬาให้เหมาะสม สอดรับกับสถานการณ์การท่องเที่ยววิถีใหม่ New Normal โดยภาคธุรกิจและผู้จัดงานที่เกี่ยวข้องได้ปรับตัวภายใต้ 3 ทิศทางที่สำคัญ คือ

                1)            การจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงกีฬาโดยนำเอาเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการแข่งขันมากขึ้น เช่น

                –               Virtual Events การสัมผัสประสบการณ์ทางเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) บนโลกเสมือน Metaverse

                –               Hybrid Events การจัดงานผสมผสานองค์ประกอบแบบ Live และ Virtual เข้าด้วยกัน

ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยม

                –               Live Event with Contactless Experiences การนำเอานวัตกรรมใหม่ ๆ (Innovation) และสื่อดิจิทัล (Digital Media) เข้ามามีบทบาทในการจัดงานมากขึ้น

                2)            เทรนด์ e-Sports กับการผสมผสานเทคโนโลยี (Emergence of e-Sports and Infusion of Technology) ทั้งนี้ กิจกรรม e-Sports เป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มมิลเลเนียลซึ่งชื่นชอบการเล่นเกมออนไลน์ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดชี้ว่า ตลาด e-Sports จะเป็นกิจกรรมที่ทำกำไรได้มากที่สุดในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงกีฬาทั่วโลก

                3)            การท่องเที่ยวเชิงกีฬาประเภทเดี่ยวหรือกีฬาที่เล่นคนเดียว (Individual Sports) มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น การทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ระหว่างคนที่รู้จักกัน อาทิ การเดินทางไปชมกีฬาร่วมกันจะได้รับความนิยมสูงขึ้น

ททท.เผยแพร่ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวด้านกีฬา

                ทั้งนี้ นายอภิชัย กล่าวว่า ในปี 2565 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา โดยสร้างการรับรู้และกระตุ้นความต้องการในการเดินทางของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Sport Tourism ให้เกิดการเดินทางและกระจายรายได้สู่พื้นที่ต่าง ๆ ในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ โดยจัดทำข้อมูลสินค้าการท่องเที่ยวเชิงกีฬา นำเสนอข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวด้านกีฬาใหม่ ๆ อาทิ Golf & Sport Tourism และ 50 Shades of Blues (กีฬาทางทะเล) รวมถึงการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงกีฬา อาทิ Amazing Sports & Extreme Month (เทศกาลว่าวนานาชาติ, ไตรกีฬาจักรยานทางไกล, Amazing Multi Surf Festival และ Amazing Thailand City Run ที่จะมีขึ้นในปีนี้

                เพื่อเป็นการตอบรับกับทิศทางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ททท. จึงมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้การจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงกีฬาเกิดขึ้นภายใต้แนวคิด BCG เน้นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เนื่องจากการจัดกิจกรรมกีฬาใหญ่ ๆ หลายครั้งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสร้างขยะจำนวนมาก 

                การจัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด BCG อาทิ การจัดหาสถานที่จัดงานโดยมีแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม การจัดทำ E-Tickets ลดการใช้อุปกรณ์ซึ่งทำจากกระดาษที่ไม่จำเป็น การบริหารจัดการการกำจัดขยะและของเสีย การนำเสนออาหารท้องถิ่นตามฤดูกาล และการสนับสนุนการเดินทางด้วยรถสาธารณะหรือยานพาหนะ ที่มลพิษน้อย ฯลฯ นอกจากจะเอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้เข้าร่วมการแข่งขันและผู้ชมแล้ว ยังสร้างรายได้ให้กับชุมชนและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ที่จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามมาอีกด้วย

 

 

 

 

You may also like

เปิดตัวดัชนีชี้วัดความปลอดภัยของเด็ก บนโลกออนไลน์ทั้งในระดับชาติและระดับโลก

เปิดตัวด