Booking.com เผยผลสำรวจผู้เดินทาง
คนไทย 94% ฟันธง-การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนคือเรื่อง ‘จำเป็น’
รายงานด้านการเดินทางอย่างยั่งยืนประจำปี 2564 จาก Booking.com ชี้ให้เห็นว่า “ผลกระทบจากการแพร่ระบาด” สามารถส่งเสริมความตั้งใจในการเดินทางอย่างยั่งยืน และนำสู่การการลงมือทำที่สร้างความเปลี่ยนแปลงจริงในหมู่คนไทยได้อย่างไร
………………………………………………………………………………………
94% ของผู้เดินทางชาวไทยคิดว่าการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนนั้นสำคัญอย่างมาก โดย 78% ระบุว่า การแพร่ระบาดใหญ่ครั้งนี้ส่งผลให้ต้องการเดินทางอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้นในอนาคต
ผู้เดินทางมากกว่าครึ่ง (66%) เชื่อว่าในปี 2564 ก็จะยังไม่มีตัวเลือกที่มากพอสำหรับการเดินทางอย่างยั่งยืน และ 66% ยอมรับว่า รู้สึกหงุดหงิดหากที่พักที่เลือกเข้าพักไม่เอื้อให้พวกเขาสร้างความยั่งยืน เช่น ไม่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ หรือสิ่งของอำนวยความสะดวกที่สามารถรีไซเคิลได้
ในขณะที่ผู้ให้บริการที่พักจำนวน 3 ใน 4 รายระบุว่า พวกเขาได้นำบางส่วนของแนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนมาปรับใช้กับที่พักแล้ว โดยมีที่พักจำนวน 1 ใน 3 เท่านั้นที่ทำการสื่อสารเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของตน ไปยังลูกค้าที่มีแนวโน้มจะมาเป็นผู้เข้าพัก เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสที่ผู้เดินทางจะสามารถเข้าถึงตัวเลือกการเข้าพักแบบยั่งยืนได้สะดวกยิ่งขึ้น ตอนนี้บนแพลตฟอร์ม Booking.com ได้แสดงใบรับรองมาตรฐานด้านความยั่งยืนจากองค์กรเพื่อความยั่งยืนในระดับสากล รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางด้านความยั่งยืนที่มีประสิทธิภาพกว่า 30 รายการ ซึ่งที่พักหลายแสนแห่งทั่วโลกได้นำมาปรับใช้
…………………………………………………………………………………………………
ผลการสำรวจข้อมูลล่าสุดจาก Booking.com ที่รวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากความคิดเห็นของผู้เดินทางกว่า 29,000 คนใน 30 ประเทศ เผยให้เห็นว่าการแพร่ระบาดได้กระตุ้นให้ผู้เดินทางมุ่งมั่นที่จะเริ่มต้นการเดินทางท่องเที่ยวในวิถียั่งยืน ซึ่ง 87% ของผู้เดินทางชาวไทยเชื่อว่าผู้คนต้องลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้เพื่อรักษาโลกใบนี้ไว้ให้คนรุ่นต่อไป ในขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง รายงานด้านการเดินทางอย่างยั่งยืนประจำปี 2564 ของ Booking.com เผยว่าผู้เดินทางมุ่งมั่นที่จะเดินทางอย่างยั่งยืนด้วยความใส่ใจมากกว่าที่เคย โดย 78% ของผู้เดินทางชาวไทยกล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเปลี่ยนให้พวกเขาต้องการเดินทางแบบยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต และ 66% ยอมรับว่าการแพร่ระบาดได้เปลี่ยนทัศนคติให้พวกเขาลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในชีวิตประจำวัน อาทิ การรีไซเคิล (50%) และการลดขยะอาหาร (28%) ซึ่งพวกเขาให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ
จากผลการสำรวจในปีนี้ แสดงให้เห็นว่าความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามแนวทางเพื่อความยั่งยืนในแต่ละวันของผู้เดินทาง สอดคล้องกับความตั้งใจที่จะออกท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในทริปต่อ ๆ ไป โดย 94% ของผู้เดินทางชาวไทยต้องการลดปริมาณขยะทั่วไป ส่วน 91% ตั้งใจลดการใช้พลังงาน (เช่น ปิดแอร์ และปิดไฟในห้องพักในเวลาที่ออกไปข้างนอก) และ 85% ต้องการใช้ตัวเลือกในการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การเดิน การปั่นจักรยาน หรือใช้บริการรถขนส่งสาธารณะ แทนที่จะใช้แท็กซี่หรือรถเช่า นอกจากนั้นผู้เดินทางยังเคารพและให้ความสำคัญต่อชุมชนท้องถิ่นมาเป็นอันดับต้น ๆ เช่นกัน เพราะในระหว่างการเดินทาง 85% ของผู้เดินทางชาวไทย ต้องการสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวที่สะท้อนวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นนั้นๆ อย่างแท้จริง ส่วน 91% เชื่อว่าการเร่งสร้างความเข้าใจด้านวัฒนธรรม และการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ในขณะที่ 85% ต้องการมั่นใจว่าผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะถูกกระจายไปสู่คนทุกระดับในสังคม
นอกจากนี้ 87% ของนักท่องเที่ยวชาวไทย ต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น ไปถึงขั้นเลี่ยงจุดหมายและสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยม เพื่อให้มั่นใจว่าตนจะไม่มีส่วนทำให้เกิดปัญหานักท่องเที่ยวล้น และเพื่อช่วยกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่น ด้วยการช่วยในส่วนที่ตนเองทำได้อย่างการเดินทางไปยังจุดหมายและชุมชนที่มีผู้คนไปเยือนน้อย
ทำลายอุปสรรคที่มีต่อการเดินทางอย่างยั่งยืน
เป็นเรื่องที่น่ายินดีมากที่ผลสำรวจเผยว่านี่ไม่ได้เป็นเพียงความตั้งใจดี ๆ ของผู้เดินทางเท่านั้น เพราะมีความมุ่งมั่นมากมายที่กำลังบังเกิดผล โดยระหว่างการไปทริปท่องเที่ยวในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาของผู้เดินทาง ผลสำรวจข้อมูล พบว่า 47% ของผู้เดินทางชาวไทยต่างไม่ลืมปิดเครื่องปรับอากาศในที่พักตอนไม่ได้อยู่ในห้อง ส่วน 48% พกขวดน้ำที่ใช้ซ้ำได้ไปเอง แทนที่จะซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดระหว่างออกทริป และ 51% ได้ทำกิจกรรมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น และอันที่จริงแล้วผู้เดินทางชาวไทยมากกว่าครึ่ง (66%) ยอมรับว่า รู้สึกหงุดหงิดหากที่พักที่เลือกเข้าพักไม่เอื้อให้พวกเขาสร้างความยั่งยืน เช่น ไม่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ หรือสิ่งของอำนวยความสะดวกที่สามารถรีไซเคิลได้
ในขณะเดียวกัน 98% ของผู้เดินทางชาวไทย กล่าวว่า ต้องการเข้าพักในที่พักรักษ์โลกที่ยึดหลักความยั่งยืนในปีที่จะถึงนี้ และอันที่จริงแล้วจาก 14% ของผู้เดินทางชาวไทยที่กล่าวว่าเมื่อปีก่อนไม่ได้เข้าพักในที่พักรักษ์โลก มีผู้เดินทาง 24% ในกลุ่มดังกล่าวระบุว่า พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีที่พักเช่นนี้อยู่ และ 47% ระบุว่า พวกเขาไม่พบตัวเลือกแบบนี้เลยในจุดหมายที่ไปมา และ 39% กล่าวว่าไม่รู้วิธีหาที่พักรักษ์โลกเหล่านี้ ยิ่งไปกว่านั้น 66% ของผู้เดินทางชาวไทยเชื่อว่าในปี 2564 ก็จะยังไม่มีตัวเลือกที่มากพอสำหรับการเดินทางอย่างยั่งยืน
เมื่อพูดถึงความตระหนักและความตั้งใจ ดูเหมือนว่าผู้เดินทางและที่พักจะเห็นด้วยไปในแนวทางเดียวกัน โดยการสำรวจข้อมูลครั้งใหม่ เผยว่าจากการสอบถามที่พักคู่ค้าของ Booking.com มีที่พักคู่ค้าถึง 82%** ที่เชื่อว่าความยั่งยืนในแวดวงการให้บริการนั้นมีความสำคัญ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับ 94% ของผู้เดินทางชาวไทยที่เชื่อเช่นกันว่าการเดินทางอย่างยั่งยืนเป็นประเด็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่พักคู่ค้าจาก 3 ใน 4** ได้เริ่มนำขั้นตอนต่าง ๆ เข้ามาปรับใช้เพื่อความยั่งยืนในที่พักแล้ว แต่มีเพียง 1 ใน 3 (31%**) เท่านั้นที่ทำการสื่อสารเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของตน ไปยังลูกค้าที่มีแนวโน้มจะมาเป็นผู้เข้าพัก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ให้บริการที่พักจะสื่อสารตอนที่ผู้เดินทางกำลังเช็คอินภายในที่พัก (59%**) ข้อมูลชี้ให้เห็นถึงความท้าทายในเส้นทางสู่ความยั่งยืนดังกล่าว ว่าเหล่าผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวควรทำอย่างไร เพื่อให้ผู้เดินทางสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านความยั่งยืนได้ง่ายดาย ตั้งแต่ช่วงต้น ๆ ของกระบวนการจองที่พัก
ปิดช่องโหว่ไปทีละขั้น เพื่อก้าวสู่ความยั่งยืนไปด้วยกัน
Booking.com มีพันธกิจที่จะช่วยให้ทุกคนออกไปสำรวจโลกกว้างได้ง่ายดายยิ่งขึ้น และในฐานะผู้นำในธุรกิจการท่องเที่ยว Booking.com กำลังก้าวสู่ช่วงเวลาสำคัญในการผลักดันให้การเดินทางอย่างยั่งยืนของทั้งนักเดินทางและที่พักคู่ค้าเป็นเรื่องที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น นั่นคือเหตุผลที่ Booking.com เปิดตัวโปรแกรมด้านการเดินทางอย่างยั่งยืน เพื่อให้ที่พักคู่ค้าสามารถดำเนินการ เพื่อสนับสนุนให้ผู้เดินทางได้ก้าวสู่อีกขั้นของการเดินทางอย่างยั่งยืน ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่จุดใดในเส้นทางเหล่านั้นก็ตาม โปรแกรมดังกล่าวประกอบไปด้วย การเผยแพร่คำแนะนำ ข้อมูลเชิงลึก และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดแก่ที่พักคู่ค้า ผ่านการรูปแบบการถ่ายทอดความรู้ในหลายช่องทาง ได้แก่ คู่มือแนะนำแนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืน และคอนเทนต์ที่น่าสนใจ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้สามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดายผ่านศูนย์ข้อมูล Partner Hub ของเรา
ปัจจุบันแพลตฟอร์ม Booking.com ได้มีการเริ่มนำเสนอประกาศนียบัตรที่รับรองมาตรฐานด้านความยั่งยืนกว่า 30 รายการ ที่ถูกรับรองโดยองค์กรเพื่อความยั่งยืนในระดับสากลทั้ง Global Sustainable Tourism Council (GSTC), Green Tourism และ EU Ecolabel รวมทั้งโครงการเพื่อความยั่งยืนของเครือโรงแรมต่างๆ โดย Booking.com ดึงข้อมูลนี้มาโดยตรงจากองค์กรที่ให้การรับรอง และแสดงข้อมูลดังกล่าวบนหน้าข้อมูลที่พักของคู่ค้าที่ได้รับการรับรองเหล่านั้น นอกเหนือไปจากการแสดงใบรับรอง Booking.com ยังกระตุ้นให้ที่พักคู่ค้าอัปเดตข้อมูลด้านความยั่งยืนให้แสดงบนหน้าข้อมูลที่พัก โดยข้อมูลประกอบไปด้วย 32 แนวทางที่มีประสิทธิภาพใน 5 หัวข้อหลัก ได้แก่ ขยะ, พลังงานกับก๊าซเรือนกระจก, น้ำ, การสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น และการอนุรักษ์ธรรมชาติ จากการเปิดตัวไปทั่วโลกครั้งนี้ ที่พักหลายแสนแห่งทั่วโลกได้เริ่มแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืน ที่พวกเขาได้นำปรับใช้ในที่พัก กับทาง Booking.com แล้ว และข้อมูลดังกล่าวสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดายโดยเพียงแค่คลิกที่แบนเนอร์ “แนวทางเพื่อความยั่งยืน” ในหน้าข้อมูลที่พักแต่ละแห่ง
“เราได้ทำการสำรวจข้อมูลด้านการเดินทางอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่องมามากกว่า 6 ปี ข้อมูลที่เราได้รู้ถือเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเราที่ Booking.com เพราะเราได้เห็นว่าการตระหนักถึงความสำคัญของการเดินทางอย่างยั่งยืนนั้นมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ทั้งจากผู้เดินทางและจากที่พักคู่ค้าของเราด้วยเช่นกัน” มาริแอน กิบเบิลส์ (Marianne Gybels) ผู้อำนวยการสายงานความยั่งยืน ของ Booking.com กล่าวเสริมว่า “ทุกฝ่ายต่างมีความตั้งใจที่ดี แต่เรายังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากเพื่อทำให้การเดินทางอย่างยั่งยืนกลายเป็นตัวเลือกที่เข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้นสำหรับทุกคน ยิ่งเราช่วยให้ที่พักคู่ค้าเข้าใจและปรับใช้แนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนได้มากเท่าใด เราก็ยิ่งมีโอกาสในการทดลองเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้แก่ผู้บริโภคได้มากขึ้นเท่านั้น และในที่สุดเราก็จะค้นพบวิธีที่เหมาะสมในการเผยแพร่ข้อมูลด้านความยั่งยืนให้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจของผู้เดินทางได้อย่างชัดเจนและโปร่งใส การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ อาทิ การเลิกใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง หรือเปลี่ยนมาใช้หลอด LED ประหยัดไฟ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยที่ถ้าต่างคนต่างทำอาจจะไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้ แต่ถ้าผู้เดินทาง และเจ้าของที่พักหลายล้านรายจากทั่วโลกหันมาร่วมมือร่วมใจกัน ก้าวเล็กๆ เหล่านี้อาจรวมเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่ใหญ่ยิ่งได้ในท้ายที่สุด”
Social Links