CADT DPU เปิดศูนย์ฝึกบินด้วยเครื่องช่วยฝึกจําลอง
ขยายโอกาสนักศึกษา-บุคคลทั่วไปเรียนรู้
รองรับอุตสาหกรรมการบินฟื้นตัว
CADT DPU เปิดศูนย์ฝึกบินด้วยเครื่องช่วยฝึกบินจําลอง “Flight Simulator BANGKOK” ตอบโจทย์ผลิตบุคลากรด้านการบินครบวงจร พร้อมฝึกอบรม ขยายโอกาสนักศึกษา บุคคลทั่วไปเรียนรู้การบิน รองรับอุตสาหกรรมการบินที่กลับมาฟื้นตัวและมีอัตราการเติบโตสูง ครบรอบ 6 ปี ย้ำนโยบายชัด ก้าวสู่เป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินที่ครบวงจร แหล่งเรียนรู้การบินไม่จำกัดวัย
ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU เป็นประธานในพิธี “เปิดศูนย์ฝึกบินด้วยเครื่องช่วยฝึกบินจําลอง Flight Simulator BANGKOK” จัดโดย วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน(CADT) และสถาบันการบิน มธบ. เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2565 ที่ผ่านมา ซึ่งมีนาวาอากาศตรี ดร. วัฒนา มานนท์ คณบดี CADT และผู้อำนวยการสถาบันการบิน มธบ. พร้อมด้วยตัวแทนที่เกี่ยวข้องกับการบิน ไม่ว่าจะเป็น ตัวแทนจากสายการบิน หน่วยงานการบิน โรงเรียนการบิน และมหาวิทยาลัยที่สอนด้านการบิน เข้าร่วมงานจำนวนมาก
ซึ่งดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU กล่าวว่า DPU มีความตั้งใจอย่างมากในการก่อตั้งวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบินและสถาบันการบิน ซึ่งปีนี้เข้าสู่ปีที่ 6 ที่มีการดำเนินการจัดการเรียนการสอนและเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินครบวงจรที่สำคัญของประเทศ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของอาเซียน โดยการเปิดศูนย์ฝึกบินด้วยเครื่องช่วยฝึกบินจําลอง Flight Simulator BANGKOK และการเปิดวิทยาลัยเกี่ยวกับการบินนั้น จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้ความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เนื่องจากเป็นการลงทุนที่สูงมากจึงต้องมีเครือข่ายเพื่อให้สถาบันการบิน DPU มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป
“การเปิดศูนย์ฝึกบินด้วย เครื่องช่วยฝึกบินจำลอง Flight Simulator BANGKOK ถือเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษา DPU บุคลากรในหน่วยงานการบินต่างๆ รวมถึงบุคคลทั่วไป ได้สัมผัสประสบการณ์การขับเครื่องบินจริงจากในห้องนักบิน เรียนรู้และพัฒนาทักษะการฝึกบินกับเครื่องช่วยฝึกบินจำลองเสมือนจริง และยกระดับการศึกษา ด้านการบินให้เท่าทันกับเทคโนโลยีในโลกยุคปัจจุบัน รวมทั้งสามารถนาไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและหน่วยงานต่อไปอีกด้วย” ดร.ดาริกา กล่าว
ทั้งนี้ มธบ. มีเจตจำนงในการดำเนินการในด้านการศึกษาเรื่องการบิน โดยจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี และมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาด้านการบินทั้งในระดับปริญญาโท-เอกอีกด้วย รวมถึงการฝึกอบรมหลักสูตรในระดับสากล และสหกิจศึกษาร่วมกับพันธมิตรด้านการบินอื่นๆ
นาวาอากาศตรี ดร. วัฒนา มานนท์ คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) และผู้อำนวยการสถาบันการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์วิกฤติโควิด – 19 เป็นผลให้การดำเนินชีวิตของทุกคนต่างได้รับผลกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรในอุตสาหกรรมการบิน และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรที่จะมาทำงานในอุตสาหกรรมการบินซึ่งกำลังฟื้นตัวกลับคืนมา
โอกาสนี้ วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน มธบ.ร่วมกับบริษัท โดดาม ซิสเต็มส์ ไทยแลนด์ จำกัด จัดสร้างเครื่องช่วยฝึกบินจำลองขึ้นมาจำนวน 3 เครื่อง โดยเป็นเครื่องแบบ Boeing 737-800NG จำนวน 1 เครื่อง และ แบบ Cessna 172-G1000 จำนวน 2 เครื่อง โดยการจัดงานครั้งนี้ เพื่อสร้างประสบการณ์จริงด้านการบินให้กับนักศึกษา คณาจารย์และบุคลากร ของมธบ. รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจทั่วไปทำการบินกับเครื่องฝึกบินจำลอง เพื่อสร้างประสบการณ์จริงด้านการบินและใช้วางแผนในการประกอบอาชีพด้านการบินในอนาคต
นอกจากนั้น ในวันที่ 28 ก.ย.ถือเป็นวันครบรอบก่อตั้งวิทยาลัย CADT โดยปีนี้เข้าสู่ปีที่ 6 ทางวิทยาลัยจึงได้จัดกิจกรรมแข่งขัน Landing Challenge ให้นักเรียน นิสิตนักศึกษา และบุคคลทั่วไปได้เข้าร่วม ซึ่งมีผู้สนใจสมัครเข้ามาจำนวนมาก ทั้งจากในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
นาวาอากาศตรี ดร.วัฒนา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันโรงเรียนการบินที่มีศูนย์ช่วยฝึกบินจำลอง จะมีจำนวนจำกัดและอาจจะมีเครื่องบินแตกต่างกัน ฉะนั้นศูนย์ฝึกบินด้วย เครื่องช่วยฝึกบินจำลองจะทำให้นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่มาเข้าร่วมอบรม ได้เรียนรู้แบบฝึกปฏิบัติจริง สอดคล้องกับแนวทางและ รวมทั้งนโยบาย (ปี2565-2569) ของวิทยาลัย CADT ในการก้าวสู่เป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินที่ครบวงจร เป็นแหล่งเรียนรู้ ฝึกอบรมการบินที่ไม่ได้จำกัดวัย ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติจริงได้
“หลังจากเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ทำให้อุตสาหกรรมการบินกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งสำนักงานการบินพลเรือน ได้คาดการณ์ไว้ว่า ในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 นี้ ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น จะทำให้มีเที่ยวบินเพิ่มขึ้น ยิ่งในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ได้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรการคุมโควิด-19 และหลายๆ ประเทศอย่าง ญี่ปุ่น ก็เปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ในปี 2566 อุตสาหกรรมการบินจะเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ต้องรอถึงปี 2567-2568 ที่มีการคาดการณ์ไว้ในช่วงแรก เมื่ออุตสาหกรรมการบินเริ่มฟื้นตัวกลับมา และไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย ความต้องการของบุคลากรด้านการบิน อย่าง นักบิน พนักงานต้อนรับ พนักงานภาคพื้น พนักงานควบคุมจราจรทางอากาศ ล้วนเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น” นาวาอากาศตรี ดร.วัฒนา กล่าว
นาวาอากาศตรี ดร.วัฒนา กล่าวอีกว่า หน้าที่ของสถาบันการศึกษา นอกจากผลิตบุคลากรด้านการบินอย่างครบวงจร และเป็นศูนย์ฝึกอบรมแล้ว ยัง Upskill Reskill บุคลากรด้านนี้ร่วมด้วย เพราะการเตรียมพร้อม โดยการ Upskill Reskill บุคลากรด้านนี้ให้สามารถปรับตัว เรียนรู้ แก้ปัญหา และมีทักษะเท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ย่อมจำเป็น ดังนั้น วิทยาลัย CADT จึงมุ่งพัฒนานักศึกษา บุคลากรด้านการบิน และบุคคลทั่วไปที่สนใจด้านการบิน เพื่อให้เขาสามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงต่างที่จะเกิดขึ้นได้
ทั้งนี้ ก่อนเกิดโควิด-19 บุคลากรที่ทำงานในอุตสาหกรรมการบินจะมีประมาณ 2-3 แสนคน และเมื่อเกิดโควิด-19 บุคลากรกลุ่มนี้หายไป 1ใน3 ดังนั้น หลังจากนี้ เมื่ออุตสาหกรรมการบินหลายๆ แห่งกลับมาฟื้นตัวและต้องการบุคลากรมากขึ้น วิทยาลัย CADT จึงได้จัดทำหลักสูตรเพื่อ Upskill Reskill แก่บุคลากรด้านการบิน ซึ่งที่ผ่านมามีบุคลากรด้านการบินเข้ามาทำเวิร์กชอป และอบรมจำนวนมาก รวมถึงมีการเตรียมพร้อมสำหรับบุคลากรด้านการบินรุ่นใหม่ ให้มีทักษะ Soft skill และHard skill ควบคู่กันไป
ด้านนายธนิษฐ์ มีหาดทราย อายุ 19 ปี นักเรียนชั้นม.4 โรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี หนึ่งในผู้เข้าร่วมการแข่งขัน Landing Challe กล่าวว่าได้ทราบข่าวการแข่งขัน Landing Challenge จากเพจ Flight Simulator BANGKOK ซึ่งโดยส่วนตัวเป็นคนที่สนใจเรื่องของการบินอยู่แล้ว เพราะเรามีความฝันอยากทำงานที่สูง อยากเป็นนักบิน จึงได้ศึกษาเรื่องการบินมาโดยตลอด รวมถึงได้ซื้ออุปกรณ์การบินที่ไว้สำหรับเล่นเกม มาเล่นที่บ้าน เป็นการจำลองการบินเสมือน
“การได้มาสัมผัสเครื่องบินจำลอง Simulator เครื่องบินจริง ๆ นี่ถือเป็นครั้งแรกของผม ซึ่งเป็นรูปแบบจำลองเหมือนของจริงมาก ทั้งการบังคับ การมอง การตัดสินใจ และการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงบรรยากาศ ทำให้เรารู้เลยว่า การตัดสินใจ การเพ่งสมาธิ โฟกัสเฉพาะจุดสำคัญอย่างมาก ถ้าในชีวิตจริงเราตัดสินใจผิดพลาด ไม่มีสมาธิ ไม่รอบคอบ ไม่คิดวิเคราะห์ให้แม่นยำ อาจจะเกิดสถานการณ์ที่ส่งผลต่อชีวิตเราได้ ซึ่งไม่ใช่เพียงการเป็นอาชีพนักบินเท่านั้น การใช้ชีวิตก็เช่นกัน ดังนั้น การมาร่วมกิจกรรมของวิทยาลัย CADT มธบ.ดีมาก หากมีกิจกรรมอื่นๆ จะเข้าร่วมต่อเนื่อง” นายธนิษฐ์ กล่าว
นายธนิษฐ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตอนแรกที่พ่อแม่ทราบว่าตนอยากเป็นนักบิน เขาก็คัดค้านและมองว่าอาชีพนี้ไม่มั่นคงเพราะต่อให้มีเงินเดือนสูง แต่กว่าจะเรียนจบต้องใช้เงินเกือบ 3 ล้าน และต้องสอบเข้าทำงานอีก หากสอบไม่ผ่านก็ไม่สามารถเป็นนักบินได้เท่ากับเงินที่ลงทุนไปกับการเรียนอาจสูญเปล่า ดังนั้น พ่อแม่จึงไม่ได้เห็นด้วย แต่ผมไม่ย่อท้อ พยายามทำความเข้าใจกับเขาว่าเราไม่ได้จะเป็นนักบิน จะเรียนสายอื่นก่อน และอาจจะหางานทำและค่อยมาเรียนหรือสอบนักบินและอยากให้เขาเปิดโอกาสให้ตนได้ลอง เพราะการลงทุนไม่ว่าจะอาชีพไหนย่อมมีความเสี่ยงหมด ไม่มีอาชีพไหนสบาย ขอให้พ่อแม่ช่วยสนับสนุนเขา เมื่อมีโอกาสเขาอยากคว้าเอาไว้ อยากเรียนเพราะอยากเป็นนักบิน
Social Links