CIBA DPU เป็นปลื้ม!
ผู้ประกอบการแห่เรียนหลักสูตรออนไลน์-ธุริจดิจิทัล
ชี้ทักษะธุรกิจดิจิทัล จำเป็นทั้งในและต่างประเทศ
วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิต ตามนโยบายปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย ประเภทประกาศนียบัตร (Non-Degree) ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับทุนจาก สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)
ทั้งนี้ ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) กล่าวว่า ภายใต้โครงการดังกล่าว CIBA ดำเนินการจัดอบรมในหลักสูตรการประกอบการสื่อสังคมออนไลน์และธุรกิจดิจิทัล (Social Media Entrepreneurship and Digital Business : SMEDB) โดยได้รับความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรและจัดการอบรมร่วมกับวิทยากรจาก บริษัท Ready Planet จำกัด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญนวัตกรรมด้านการตลาดดิจิทัล เว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) และยังได้รับความร่วมมือจากวิทยากรอื่น ๆ อาทิ เช่น คุณวรวุฒิ สายบัว เลขาธิการสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (THAILAND E-COMMERCE ASSOCIATION) ซึ่งคุณวรวุฒิเป็น LINE Certified Coach มาช่วยสอนการสร้างธุรกิจและการทำการตลาดผ่าน Line Official Account หรือ Line OA ให้ผู้เข้าร่วมโครงการอีกด้วย
หลักสูตรดังกล่าวจัดทำขึ้นนี้ เพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีความรู้ ความสามารถ และมีทักษะ ในการสร้างสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจดิจิทัลและพัฒนาความสามารถในการวิเคราะห์สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media Analytics) รวมไปถึงการยกระดับผู้ค้าขายในระดับรากหญ้าสู่การเป็นนักธุรกิจดิจิทัลด้วยสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งนี้ หลักสูตรเปิดรับผู้เข้าอบรมรุ่นแรกจำนวน 40 คน และเปิดโอกาสให้ทั้งนักศึกษา ผู้ที่มีงานทำที่ต้องการเพิ่มพูนสมรรถนะให้กับตนเอง ผู้สูงอายุหรือผู้ที่เกษียณแล้วต้องการจะประกอบอาชีพอื่นที่แตกต่างจากเดิม รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถสมัครเข้าร่วมอบรมฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ระยะดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2565 -กันยายน พ.ศ.2565 รวมระยะเวลาในการอบรมและปฏิบัติจริง จำนวนทั้งสิ้น 285 ชั่วโมง
“ปัจจุบันรูปแบบธุรกิจเปลี่ยนไปสู่การดำเนินธุรกิจในรูปแบบออนไลน์ (Online Business) ขณะที่ยุทธศาสตร์ ในการพัฒนาประเทศในระยะยาวได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า ประเทศไทย มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการที่จะสร้างประเทศให้มีความมั่งคั่งและยั่งยืนยันได้ การพัฒนากำลังคนด้านเศรษฐกิจเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ
ดังนั้น หากประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ ในการประกอบธุรกิจออนไลน์ อย่างมีประสิทธิภาพ มีความรู้และทักษะในการคิดวิเคราะห์สื่อสังคมออนไลน์เพื่อพัฒนาในเชิงธุรกิจดิจิทัล ย่อมสร้างความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนได้ ซึ่งจะทำให้ระบบเศรฐกิจดิจิทัลประเทศไทยมีความเข้มแข็ง มีศักยภาพที่จะแข่งขัน ในระบบธุรกิจ ออนไลน์กับนานาประเทศได้” ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าว
ด้านนายณัฐพงศ์ เหลืองนฤดม อาจารย์ประจำหลักสูตรระบบสารสนเทศเพื่อธุรกิจดิจิทัล CIBA และอาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวเสริมว่า หลักสูตรนี้นอกจากจะ Upskill หรือ Reskill ให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมการอบรมแล้วยังจะพัฒนาให้ผู้ประกอบการจากออฟไลน์ให้มีทักษะด้านออนไลน์มากขึ้น สามารถนำธุรกิจของตนเองไปอยู่ ในแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น FB IG TikTok Website และอื่น ๆ แต่ปัจจุบันตลาดออนไลน์เป็นตลาดที่มีผู้ขายจำนวนมาก ดังนั้น การจะขายของผ่านโซเซียลมีเดียเราจะชนะคู่แข่งได้ เราต้องรู้จักวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำมาวางแผนการตลาด รู้จักการใช้เครื่องมือ การทำคอนเทนต์ให้มีความน่าสนใจ เพื่อให้เกิดการซื้อ ไม่ใช่แค่เพียงลูกค้าเข้ามาดูสินค้าบนแพลตฟอร์มของของเราเฉยๆ บางครั้งเราจะเห็นว่า บางร้านทำการ live สดขายของ แต่ทำไมไม่มีคนดู หรือ โพสต์ขายสินค้า แต่ก็ขายไม่ได้ ซึ่งบางครั้งเราอาจไม่รู้ว่าเฟสบุคเปลี่ยนอัลกอริธึมไปแล้ว ซึ่งหลักสูตรนี้ จะสอนให้วิเคราะห์ข้อมูลบนแพลตฟอร์มต่างๆ เทคนิควิธีการทำตลาดบนสื่อออนไลน์ หรือ การทำอย่างไรให้ได้ยอด 1 ล้านวิว เป็นต้น
ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้เข้าอบรมจะได้รับภายหลังเสร็จสิ้นการอบรม ประกอบด้วย 3 Module หลัก คือ 1) การวิเคราะห์สื่อสังคมออนไลน์ได้ โดยผู้ประกอบการต้องไม่เป็นแค่ผู้ใช้ (user) เท่านั้น แต่ต้องสามารถวิเคราะห์ได้ เช่น การโพสต์ 1 โพสต์ จะสามารถสร้างรายได้หรือไม่ หรือ สร้างได้เท่าไหร่ มีคนเข้าถึงเท่าไหร่ กระทั่งสามารถวิเคราะห์คู่แข่งได้ด้วย 2) การประกอบธุรกิจบนสื่อสังคมออนไลน์ได้ ต้องรู้จักการใช้สื่อในการประกอบธุรกิจได้ การเลือกใช้เครื่องมือ การสร้างและเขียนคอนเทนต์ ฯลฯ และ 3) การบริหารจัดการธุรกิจดิจิทัลได้ โดยผู้ประกอบการสามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์ธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง จะมุ่งเน้นการสอนการทำตลาดดิจิทัล การบริหารจัดการสต๊อกดิจิทัลและออฟไลน์ ฯลฯ ภายหลังจบหลักสูตร ผู้เข้าอบรมจะได้รับใบประกาศนียบัตร ซึ่งสามารนำไปเทียบโอนวิชาเท่ากับ 9 หน่วยกิต ได้เมื่อมาสมัครเรียนในหลักสูตรของ CIBA DPU หรือ มหาวิทยาลัยอื่น ๆ เทียบเท่าจำนวนหน่วยกิตของมหาวิทยาลัยนั้นๆกำหนด
อาจารย์ณัฐพงศ์ กล่าวฝากถึงผู้ประกอบการว่า เมื่อโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งมีชีวิตที่จะอยู่รอดได้ต้องรู้จัก การปรับตัว และมี Lifelong Learning ตลอดเวลา เพราะโลกปัจจุบันไม่ใช่แค่เรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีเท่านั้น ด้านอื่นๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน อาทิ การออกกฏหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ที่เพิ่งประกาศใช้ ดังนั้น เราต้องมีการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้องมี digital skill และ Lifelong learning skill และรู้จักทักษะของการเป็นผู้ประกอบการด้วย เพราะเมื่อใดหากต้องเปลี่ยนจากพนักงานประจำมาเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการ ทักษะเหล่านี้จะช่วยให้เราอยู่รอดได้
สำหรับผู้สนใจในโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ รุ่นที่ 2 สามารถติดตามข่าวสารการเปิดรับสมัครได้ที่ https://www.facebook.com/dpuciba/
Social Links