เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 6 เดือน ส่วนหุ้นไทยขยับขึ้น จับตาตัวเลขส่งออกไทย มีค.-การเจรจาการค้าไทย-สหรัฐ

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 6 เดือน ส่วนหุ้นไทยขยับขึ้น จับตาตัวเลขส่งออกไทย มีค.-การเจรจาการค้าไทย-สหรัฐ

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 6 เดือน

ส่วนหุ้นไทยขยับขึ้น

จับตาตัวเลขส่งออกไทย มีค.-การเจรจาการค้าไทย-สหรัฐ

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

  • เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 6 เดือนที่ 33.08 บาทต่อดอลลาร์ฯ แรงหนุนสำคัญยังมาจากการพุ่งขึ้นของราคาทองคำตลาดโลก

เงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง (หลังตลาดในประเทศกลับมาเปิดทำการหลังจากหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์) สอดคล้องกับการแข็งค่าของเงินหยวนและเงินเอเชียอีกหลายสกุล สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่เผชิญแรงเทขายท่ามกลางความกังวลต่อผลกระทบจากสงครามการค้าที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

นอกจากนี้ เงินบาทยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ของราคาทองคำในตลาดโลก และสัญญาณฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติเข้าสู่ตลาดพันธบัตรไทย โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 6 เดือนที่ 33.08 บาทต่อดอลลาร์ฯ แต่ลดช่วงบวกและอ่อนค่ากลับมาบางส่วนตามแรงขายเพื่อปรับโพสิชันและจังหวะการย่อตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วน โดยมีแรงหนุนจากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด และจากถ้อยแถลงของประธานเฟดและเจ้าหน้าที่เฟดที่ส่งสัญญาณไม่รีบปรับดอกเบี้ย เพราะต้องการรอดูผลกระทบจากภาษีการค้าต่อสถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ให้ชัดเจน

ในวันศุกร์ที่ 18 เม.ย. 2568 เงินบาทกลับมาปิดตลาดในประเทศที่ 33.43 บาทต่อดอลลาร์ฯ (หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 6 เดือนที่ 33.08 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระหว่างสัปดาห์) เทียบกับระดับ 33.63 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 เม.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 16-18 เม.ย. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 904 ล้านบาท แต่อยู่ในฝั่งซื้อสุทธิพันธบัตรไทยถึง 31,141 ล้านบาท 

สัปดาห์ระหว่างวันที่ 21-25 เม.ย. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.00-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกเดือนมี.ค. ของไทย การเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ สถานการณ์ของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ราคาทองคำในตลาดโลก สัญญาณฟันด์โฟลว์ของต่างชาติและถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI (เบื้องต้น) ดัชนีความเชื่อมั่นและการคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองของผู้บริโภคเดือนเม.ย. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมี.ค. รายงาน Beige Book ของเฟด และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของ PBOC ผลการประชุมธนาคารกลางอินโดนีเซีย และดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนเม.ย. ของญี่ปุ่น ยูโรโซนและอังกฤษด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นท่ามกลางแรงซื้อหลักจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ

ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นในวันทำการแรกหลังหยุดยาวช่วงสงกรานต์ตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค ตอบรับประเด็นที่สหรัฐฯ ประกาศยกเว้นภาษีตอบโต้สำหรับสินค้ากลุ่มสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ซึ่งรวมถึงเซมิคอนดักเตอร์ ประกอบกับมีแรงซื้อจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศเข้ามาหนุน โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มพลังงาน วัสดุก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบในเวลาต่อมาเนื่องจากยังคงมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับประเด็นสงครามการค้า ก่อนจะดีดตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงท้ายสัปดาห์ โดยมีแรงซื้อหลัก ๆ เข้ามาในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีก่อนการประกาศงบ และหุ้นกลุ่มพลังงานจากอานิสงส์ของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้น อนึ่ง สัปดาห์นี้หุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวลงสวนทางภาพรวม เนื่องจากมีแรงเทขายทำกำไรในหุ้นที่ขึ้นเครื่องหมาย XD ประกอบกับนักลงทุนมีความกังวลต่อภาพรวมผลประกอบการไตรมาส 1/2568 ของกลุ่มแบงก์

ในวันศุกร์ที่ 18 เม.ย. 2568 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,150.95 จุด เพิ่มขึ้น 1.97% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 32,909.53 ล้านบาท ลดลง 35.06% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 8.53% มาปิดที่ระดับ 252.17 จุด

สัปดาห์นี้(21-25 เม.ย. 68) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,140 และ 1,120 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,170 และ 1,195 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนมี.ค. ของไทย ผลประกอบการไตรมาส 1/2568 ของบจ.ไทย โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ การเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการเดือนเม.ย. (เบื้องต้น) ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมี.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการเดือนเม.ย. (เบื้องต้น) ของญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษ

You may also like

เพื่อนร่วมงาน AI จะเป็นเรื่องปกติในอนาคตอันใกล้

เพื่อนร่