กัญชา จะเป็นพืชเศรษฐกิจทางการแพทย์ ในประเทศไทยอย่างไร?
อัศจรรย์ เณรฐานันท์
ตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จากกระแสสังคมโลก รวมทั้งในประเทศไทยได้มีการพูดถึงเรื่องการปลดล็อคให้มีการนำพืชกัญชามาใช้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันประเทศที่กัญชาได้รับการรับรองอย่างถูกกฎหมายแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1.ประเทศที่รับรองกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ 33 ประเทศ
2.ประเทศรับรองกัญชาเพื่อสันทนาการ 6 ประเทศ
3.ประเทศรับรองกัญชาอย่างเสรี 3 ประเทศ
สำหรับประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่อนุญาตให้ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมายเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ (ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่ 1) ตั้งแต่ตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากรายงาน The Global Cannabis Report ของ Prohibition Partners ผู้ให้บริการข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ชั้นนำระดับโลก คาดว่า มูลค่าตลาดกัญชาทั่วโลกจะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 103.9 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2567 แบ่งเป็น ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์มีสัดส่วนราว 60% ของมูลค่าตลาดกัญชาทั้งหมด และอีก 40% เป็นตลาดกัญชาเพื่อการสันทนาการ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน เริ่มมีบริษัทยักษ์ใหญ่กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มของโลก สนใจที่จะใช้สารสกัดจากกัญชาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์กลุ่มดังกล่าว ส่งผลให้คาดว่า ในระยะข้างหน้ามูลค่าตลาดกัญชาโลกจะเติบโตและกระจายไปในหลายธุรกิจมากขึ้น
ขณะที่ประเทศไทย ปัจจุบัน ตลาดกัญชาถูกกฎหมายของไทยยังมีมูลค่าน้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นส่วนผสมอยู่ในตำรับยาไทย และแม้ว่าจะมีการปลดล็อคให้มีการใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมายเมื่อช่วงต้นปี แต่ก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการทดลองทางการแพทย์เพื่อใช้กับผู้ป่วย และยังต้องได้รับการควบคุมดูแลโดยหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ
ทั้งนี้ หากคำนวณค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่ายาของผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระยะสุดท้าย หรือประคับประคอง (Palliative care) ซึ่งมีสัดส่วนราว 60-80% ของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายทั้งหมด พบว่าจะอยู่ที่ประมาณ 6,000-8,000 ล้านบาทต่อปี แต่หากมีการผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง และมีการจำหน่ายในรูปแบบเชิงพาณิชย์ ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ของไทยน่าจะมีมูลค่าราว 3,600-7,200 ล้านบาทในปี 2564 ซึ่งยังมีขนาดที่เล็กมากหรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.02-0.04% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หรือถ้าเทียบกับสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่มีตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ขนาดใหญ่ของโลก มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม มูลค่าตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ของไทยในระยะกลางถึงยาวอาจจะยังไม่สามารถประเมินได้ ขึ้นอยู่กับผลตอบรับที่ได้จากการรักษาคนไข้ กล่าวคือ หากผลการใช้กัญชาช่วยให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยาวนานขึ้น ก็น่าจะทำให้มูลค่าตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากผลการใช้กัญชาไม่ได้ช่วยให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือแตกต่างไปจากเดิม มูลค่าตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ก็อาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้น
ยังมีอีกหลายประเด็นทั้งในมิติเชิงเศรษฐศาสตร์และเชิงสังคมที่นับเป็นความท้าทายที่ทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ผ่านกฎระเบียบ/ข้อตกลงต่างๆ ที่เข้มงวดและชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกกัญชา ที่จะต้องคำนึงถึงสายพันธุ์ ความรู้ความเข้าใจในการปลูก ราคา ความสามารถในการแข่งขันกับกัญชาหรือผลิตภัณฑ์จากกัญชาเพื่อการแพทย์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ (ในกรณีที่มีการอนุญาตให้นำเข้าได้) กลุ่มผู้ประกอบการ/นักลงทุน ที่จะต้องคำนึงถึงสิทธิบัตรกัญชา ความคุ้มค่าในการลงทุน ความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนการประยุกต์ใช้ในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน
นอกจากนี้ การสร้างความเชื่อมั่นทางด้านการรักษา ความปลอดภัยหรือผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้กับกลุ่มคนไข้ที่วิเคราะห์ลงไปถึงระดับรายบุคคลที่นับว่าเป็นประเด็นสำคัญที่สุด นั่นหมายความว่า หากจะมีการปลดล็อคให้มีการลงทุนปลูกกัญชาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์แล้ว ภาครัฐคงต้องตอบประเด็นเหล่านี้ว่า ท้ายที่สุดแล้วในมิติของประเทศนั้น เราจะได้ผลดีจากการผลักดันกัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างประโยชน์ต่อผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ ครับ
การผลักดันกฎหมายกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ดำเนินการตามลำดับขั้นตอน และเดินทางไปพร้อมพร้อมกับประชาชนคนไทยทุกคนและประชาชนคนไทยทุกคนต้องได้ประโยชน์จากการพืชกัญชา โดยทั่วถึงกันครับ
Social Links