DPU จับมือ depa
ขับเคลื่อน ‘สมาร์ทแคมปัส สมาร์ทซิตี้’
ปั้นเมืองต้นแบบ ‘นนทบุรี’ ยกระดับการศึกษา-คุณภาพชีวิต
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จับมือ ดีป้า เดินหน้าขับเคลื่อนเมือง “สมาร์ท ซิตี้” ยกระดับหลักสูตรด้านบริหารภาครัฐดิจิทัล ตั้งเป้าผลิตบุคลากรคุณภาพเชี่ยวชาญงานพัฒนาเมืองอัจฉริยะ วางแผนพลิกโฉม ‘เทศบาลนครนนทบุรี’ เป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) พร้อมดันจุดแข็ง “สมาร์ท แคมปัส” ยกระดับศักยภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิต
ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU เปิดเผยว่า โครงการความร่วมมือระหว่าง DPU กับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) หน่วยงานภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Life-long Learning Ecosystem for Smart City Development) เพื่อเป้าหมายของการยกระดับการเรียนการสอน และ การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อีกทั้งยังร่วมพัฒนาหลักสูตรหรือการจัดอบรม เพื่อเพิ่มทักษะให้บุคลากรของหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน
อธิการบดี DPU กล่าวว่า แนวทางในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ประกอบด้วย 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ Efficiency การใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด Sustainability ความยั่งยืนทั้งในแง่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการประหยัดต้นทุน และ Livability คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้อยู่อาศัย โดยทางคณะรัฐประศาสนศาสตร์ DPU ได้ร่วมมือกับ depa พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน พร้อมเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสมาร์ทซิตี้มาบรรยายพิเศษให้คณาจารย์และนักศึกษา เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและเกิดการพัฒนาองค์ความรู้ด้านดิจิทัล และ Smart City มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น DPU กำลังเดินหน้าโครงการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการยกระดับพื้นที่ให้ก้าวสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยมี “เทศบาลนครนนทบุรี” เป็นต้นแบบที่จะเริ่มดำเนินการเป็นแห่งแรก
ทั้งนี้ โครงการแรกที่ DPU ทำร่วมกับเทศบาลนครนนทบุรี คือ การศึกษาความต้องการและความคาดหวังของประชาชนต่อบทบาทของเทศบาลนครนนทบุรีในการพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะด้านการดำรงชีวิต (Smart Living City) เพื่อสํารวจความต้องการและความคาดหวังของประชาชน หา Pain Point ที่แท้จริงของคนในพื้นที่ นำไปสู่การวิเคราะห์ปัจจัยและค้นหาแนวทางพัฒนาจากเมืองในปัจจุบันสู่เมืองอัจฉริยะในอนาคต
“ความน่าสนใจของโครงการนี้อยู่ที่คุณภาพชีวิตของผู้คนที่อยู่ในเมืองจะได้รับการยกระดับจากบริการด้านต่าง ๆ อาทิ การวางโครงสร้างพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุ งานบริการสาธารณสุข ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นต้น โดยมีการนำระบบภูมิสารสนเทศผ่านระบบ Internet (Geography Information System : GIS) มาใช้สำหรับการดูแลและกำหนดสวัสดิการผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง มีการเชื่อมโยงข้อมูลของโรงพยาบาล อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และผู้นําชุมชน รวมถึงการจัดทําระบบร้องเรียน ร้องทุกข์ออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน ‘นครนนท์’ และเว็บไซต์ที่ประชาชนสามารถใช้สมาร์ทโฟน แจ้งเหตุร้องเรียน ร้องทุกข์ต่าง ๆ โดยไม่ต้องเดินทางมายังสำนักงาน ข้อมูลจะถูกส่งต่อมายังเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการ และสามารถติดตามได้ผ่านจอแสดงผลหรือ Dashboard” ดร.ดาริกา กล่าว
นายสัญญา เศรษฐพิทยากุล ผู้ช่วยรองอธิการบดี สำนักดิจิทัลการศึกษาและบริการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า การพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เกิดขึ้นจำเป็นต้องผลักดันทั้งโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี รวมถึงบุคลากรที่มีทักษะความรู้ให้เดินไปพร้อมกัน ซึ่ง DPU มีองค์ความรู้และประสบการณ์ในการยกระดับการศึกษาด้วยเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง โดย DPU ได้รับเลือกให้เป็นมหาวิทยาลัยนำร่องโครงการ Smart Campus 5G ตามมติของคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ โดยได้พัฒนาเครือข่าย 5G ให้เร็วและเสถียรทั่วพื้นที่มหาวิทยาลัย และต่อยอดมาเป็นห้องเรียนสุดล้ำ Intelligent Hybrid Classroom ซึ่งเป็นห้องเรียนต้นแบบที่สนับสนุนการเรียนรู้แบบ Active Learning รวมทั้งมีการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้สนับสนุน Learning Engagement Analytics ควบคู่กันทั้งการเรียน On-Site และ Online เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งผู้เรียนและผู้สอนให้มีประสิทธิภาพ โดยเตรียมเปิดใช้งานในเดือนมกราคมปีหน้า
นอกจากนี้ ยังได้ออกแบบห้องเรียนต้นแบบให้มีความเชื่อมโยงกับ Metaverse Campus ของมหาวิทยาลัยที่กำลังจะเกิดขึ้น ด้วยการให้นักศึกษาสะสมคะแนน D Point ที่ได้จากกิจกรรม Engagement ต่าง ๆ ในห้องเรียน โดยภายใต้โครงการ Smart Campus 5G นี้ ยังครอบคลุมถึงการให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมจากเทคโนโลยี 5G อาทิ พัฒนาระบบ IoT (Internet of Things) สำหรับการจัดการพลังงาน พัฒนา AI Robot สำหรับตรวจตราความปลอดภัย และสร้าง Virtual Space เพื่อต่อยอดการเรียนรู้อย่างไร้ขีดจำกัด ซึ่งในเฟสถัดไป DPU มีแผนจะพัฒนาต่อยอดให้เป็น Innovation Lab ที่กระตุ้นและเสริมแรงให้นักศึกษาได้ร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาและสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนและสังคม โดยมีพื้นที่มหาวิทยาลัยเป็น Living Sandbox ก่อนที่จะนำไปขยายผลในระดับเมืองและระดับประเทศต่อไป
“ปัจจุบันนี้ หลายเมืองทั่วโลกให้ความสำคัญในการก้าวเข้าสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะมากขึ้น โดยมองถึงประโยชน์จากการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และการบริหารจัดการเมือง ในฐานะที่ DPU เป็นต้นแบบนำร่องโครงการ Smart Campus 5G จึงมีองค์ความรู้ในการต่อยอดไปสู่การขับเคลื่อนความเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยเฉพาะในด้านการผลิตกำลังคนคุณภาพที่เข้าไปทำหน้าที่พัฒนาระบบบริการที่ดี ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นต่อไปได้ในอนาคต” นายสัญญา กล่าว
Social Links