“สุรพงษ์”ห่วงใยกรณีอุโมงค์ถล่ม!
ส่งการ ขร.-รฟท.ตรวจสอบ พร้อมเร่งค้นหาผู้สูญหาย
” รชค.สุรพงษ์ ” ห่วงใยกรณีเกิดเหตุอุโมงค์ถล่ม สั่งการกรมการขนส่งทางรางและการรถไฟแห่งประเทศไทยลงพื้นที่หาสาเหตุ ตรวจสอบมาตรฐานการก่อสร้างอุโมงค์ และกำหนดแนวทางการป้องกัน พร้อมทั้งเร่งค้นหาผู้สูญหาย
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังได้รับรายงานเหตุการณ์อุโมงค์คลองไผ่ถล่ม และมีผู้สูญหายจำนวน 3 ราย จากกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เบื้องต้นทราบว่า เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567 เวลาประมาณ 23.00 น. เกิดเหตุอุโมงค์คลองไผ่ ของสัญญา3-2 งานก่อสร้างอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ในโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯมหานคร-นครราชสีมา ในระหว่างการก่อสร้าง ดินหลังคาอุโมงค์ได้พังถล่มลงมาทับคนงานก่อสร้างและรถแบ็คโฮ ใกล้เคียงสถานีรถไฟคลองขนานจิตร โดยจุดที่ดินถล่มห่างจากปากทางอุโมงค์ ระยะทางประมาณ 2-3 กม.และได้รับแจ้งว่ามีบุคคลสูญหาย จำนวน 3 ราย ได้แก่
- ชื่อ หูเสียงหมิ่น เพศชาย สัญชาติจีน (ผู้ควบคุมงาน)
- ชื่อ ตงชิ่นหลิน เพศชาย สัญชาติจีน (ขับแม็คโคร)
- แรงงานชาวพม่า ไม่ทราบชื่อ (ผู้ขับรถบรรทุก)
โดยนายสุรพงษ์ ปิยะโชติได้เปิดเผยว่า รู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและห่วงใยผู้สูญหาย โดยได้กำชับให้การกรมการขนส่งทางรางและการรถไฟแห่งประเทศไทยลงพื้นที่หาสาเหตุ ตรวจสอบมาตรฐานการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟทุกแห่งให้มีความปลอดภัย หากพบว่ามีการข้ามขั้นตอนการก่อสร้างให้ระงับการก่อสร้างชั่วคราวไว้ก่อน เพื่อตรวจสอบให้มั่นใจก่อนดำเนินการก่อสร้างต่อ และกำหนดแนวทางการป้องกัน พร้อมทั้งให้ รฟท. ประสานหน่วยกู้ภัยในพื้นที่และผู้รับจ้างงานก่อสร้างอำนวยความสะดวก เพื่อเร่งดำเนินการตักดินที่ถล่ม และเร่งค้นหาผู้สูญหายอย่างเต็มความสามารถ ซึ่ง ขร. รฟท. และที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างโดยผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีและหน้าที่ความปลอดภัยอยู่ระหว่างตรวจสอบหาสาเหตุ และเมื่อได้ความชัดเจนแล้วจะแจ้งให้ทราบต่อไป ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อเวลา 13.00 น. ยังไม่พบผู้สูญหาย โดยยังคงดำเนินการตักดินและกู้ภัยอย่างต่อเนื่อง และได้มีข้อสั่งการให้ดำเนินการตรวจสอบและเฝ้าระวังงานขุดอุโมงค์ของรถไฟทั่วประเทศให้อยู่ในมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด
ทางด้านกรมการขนส่งทางรางนั้น ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบหาข้อมูลถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมาย ดำเนินการกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือ และแผนการกู้สถานการณ์ โดยคำนึงทั้งด้าน วิศวกรรม ด้านความปลอดภัย และกฎหมาย อีกทั้งเร่งตรวจสอบสัญญา ความรับผิดชอบ และประกันภัย รวมทั้งมาตรการเยียวยา กับผู้เสียหาย เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความระมัดระวัง ป้องกันการสูญเสียซ้ำซ้อน
Social Links