ซิตี้แบงก์ ฉายทิศทางเศรษฐกิจเอเชียปี 66 ภาพรวมสดใส-จีดีพีไทยโตแตะ 4.3% -เงินเฟ้อ 2.5%

ซิตี้แบงก์ ฉายทิศทางเศรษฐกิจเอเชียปี 66 ภาพรวมสดใส-จีดีพีไทยโตแตะ 4.3% -เงินเฟ้อ 2.5%

ซิตี้แบงก์ ฉายทิศทางเศรษฐกิจเอเชียปี 66

ภาพรวมสดใสจีดีพีไทยโตแตะ 4.3% เงินเฟ้อ 2.5%

                ธนาคารซิตี้แบงก์ ฉายภาพมุมมองเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปี 2566 ชี้ภาพรวมเป็นไปในทิศทางบวก จากการสิ้นสุดของการปรับนโยบายการเงินในหลายประเทศ และแนวโน้มการเติบโตของการลงทุนต่อเนื่องในหลายเศรษฐกิจ ในส่วนของการเปิดประเทศของจีนน่าจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคในระดับต่ำในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยซิตี้คงการคาดการณ์ เติบโตของ GDP ไทยที่ 4.3% โดยมีสัญญาณเชิงบวกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับลดลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5%  อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ซิตี้ยังคงแนะนำให้มีการวางมาตรการเพื่อรองรับความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

นางสาวโจฮานนา ชัว หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและตลาดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประจำซิตี้กรุ๊ป กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปี 2566 คาดการณ์เติบโต GDP ที่ 4.4% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3.5% ในปี 2565 แม้มีปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดความเปราะบาง อาทิ สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา หรือการพุ่งขึ้นของราคาสินค้า แต่คาดว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคจะมีการฟื้นตัวและเติบโตอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการสิ้นสุดของปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้นในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกในปี 2566 รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ อีกทั้งการอ่อนค่าของค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ในครึ่งปีหลังของปี 2566 จะช่วยลดความกดดันของธนาคารกลางในแต่ละประเทศ ขณะที่การเปิดประเทศจีนในครึ่งหลังของปี 2566 แม้ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจภายในภูมิภาค แต่อาจทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศเศรษฐกิจของอาเซียนอย่างสิงคโปร์ เวียดนาม และไทย กินระยะเวลานานขึ้น

นางสาวโจฮานนา กล่าวเสริม สำหรับแนวโน้มการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศในปี 2566 ว่าซิตี้แบงก์คาดการณ์ว่าจะมีการชะลอตัวนำโดยกลุ่มเทคโนโลยีจนถึงช่วงกลางปี 2566 ก่อนฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในลักษณะ U-shape ในครึ่งหลังของปี นอกจากนี้ ยังเล็งเห็นแนวโน้มการลงทุนที่ค่อนข้างมาแรงของสองประเทศในภูมิภาคที่น่าจับตามอง ได้แก่ อินเดีย และ อินโดนีเซีย โดยอินเดียจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2566 รวมถึงอัตรากำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น และการลงทุนตรงจากต่างประเทศที่สูงเป็นประวัติการณ์ ส่วนฝั่งของอินโดนีเซียคาดว่าจะเห็นการลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่ห่วงโซอุปทานของอุตสาหกรรมโลหะคาร์บอนต่ำและแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

ด้าน นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทยในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังการเปิดประเทศเต็มรูปแบบมากขึ้น โดยยังคงประมาณการการเติบโตของ GDP ที่ 4.3% ซึ่งมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวราว 23 ล้านคน ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ประมาณ 10.1 ล้านคน นอกจากนี้ ยังจะได้แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนจากการฟื้นตัวของรายได้ภาคบริการ ภาคการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งอาจกระทบการลงทุนภาคเอกชนบ้าง แต่คาดว่ากการลงทุนยังมีแรงหนุนจากแผนพัฒนาระยะยาวของธุรกิจกลุ่ม BCG ที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ และโครงการ EEC

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 คาดการณ์ว่าจะพลิกกลับมาเกินดุลประมาณ 3.8% ของ GDP แม้ภาคการส่งออกจะชะลอตัว แต่ยังได้อานิสงค์จากรายได้ภาคการท่องเที่ยว รายจ่ายค่าขนส่งในดุลบริการที่ลดลง และการขาดดุลการค้าที่มีแนวโน้มลดลงจากการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีราคาลดลง

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยอาจยังคงเผชิญความเสี่ยงจากเงินเฟ้ออยู่บ้าง หากราคาพลังงานปรับสูงขึ้น แม้ว่าซิตี้คาดการณ์ (base case) ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับลดลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5% ในปี 2566 พร้อมทั้งซิตี้คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 2.25% ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ซึ่งการปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในสภาวะที่สภาพคล่องของเงินภายในประเทศยังอยู่ในระดับสูง น่าจะช่วยลดผลกระทบต่อธุรกิจและครัวเรือน อย่างไรก็ดี หากการขยายตัวของเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าที่คาดไว้ ฐานะการคลังของประเทศไทยยังคงพอมีพื้นที่เหลือสำหรับการประคองหรือกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง นางสาวนลิน กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ได้จัดงาน All Star Analyst Day 2022 อัปเดตข้อมูลทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุน สำหรับลูกค้ากลุ่มองค์กรและสถาบัน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ข้อมูลเพิ่มเติม www.citibank.co.th

..…………………………………………………………..

เกี่ยวกับ ซิตี้ ประเทศไทย

ซิตี้ ก่อตั้งธุรกิจในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2510 และได้เติบโตขึ้นจนกลายเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศ ลูกค้าของซิตี้ ประเทศไทย ได้แก่ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัทข้ามชาติระดับโลก บริษัทชั้นนำในท้องถิ่น และสถาบันการเงิน โดย ซิตี้ ประเทศไทย ให้บริการโซลูชั่นการธนาคารสำหรับองค์กรอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งรวมถึงองค์กรและวาณิชธนกิจ การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และบริการธุรกรรมต่าง ๆ ทั้งนี้ ซิตี้ ประเทศไทย เป็นหนึ่งในบริษัทเครือ Citigroup หรือ Citibank ซึ่งเป็นธนาคารชั้นนำระดับโลก โดยซิตี้มีบัญชีลูกค้าประมาณ 200 ล้านบัญชี และดำเนินธุรกิจในกว่า 160 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลก โดยซิตี้เริ่มธุรกิจในนิวยอร์กในปี พ.ศ. 2355 ฉลองครบรอบ 200 ปี ในปี 2555 และฉลองครบรอบ 120 ปีในหลายประเทศภูมิภาคเอเชียในปี  2565

You may also like

มาสเตอร์การ์ดเปิดตัว Pay Local เพิ่มช่องทางผู้ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัลในเอเชีย รับชำระเงินจากผู้ถือบัตรมาสเตอร์การ์ดกว่า 2 พันล้านราย

มาสเตอร์