โซลาร์ฟาร์มในที่ดินทหาร
ไอเดียเก๋ ที่กระทรวงพลังงานต้องทบทวน
บาแดง
ทหารปฏิวัติยึดอำนาจ ก็ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในความคิดของประชาชนอย่างเราๆท่านๆจะเห็นดีเห็นชอบอยู่แล้ว
ยิ่งได้ข่าวทหารจะกลับหลังหัน มาทำโซลาร์ฟาร์ม 30,000 เมกะวัตต์ ในใจก็ยิ่งค้านหนักขึ้นไปว่า ไม่ใช่ภารกิจของทหารเลย แล้วจะหาเรื่องมาให้ติฉินนินทาเพิ่มทำไมอีก ?
กองทัพบก จะเอางบประมาณมหาศาลจากไหนไปลงทุน ?
แล้วจะทำให้นโยบายพลังงานของกระทรวงพลังงานระส่ำหนักขึ้นไปอีกหรือไม่ ?
แต่เมื่อคิดในมุมกลับ ดันกลับเป็นเรื่องจริง ที่เป็นปัญหาของกระทรวงพลังงานจริงๆ
เพราะจริงแล้ว นโยบายของกระทรวงพลังงาน ค่อนข้างโลเล เป๋ไปเป๋มาจริงๆ
ความมั่นคงด้านพลังงาน ควรต้องหมายถึงการผลิตพลังงานเพื่อสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคงได้ และที่สำคัญคือ ประชาชนต้องมีความเป็นอยู่ที่สุขสบายได้ทั้งแผ่นดิน
ผิดไปจากนี้ คือ ถ้านโยบายผิด ย่อมมีคำตอบที่ตาลปัตรกลับกัน นั่นคือ ภาครัฐไม่สามารถสนองตอบประชาชนได้ทั่วถึง มีนโยบายซ่อนเร้น ทำให้เอกชนกลับมามีอำนาจทางด้านพลังงานแทนรัฐ แถมมีแนวโน้มว่า ค่าไฟฟ้าจะถูกโยนไปให้ประชาชนแบกรับแทน
เพราะกระทรวงต้องการแสดงให้เห็นว่า อยากให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม แต่กลับเห็นเอกชนสวมรอยเป็น “นายหน้าเร่ขายใบอนุญาต”กันฝุ่นตลบยิ่งกว่าฝุ่น pm 2.5 จนหลายราย “เจ๊งก่อนสร้าง” เพราะค่านายหน้าของ “นักวิ่ง” และ “พลังนินจาเขียว”
แต่กลับเห็นการเอาแผนสร้างพลังงานของรัฐไป “ใส่พาน”ให้เอกชนแบบเห็นๆ ไม่ว่าหน่วยงานผลิตไฟฟ้าของรัฐจะมีแผนอย่างไร อยากใช้ถ่านหินก็มีขบวนการต่อต้านอย่างเป็นระบบ ครั้นพอเอกชนเอาไปสร้างแบบเดียวกัน กลับไม่มีพวก “หัวร้อน”กลุ่มไหนตามไปจิกตีก่นด่า จน “รัฐสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ได้ แต่เอกชนสร้างได้”
แปลกจริงแฮะ ?
กรณีโครงการสร้างโซลาร์ฟาร์มซึ่งเป็นพลังงานสะอาด นอกจากควรจะสนับสนุนกันมากๆแล้ว ราคาในอนาคตก็จะถูกลงแล้ว จะมีเทคโนโลยีสูงถึงขั้นเก็บไว้ได้นานๆด้วย แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมาสำหรับเมืองไทย กลับถูกลากถูลู่ถูกังให้เข้าสู่ “วังวนน้ำเน่า”ไปได้
เมื่อฝ่ายทหาร “น้ำดี” เสนอเป็น “ตัวกลางประสานแนวใหม่” ให้คิดออก “นอกกรอบ”โดยมองเห็นว่าที่ดินทหารยังว่างอยู่มาก การคิดที่จะช่วยเหลือภาคพลังงานให้มีความมั่นคงอย่างมีเสถียรภาพ ลดต้นทุนค่าที่ดิน (ที่ภาคเอกชนต้องบวกเป็นต้นทุน )ลงได้อย่างมาก อีกทั้งพลังงานแสงอาทิตย์นอกจากจะช่วยภาคประชาชนแล้ว ก็จะช่วยในภาคทหารป้องกันประเทศได้อีกทางหนึ่ง จึงได้โยนโจทย์นี้ให้ผู้คนที่สนใจได้แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา
ทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็ไม่เสียหาย ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
สำหรับผู้เขียน ก็คิดว่า ดีกว่าปฏิวัติยึดอำนาจเป็นไหนๆ
เป็นไอเดียที่ “กิ๊บเก๋” เป็นทางออกที่น่าสน ดีกว่าปล่อยให้กระทรวงที่รับผิดชอบเดินหน้าเป็น “ปูไข่ ไก่หลง” หลงไปหลงมาจนแม้กระทั่งเด็กๆยังรู้ว่า “เข้าทางใคร”
ส่วนฝ่ายทหารจะเสนอของบประมาณมหาศาลไปทำเองหรือไม่ ถ้าฟังจากนักวิพากษ์แบบลมเพลมพัดเปลี่ยนทิศโน้นทีทิศนี้หน ก็พอฟังได้บ้างตามอารมณ์ของลม ถ้าอารมณ์บริสุทธิ์ก็น่าพิจารณา แต่หากวันไหนกลายเป็นลมฝุ่นลมพิษ ก็ต้องคิดบวกคิดลบชั่งใจเอาเองก็แล้วกัน
น้องๆนักข่าวเล่าว่า ไปฟัง พล.ท.รังษี กิติญาณทรัพย์ ผอ.ททบ.5 พูด ด้วยหูย้ำด้วยตาตัวเอง 2 ครั้งได้ยินชัดเจนว่า ฝ่ายทหารไม่ได้หวังจะเสาะหางบจากรัฐบาล ฝ่ายทหารจะ “สกรีน”ให้ปลอดพวกนายหน้าค้าใบสั่ง ( แถมตามหลังเช็คประวัติขึ้นบัญชีด้วย ) ฝ่ายทหารจะแสวงหาโอกาสในวิกฤติโควิดเพื่อเป็นฝ่ายประสานให้ฝ่ายเอกชนที่มีความพร้อมครบวงจรต้องลงทุนเองผ่านระบบค้ำประกันของธนาคาร ด้วยเหตุผลเพียงเพราะทหารมีที่ดินว่างเปล่าที่ปฏิบัติไปตามขั้นตอนของราชการและสามารถลดต้นทุนลงได้เท่านั้น
ถ้าทหารคิดได้แบบนี้ มีประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างนี้ อย่างน้อยก็ทำให้กระทรวงที่รับผิดชอบต้องยกเป็นโจทย์ใหญ่ได้นะว่า ดีกว่าหรือไม่ ต่อนโยบายที่กระทรวงกำลังเดินไปอยู่ในวังวนแห่งผลประโยชน์ของส่วนรวม หรือส่วนกลุ่มกันแน่ ?
Social Links