เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง
หุ้นไทยปิดบวก หลังร่วงลงมา 3 สัปดาห์ติด
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
- เงินบาทแข็งค่าผ่านแนว 34.00 ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งที่ 33.61 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ยังไม่ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้ากับประเทศคู่ค้าทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง
เงินบาทแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับทิศทางราคาทองคำในตลาดโลกและสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย สวนทางกับเงินดอลลาร์ฯ ที่ยังคงเผชิญแรงขาย หลังจากที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยังไม่ตัดสินใจเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้าในทันทีที่สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง (แม้ในเวลาต่อมาจะมีการระบุถึงอัตราภาษีที่เก็บเพิ่ม 25% ต่อสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดา และเก็บภาษีเพิ่มอีก 10% ต่อสินค้าที่นำเข้าจากจีนในวันที่ 1 ก.พ. นี้ก็ตาม)
เงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าและแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งที่ 33.61 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตามทิศทางเงินเยน หลังธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% (ไปอยู่ที่ระดับ 0.50%) ในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ยังเผชิญแรงกดดันต่อเนื่องตามทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ มีความเห็นในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม World Economic Forum (WEF) ให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง
ในวันศุกร์ที่ 24 ม.ค. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.64 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.46 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (17 ม.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 20-24 ม.ค. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 797.4 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 9,064.3 ล้านบาท (แบ่งเป็น ซื้อสุทธิพันธบัตร 9,071.8 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 7.5 ล้านบาท)
สัปดาห์ระหว่างวันที่ 27-31 ม.ค. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.30-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมเฟด (28-29 ม.ค.) การประชุม ECB (30 ม.ค.) สัญญาณเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สถานการณ์เงินทุนต่างชาติและค่าเงินหยวน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และดัชนีราคา PCE และ Core PCE เดือนธ.ค. 2567 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค. 2568 ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2567 (advanced) รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขดัชนี PMI เดือนม.ค. ของจีน และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2567 ของยูโรโซนด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
- ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวน แต่พลิกกลับมาปิดบวกได้ช่วงท้ายสัปดาห์
ดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัวกรอบแคบในช่วงแรก ก่อนจะดีดตัวขึ้นจนถึงช่วงกลางสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลบางส่วนต่อประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ หลังท่าทีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ได้แข็งกร้าวอย่างที่ตลาดกังวล ประกอบกับมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มแบงก์หลังงบไตรมาส 4/2567 ออกมาค่อนข้างดี รวมถึงแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีตามทิศทางการปรับขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงในเวลาต่อมาท่ามกลางแรงขายทำกำไรของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ หลังตอบรับปัจจัยบวกข้างต้นไปพอสมควรแล้ว โดยหุ้นกลุ่มที่เผชิญแรงขายทำกำไรหลัก ๆ ได้แก่ กลุ่มแบงก์ที่ประกาศผลประกอบการเสร็จสิ้นไปแล้ว และกลุ่มพลังงานตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลง ดัชนีหุ้นไทยขยับขึ้นอีกครั้งช่วงท้ายสัปดาห์ตามทิศทางหุ้นต่างประเทศ หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวว่าเขาจะกดดันให้มีการปรับลดดอกเบี้ยทันที พร้อมเรียกร้องให้มีการปรับลดดอกเบี้ยทั่วโลก
ในวันศุกร์ที่ 24 ม.ค. 2568 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,354.07 จุด เพิ่มขึ้น 1.00% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 34,664.20 ล้านบาท ลดลง 21.84% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 4.07% มาปิดที่ระดับ 286.79 จุด
สัปดาห์นี้(27-31 ม.ค. 68) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,345 และ 1,330 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,360 และ 1,375 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมเฟด (28-29 ม.ค.) ผลประกอบการไตรมาส 4/2567 ของบจ.ไทย นโยบายของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ของสหรัฐฯ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนธ.ค. 2567 ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2567 รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2567 ของยูโรโซน การประชุม ECB ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการเดือนม.ค. 2568 และกำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. 2567 ของจีน ตลอดจนยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. 2567 ของญี่ปุ่น
Social Links