LNG: พลังงานทางเลือกของประเทศ?
จากการที่การผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศ โดยเฉพาะในอ่าวไทยซึ่งมีปริมาณสูงถึง 68% ของปริมาณการจัดหาก๊าซทั้งหมดของประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงประมาณปีละ 1.2% ทั้งๆที่ผู้ประกอบการมีการลงทุนในการขุดหลุมสำรวจและผลิตเพิ่มขึ้นทุกปีเป็นจำนวนหลายร้อยหลุม ใช้งบประมาณเป็นแสนล้านบาท เพื่อรักษาระดับการผลิตไม่ให้ลดลงมากนัก แต่ก็คงเอาไม่อยู่ และเราคงต้องหาพลังงานชนิดอื่นมาทดแทนก๊าซธรรมชาติในที่สุด
พลังงานทางเลือกอื่นที่จะมาทดแทนก๊าซธรรมชาติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตไฟฟ้าก็คงมีไม่มากนัก ไล่ตั้งแต่ น้ำมัน ถ่านหิน นิวเคลียร์ พลังงานหมุนเวียน เช่น ลม แสงอาทิตย์ ชีวมวล และสุดท้ายก็ยังหนีไม่พ้นก๊าซ ก็คือ ก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas-LNG) นั่นเอง
พลังงานทางเลือกเหล่านี้ บางชนิดแค่เอ่ยชื่อคนก็ส่ายหน้าแล้วด้วยความกลัว เช่น นิวเคลียร์เป็นต้น บางชนิดอย่างเช่นถ่านหิน ก็มีความเห็นที่แตกต่างและเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตายกันไปข้างหนึ่งให้ได้ จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุป พลังงานหมุนเวียนถึงแม้จะไม่ค่อยมีใครคัดค้าน แต่ก็ยังติดขัดที่เรื่องของเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ที่จะช่วยให้มีไฟฟ้าใช้ได้ตลอดเวลา และเรื่องของต้นทุนการผลิตที่ยังมีราคาแพง
สุดท้ายดูแล้วหวยก็น่าจะออกที่ก๊าซ LNG ซึ่งสามารถตอบปัญหาได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การจัดหาหรือราคา ทำให้ก๊าซ LNG กลายเป็นพลังงานหลักของประเทศไทยในอนาคต โดยคาดว่าจะมีการนำเข้าก๊าซนี้มาใช้เป็นพลังงานในการขับเคลื่อนประเทศสูงถึง 36-40 ล้านตัน/ปี ในอีก 20 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันทีนำเข้าอยุ่ประมาณ 5-6 ล้านตัน/ปีเท่านั้น
ก๊าซ LNG เคยเป็นก๊าซที่มีราคาแพงมากในอดีตโดยเคยขึ้นไปถึง 16-17 $/ล้านบีทียู แต่หลังจากวิกฤตราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างรุนแรงจาก 147 $/bbl. มาเป็น 28 $2bbl. ประกอบกับมีการผลิต Shale Gas ในสหรัฐอเมริกาออกมาในปริมาณมากจนล้นตลาด และรัฐบาลต้องยอมให้ส่งออกปิโตรเลียมไปขายต่างประเทศได้ หลังจากมีกฏหมายห้ามส่งออกปิโตรเลียมมาเป็นเวลาหลายสิบปี ราคาก๊าซ LNG จึงเริ่มลดลงมาอยู่ในระดับ 5-6 $/ล้านบีทียู และด้วยความที่ปริมาณสำรองก๊าซ LNG มีมากทั้งในตะวันออกกลาง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา จึงทำให้ผู้ที่สนับสนุนให้ใช้ก๊าซLNG มีความมั่นใจว่าราคาจะไม่พุ่งสูงขึ้นไปถึง 15-16 $/ล้านบีทียูเหมือนเดิมแน่
แต่อย่างที่ผมเคยบอกไว้ว่าเราไม่สามารถทำนายราคาปิโตรเลียมในอนาคตได้ ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบได้เริ่มปรับตัวสูงขึ้นแล้วจากระดับ 40 $/bbl. มาเป็นเกือบ 60 $/bbl. ราคา CP ของ LPG นำเข้าก็ปรับสูงขึ้นจาก 355 $/ตัน มาเป็น 575 $/ตัน สูงขึ้นมาเป็นลำดับมาหลายเดือนแล้ว
ก๊าซ LNG ก็เช่นกัน ขณะนี้ราคาก็ได้ปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 8.50 $/ล้านบีทียูแล้ว ซึ่ง ณ ราคานี้ถ้านำมาผลิตไฟฟ้า ผมเชื่อว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าต้องสูงขึ้นแน่ และจะกระทบต่อค่า ft ในที่สุด (ราคาก๊าซขึ้น 1$ กระทบค่าไฟ 20 ส.ต./หน่วย) ข้อสำคัญเรายังไม่รู้ว่าในอนาคตราคา LNG จะขึ้นไปอีกไหม และจุดสูงสุดจะอยู่ที่เท่าไร
ดังนั้นใครที่ฝากความหวังไว้กับ LNG คงต้องระวังกันหน่อยนะครับ !!
มนูญ ศริริวรรณ
(ขอบคุณภาพจาก PTTLNG)
Social Links