Pet Parent (การเลี้ยงสัตว์เหมือนลูก)ยังคงเป็นกระแสนิยมในปัจจุบัน สะท้อนแนวโน้มและรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงเสมือนคนในครอบครัว ยิ่งกว่านั้น ในโลกโซเชียลมีเดียยังยกระดับสัตว์เลี้ยงบางตัวให้กลายเป็น Pet Influencer ที่มีผู้ติดตามนับแสนคน เหล่านี้ล้วนสร้างปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เพียงเปลี่ยนมุมมองการเลี้ยงสัตว์ แต่ยังส่งผลให้ตลาดสัตว์เลี้ยงและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งด้านอาหาร ของเล่น ของใช้ บริการด้านสุขภาพ และ อื่นๆ
บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผ่านเครื่องมือ DXT360 เพื่อฟังเสียงในสังคมออนไลน์ (Social Listening) ในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม – 25 พฤศจิกายน 2567 เพื่อนำมาวิเคราะห์หา insight ที่เผยให้เห็นเทรนด์ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงที่กำลังมาแรง โดยพบว่าบน Social Media ได้รับการพูดถึง (Mention) 185,126 ครั้ง และได้รับเอ็นเกจเมนต์ (Engagement) รวม 33,419,814 ครั้ง
ส่องธุรกิจสัตว์เลี้ยงมาแรง
กระแสการเลี้ยงสัตว์เหมือนลูก หรือ Pet Parent ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการเติบโตของธุรกิจสัตว์เลี้ยงอย่างชัดเจน จากข้อมูลพบว่าผู้คนในสังคมออนไลน์มีการกล่าวถึงธุรกิจอาหารและขนม (Food & Snack) มากที่สุดถึง 49% รองลงมาคือธุรกิจโรงพยาบาล (Hospital) 36% ธุรกิจดูแลสุขภาพ (Wellness) 7% ธุรกิจอุปกรณ์เสริมสำหรับสัตว์เลี้ยง (Pet Accessories) 5% ธุรกิจฟาร์มสัตว์ (Pet Farm) 2% และอื่น ๆ อีก 1% สะท้อนให้เห็นว่าคนยุคใหม่พร้อมลงทุนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของสัตว์เลี้ยง
นอกจากนี้ยังเริ่มเห็นธุรกิจรูปแบบใหม่ที่นำสัตว์เลี้ยงมาผสมผสานกับไลฟ์สไตล์มากขึ้นอย่าง Puppy Yoga ที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มคนรักสัตว์ ทั้งนี้ยังสื่อได้ว่าผู้คนกำลังมองหากิจกรรมที่สามารถทำร่วมกับสัตว์เลี้ยงได้ในชีวิตประจำวัน
ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจสัตว์เลี้ยงเติบโต
สำรวจจากพฤติกรรมผู้ใช้ Social Media พบว่าไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้ นิยมเลี้ยงสัตว์เหมือนลูก (Pet Parent) ส่งผลให้ตลาดสัตว์เลี้ยงเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากหลายปัจจัย การเพิ่มขึ้นของครอบครัวเดี่ยวและคนโสด ประกอบกับแนวโน้มการมีลูกน้อยลง ส่งผลให้ผู้คนมองหาสัตว์เลี้ยงมาเติมเต็มชีวิต โดยพบว่าผู้ใช้โซเชียลมีเดียส่วนใหญ่อยากมีสมาชิกในครอบครัวเพิ่มขึ้น 59% เลี้ยงเพื่อคลายเหงา 34% และช่วยเยียวยาจิตใจจากความเครียด 7% ส่งผลให้ผู้คนหันมาเลี้ยงสัตว์เพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา
เจาะพฤติกรรม Pet Parent ยุค 2024 ทำไมถึงนิยมเลี้ยงสัตว์
- การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่ยืดหยุ่น (44%) คนรุ่นใหม่มองว่าการเลี้ยงสัตว์สามารถควบคุมงบประมาณได้ชัดเจน ทั้งค่าอาหาร ค่าดูแล และค่ารักษาพยาบาล ไม่ต้องวางแผนระยะยาวเรื่องค่าใช้จ่ายทางการศึกษา
- ต้องการอิสระ/ไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิต (27%) สะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ต้องการความคล่องตัว สามารถทำงาน ท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้โดยมีทางเลือกในการฝากเลี้ยงกับโรงพยาบาลสัตว์หรือสถานที่รับเลี้ยงได้โดยไม่ต้องกังวล
- ความกังวลต่อสภาพสังคมปัจจุบัน (15%) คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงอนาคตและความท้าทายในสังคมยุคใหม่ คุณภาพชีวิต การแข่งขันที่สูงขึ้น ความกดดันทางสังคม จึงเลือกวิถีชีวิตที่เหมาะกับตนเอง
- ความคำนึงถึงความพร้อม (14%) สะท้อนความรับผิดชอบของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการประเมินความพร้อมของตนเอง และเลือกรูปแบบการสร้างครอบครัวที่สอดคล้องกับศักยภาพ
นอกจากหมา-แมว เทรนด์สัตว์ Exotic มาแรง
จากการรวบรวมโพสต์และความคิดเห็นบน Social Media สามารถแบ่งประเภทของสัตว์เลี้ยงได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ นั่นก็คือ “แมว” ที่ครองสัดส่วนมากที่สุดถึง 44% สะท้อนไลฟ์สไตล์คนเมืองที่มักอาศัยอยู่ในพื้นที่จำกัดอย่างคอนโด รองลงมาคือ “หมา” มีสัดส่วนการกล่าวถึง 38% ซึ่งคนเลี้ยงส่วนใหญ่มักจะเลี้ยงในพื้นที่กว้างและต้องการมีกิจกรรมร่วมกัน และลำดับสุดท้ายคือ “สัตว์เลี้ยง Exotic” มีการกล่าวถึง 18% ซึ่งการเลี้ยงสัตว์แปลกประเภทนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากเมื่อก่อน
กระแส Pet Parent ที่มองสัตว์เลี้ยงเหมือนลูก กำลังขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจสัตว์เลี้ยงอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและโรงพยาบาลสัตว์ที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยงมากขึ้น และในอนาคตคาดว่าจะเห็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาช่วยยกระดับการดูแลสัตว์เลี้ยง ทั้งบริการสัตวแพทย์ออนไลน์ และการใช้ AI วิเคราะห์พฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง เพื่อให้การดูแลทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลทั้งหมดที่นำมาวิเคราะห์หา Insight รวบรวมข้อมูลจาก DXT360 (Social Listening and Media Monitoring Platform) ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด (dataxet:infoquest) โดยเก็บข้อมูลระหว่าง 1 ตุลาคม – 25 พฤศจิกายน 2567
เกี่ยวกับ DXT360
DXT360 เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลข่าวสารได้ทั้งจากโซเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์ สื่อบรอดคาสท์ และสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นเสียงของผู้บริโภค (Consumer Voices) คอนเทนต์จาก Influencers และ KOLs ไปจนถึงข่าวจากสื่อมวลชน ที่รวบรวมเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกัน มีการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบ Dashboard ที่สามารถปรับเปลี่ยนตามความต้องการของผู้ใช้งานแต่ละราย (Customizable Dashboard) จึงทำให้เข้าใจและเห็น Insight ในประเด็นต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังช่วยให้เห็นทิศทางการสื่อสารของแบรนด์ต่าง ๆ สามารถนำมาต่อยอดเพื่อพัฒนากลยุทธ์การสื่อสารขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Social Links