เล็งค่าบาท 31.10-31.60
หุ้นฝ่าโควิด คาดขยับ 1,510-1,575
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นช่วงปลายสัปดาห์ หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือนที่ 31.57 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงแรก ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ในประเทศระลอกสาม ซึ่งยากต่อการควบคุมและอาจส่งผลกระทบต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะที่เหลือของปี อย่างไรก็ดี เงินบาทดีดตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ตามจังหวะการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
ในวันศุกร์ (16 เม.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.23 เทียบกับระดับ 31.42 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (9 เม.ย.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (19-23 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.10-31.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์และมาตรการควบคุมโควิด 19 ในประเทศ ข้อมูลการส่งออกของไทยเดือนมี.ค. ท่าทีสหรัฐฯ และจีน ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่เดือนมี.ค. ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการ (เบื้องต้น) เดือนเม.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR ของจีน และผลการประชุมนโยบายการเงินของ ECB ด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย
หุ้นไทยถูกกดดันจากสถานการณ์โควิดในประเทศ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,548.96 จุด ลดลง 1.11% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 83,842.50 ล้านบาท ลดลง 5.76% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 2.45% มาปิดที่ 447.08 จุด
หุ้นไทยร่วงลงแรงช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายหุ้นทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธนาคาร การเงิน และพลังงาน จากกลุ่มนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างชาติเป็นหลัก โดยมีปัจจัยลบจากสถานการณ์โควิดในประเทศที่ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการลดสถานะความเสี่ยงก่อนปิดหยุดยาวในระหว่างสัปดาห์ อย่างไรก็ดีหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ตามแรงซื้อสุทธิของต่างชาติ ขณะที่นักลงทุนคลายกังวลบางส่วนหลังทางการยังไม่ได้คุมเข้มด้วยการประกาศล็อกดาวน์ทั้งประเทศ
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (19-23 เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,530 และ 1,510 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,560 และ 1,575 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลประกอบการงวดไตรมาส 1/64 ของบจ.ไทย โดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร สถานการณ์โควิด 19 ในประเทศ รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับวัคซีนต้านโควิด 19 ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่และบ้านมือสองเดือนมี.ค. รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการ (เบื้องต้น) เดือนเม.ย. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การประชุม ECB ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการ (เบื้องต้น) เดือนเม.ย. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน และการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนเม.ย. ของจีน
Social Links