เงินบาทกลับมาแข็งค่า ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง
ติดตามสุนทรพจน์ประธานเฟด การเมืองไทยและส่งออกเดือน พค.
………………………………………………….
- เงินบาทเคลื่อนไหวเป็นกรอบ ก่อนจะกลับมาแข็งค่าช่วงปลายสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังข้อมูลเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณปะปน
- SET Index ดีดตัวขึ้นช่วงปลายสัปดาห์ ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ประกอบกับมีแรงซื้อคืนหุ้นกลุ่มพลังงานช่วยหนุน
……………………………………………………
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทแกว่งตัวเป็นกรอบ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ขาดแรงหนุนเนื่องจากตลาดรอติดตามข้อมูลเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ และผลการประชุมเฟดอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดีเงินบาทอ่อนค่ากลับไปใกล้ๆ แนว 34.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต่อมาท่ามกลางแรงหนุนเงินดอลลลาร์ฯ จาก dot plots ของเฟดซึ่งสะท้อนโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปี แม้เฟดจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ตามเดิมที่กรอบ 5.00-5.25% ในการประชุมเมื่อ 13-14 มิ.ย. ที่ผ่านมาก็ตาม
นอกจากนี้เงินบาทยังอ่อนค่าลงตามภาพรวมของสกุลเงินเอเชีย นำโดย เงินหยวน ซึ่งเผชิญแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอกว่าที่คาดและสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางจีน อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ หลังเงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงตามบอนด์ยีลด์ เนื่องจากตลาดกลับมารอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพื่อหาสัญญาณยืนยันว่า เฟดจะสามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 2 ครั้งตามที่ส่งสัญญาณไว้ตาม dot plots หรือไม่
ในวันศุกร์ที่ 16 มิ.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.66 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.62 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (9 มิ.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 12-16 มิ.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 2,957.50 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 13,193 ล้านบาท (แม้จะซื้อสุทธิพันธบัตร 2,591 ล้านบาท แต่ก็มีตราสารหนี้หมดอายุ 15,784 ล้านบาท)
สัปดาห์นี้(19-23 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.40-34.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สุนทรพจน์ของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์การเมืองและตัวเลขการส่งออกเดือนพ.ค.ของไทย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนมิ.ย. ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนพ.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุม BOE การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ของธนาคารกลางจีน และข้อมูล PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนมิ.ย. ของยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ดัชนีหุ้นไทยพลิกบวกช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยย่อตัวลงเล็กน้อยในช่วงแรก ก่อนจะดีดตัวขึ้นในเวลาต่อมาตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยมีปัจจัยหนุนจากการที่จีนประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายประเภทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีหุ้นไทยย่อตัวลงอีกครั้งในช่วงระหว่างสัปดาห์ โดยมีแรงกดดันจากสัญญาณเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะถัดไปของเฟด แม้การประชุมรอบล่าสุด เฟดจะมีมติคงดอกเบี้ยตามคาดก็ตาม ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวขึ้นบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ตามแรงหนุนของหุ้นกลุ่มพลังงาน อนึ่ง หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นมากสุดในสัปดาห์นี้ จากแรงหนุนในหุ้นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ ในต่างประเทศ
ในวันศุกร์ที่ 16 มิ.ย. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,559.39 จุด เพิ่มขึ้น 0.28% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 43,232.75 ล้านบาท ลดลง 13.84% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 4.11% มาปิดที่ระดับ 480.72 จุด
สำหรับสัปดาห์นี้(19-23 มิ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,545 และ 1,530 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,570 และ 1,585 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนพ.ค. ดัชนี PMI เดือนมิ.ย. (เบื้องต้น) รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนมิ.ย. ของจีน การประชุม BOE รวมถึงดัชนี PMI เดือนมิ.ย. (เบื้องต้น) ของญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษ
Social Links