กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 33.20-33.60 ลุ้นผลประชุมเฟด-จับตา!อาจอ่อนค่าสุดในรอบ 4 ปี

กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 33.20-33.60 ลุ้นผลประชุมเฟด-จับตา!อาจอ่อนค่าสุดในรอบ 4 ปี

กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 33.20-33.60

ลุ้นผลประชุมเฟด-จับตา!อาจอ่อนค่าสุดในรอบ 4 ปี

                กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.20-33.60 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 33.24 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 32.74-33.25 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในช่วงแรกข้อมูลเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯที่ต่ำเกินคาดกดดันเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงก่อนที่ตัวเลขยอดค้าปลีกที่สดใสเกินคาดกลับมาช่วยหนุนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯและค่าเงินดอลลาร์ในช่วงท้ายสัปดาห์

                นอกจากนี้ นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราภาษีนิติบุคคลตามข้อเสนอของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ภาวะขาดสภาพคล่องของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ในจีน รวมถึงโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กำลังใกล้จะปรับทิศทางนโยบายจากระดับผ่อนคลายมากเป็นพิเศษสู่ภาวะปกติมากขึ้น ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 682 ล้านบาท แต่ขายพันธบัตรมากถึง 26,781 ล้านบาท ส่วนเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรชันขึ้น โดยบอนด์ยิลด์ระยะ 10 ปี ทะยานขึ้น 12 bps สู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ 29 มิถุนายน

                กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า เหตุการณ์หลักสำหรับตลาดการเงินโลกจะอยู่ที่รายละเอียดการประชุมเฟดวันที่ 21-22 กันยายน โดยนักลงทุนจะประเมินจังหวะเวลาและแนวทางการปรับนโยบายการเงิน อนึ่ง กรุงศรีคาดว่าประธานเฟดจะเน้นย้ำถึงการเริ่มปรับลดขนาดโครงการซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) ภายในปีนี้ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์เผชิญความเสี่ยงด้านขาขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหากประมาณการ Dot Plot บ่งชี้ว่าเฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปี 2565 ซึ่งเร็วกว่าประมาณการที่เฟดเคยเปิดเผยเมื่อเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ดี กรณีที่เฟดคง Dot Plot ไว้ตามเดิม คาดว่าเงินดอลลาร์อาจปรับฐานลงเล็กน้อย นอกจากนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) และธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) มีกำหนดประชุมในสัปดาห์นี้เช่นกัน ส่วนผลกระทบจากความปั่นป่วนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนและความเสี่ยงที่จะลุกลามไปสู่ภาคการเงินยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

                สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ตลาดจะให้ความสนใจกับตัวเลขการค้าเดือนสิงหาคม ซึ่งคาดว่ามูลค่าการส่งออกและนำเข้าอาจเติบโตในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบเป็นรายปี นอกจากนี้ คาดว่านายกรัฐมนตรีจะพิจารณาข้อเสนอขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ต่อจีดีพี เป็นไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี เป็นการชั่วคราวเพื่อกลบหลุมรายได้จากวิกฤติ COVID-19 ทางด้านกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดพันธบัตร กรุงศรีประเมินว่าจะชะลอลงบ้างแต่ยังคงบ่งชี้ว่าในระยะสั้นเงินบาทอาจอ่อนค่าลงต่อเนื่องและมีโอกาสทดสอบระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 4 ปี

 

You may also like

“เฉลิมชัย-ประชาธิปัตย์“ห่วงปัญหาเหลื่อมล้ำ จัดเวทีนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเดโมแครต ฟอรั่ม” ขจัดการผูกขาด: ลดเหลื่อมล้ำแก้จน”

“เ