“กรุงศรี”ระดมบิ๊กไอเดีย สร้างแต้มต่อภาคธุรกิจด้วย ESG Financing ดันธุรกิจไทยเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน

“กรุงศรี”ระดมบิ๊กไอเดีย สร้างแต้มต่อภาคธุรกิจด้วย ESG Financing ดันธุรกิจไทยเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน

“กรุงศรี”ระดมบิ๊กไอเดีย

สร้างแต้มต่อภาคธุรกิจด้วย ESG Financing

ดันธุรกิจไทยเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน

       กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) เดินหน้าจัดกิจกรรม Krungsri Business Talk สำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจ ภายใต้หัวข้อ “Striving Green Businesses through Thailand Taxonomy” โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำทั้งในระดับประเทศ และนานาชาติ มาร่วมแบ่งปันความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ต่างๆ เพื่อสร้างแต้มต่อในการพัฒนาด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน (ESG Financing) รวมถึงฉายภาพทิศทางและโอกาสในการปรับตัว เพื่อร่วมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจไทยไปสู่ความยั่งยืน

บทบาทของสถาบันการเงินไทย และ Thailand Taxonomy

นายประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้ให้เกียรติเป็นประธานและกล่าวเปิดงาน โดยได้ให้มุมมองเกี่ยวกับกระแสการเงินเพื่อความยั่งยืนว่า แนวคิดเรื่อง ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) มีความสำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมิติด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็นวาระสำคัญของโลกที่ทุกภาคส่วนในหลากหลายประเทศพยายามผลักดัน ในฐานะสถาบันการเงินที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กรุงศรีได้ร่วมสนับสนุนการร่างกรอบ Thailand Taxonomy ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญของไทยที่ทุกภาคส่วนต้องศึกษาและทำความเข้าใจ โดยกรอบดังกล่าวจะถูกนำมาใช้อ้างอิงสำหรับการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยผลักดันภาคธุรกิจให้ปรับตัวและเปลี่ยนผ่านไปสู่ “ภาคธุรกิจสีเขียว” อย่างแท้จริง

ที่มาและความสำคัญของ Thailand Taxonomy

ด้าน นางสาวศิริพิมพ์ วิมลเฉลา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงที่มาและความสำคัญของ Thailand Taxonomy ว่า มากกว่า 30% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Brown Industry) ดังนั้นโจทย์สำคัญคือการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมใน speed ที่เหมาะสม และมีอุปสรรคน้อยที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าการมุ่งไปสู่ Green Economy 100% ในทันทีเป็นเรื่องยากและมีต้นทุนสูงมาก ดังนั้นทาง ธปท. และคณะทำงานจึงได้ผลักดันมาตรการขับเคลื่อน 5 ด้านเพื่อสนับสนุนและเร่งให้ภาคธุรกิจปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียวอย่างเป็นระบบ (5 Building Blocks) อันได้แก่ 1. การกำหนด Standard Practice 2. การร่วมจัดทำ Thailand Taxonomy  3. การพัฒนาฐานข้อมูล 4. การสร้างแรงจูงใจ และ 5. การพัฒนาองค์ความรู้

สำหรับ Thailand Taxonomy เป็นเครื่องมือที่จะช่วยผู้ประกอบการปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยในเฟสแรกเน้นให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจในสาขาพลังงานและคมนาคมขนส่ง เนื่องจากเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด โดยมุ่งเน้นในเรื่องการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Mitigation) ทั้งนี้ เชื่อว่า Thailand taxonomy จะเป็นมาตรฐานเพื่อใช้อ้างอิงสำหรับการเข้าถึงตัวเงินทุนได้ง่ายขึ้น และส่งผลให้ Sustainable Finance หรือ การเงินเพื่อความยั่งยืนในประเทศไทยเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

ภาพรวมของการเงินเพื่อความยั่งยืนในระดับสากล

ด้าน Mr. Colin Chen, Head of ESG Finance, Asia Pacific, Asian Investment Banking Division, MUFG Bank, Ltd. กล่าวว่า ธุรกรรมทางการเงินด้าน ESG ในปี 2023 มีแนวโน้มขยายตัวสูง เนื่องจากนานาประเทศเริ่มหันมาพัฒนากรอบและกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ตลาดการเงินสีเขียว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการความเข้มงวดต่างๆ ของภาคธุรกิจในกลุ่มประเทศผู้นำด้านธุรกิจสีเขียว เช่น ยุโรป ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจของเอเชียในอนาคตอันใกล้ โดยปัจจุบันมีเพียงญี่ปุ่นและจีนที่กระตือรือร้นและลงมืออย่างจริงจังในการจัดการด้าน Sustainable Finance ดังนั้นเชื่อว่า ในปีนี้ เราจะได้เห็นแนวโน้มการจัดทำ Taxonomy อีกมากในหลายประเทศเช่นเดียวกับในประเทศไทย และ Thailand Taxonomy จะเป็นก้าวสำคัญของการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่การดำเนินธุรกิจตามกรอบความยั่งยืนต่อไป

นางสาวแจ่มจันทร์ ศิริกาญจนวงศ์   Mr. Colin Chen  ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน พิธีกรผู้ดำเนินรายการ

……………………………………………………………………………………………………………………………………..

กรุงศรี และการขับเคลื่อน Sustainable Finance

ด้าน นางสาวแจ่มจันทร์ ศิริกาญจนวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจหลักทรัพย์ตราสารหนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน หรือ ESG Bond เติบโตกว่า 2 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 23% อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากจำนวนมูลค่าการออกตราสารหนี้ทั้งหมดในประเทศไทยกว่า 8.8 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนของ ESG Bond เพียง 2.4% เท่านั้น แปลว่ายังมีโอกาสอีกมากที่เราจะสามารถเข้าไปช่วยสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการปรับตัวและเปลี่ยนผ่านสู่การเป็น Green Activity ต่อไป โดยทางกรุงศรีมีแผนที่จะปล่อยสินเชื่อเพื่อสังคมและความยั่งยืน 50,000-100,000 ล้านบาทภายในปี 2573 ทั้งนี้ กรุงศรีได้ร่วมมือกับ Zeroboard ผู้เชี่ยวชาญด้านคลาวด์เทคโนโลยีในการดึงข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรมต่างๆ ของธุรกิจและซัพพลายเชน เพื่อเป็นแนวทางในการให้สินเชื่อกลุ่มธุรกิจที่ให้ความสำคัญด้านความยั่งยืนมากขึ้น

ในการสัมมนาครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจากตัวแทนภาคธุรกิจ ได้แก่ นางสาวปาหนัน โตสุวรรณถาวร รองกรรมการผู้จัดการบัญชีและการเงิน บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ นายยงยุทธ เสฏฐวิวรรธน์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการบริหารการเงินกลุ่มและศูนย์บริการร่วมทางการเงิน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)  ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความสำเร็จในการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาการเงินเพื่อความยั่งยืน โดยสรุปว่า การขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนไม่ได้เป็นบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในองค์กร รวมไปถึง Supply Chain ต่างๆ ซึ่งในการดำเนินงานจำเป็นต้องอาศัยการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ธนาคารจึงมีบทบาทสำคัญมากในการช่วยสนับสนุนทั้งเรื่องของความรู้ ความเข้าใจ ข้อมูลต่าง ๆ  รวมถึงช่วยในการวิเคราะห์ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมทางการเงินเพื่อความยั่งยืนที่เหมาะสมให้กับบริษัท

นางสาวปาหนัน โตสุวรรณถาวร  นายยงยุทธ เสฏฐวิวรรธน์  ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน 

…………………………………………………………………………………………………………………………………………

ถึงแม้วันนี้ Taxonomy ยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ที่สำหรับผู้ประกอบการไทย กรุงศรี ซึ่งเป็นสถาบันการเงินในกลุ่ม MUFG สามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งเรื่องความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ในด้าน Sustainable Finance ที่เกิดจากประสบการณ์การทำงานร่วมกับหลากหลายภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก ในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ขณะเดียวกัน กรุงศรีพร้อมต่อยอดการดำเนินงานด้าน Sustainable Financing ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กรุงศรียังได้ตั้งหน่วยงาน ESG Excellence เพื่อให้คำปรึกษาด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนแก่ลูกค้าโดยเฉพาะ สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจการเงินยั่งยืนไปด้วยกันกับผู้ประกอบการไทย  รวมถึงความมุ่งมั่นดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนที่มุ่งสู่ “การเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ยั่งยืนที่สุดในประเทศไทย” อีกด้วย

……………………………………………………………..

จากซ้ายไปขวา

  1. นายยงยุทธ เสฏฐวิวรรธน์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการบริหารการเงินกลุ่มและศูนย์บริการร่วมทางการเงิน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
  2. นางสาวปาหนัน โตสุวรรณถาวร รองกรรมการผู้จัดการบัญชีและกรเงิน บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  3. นางสาวศิริพิมพ์ วิมลเฉลา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
  4. นายประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
  5. Mr. Colin Chen, Head of ESG Finance, Asia Pacific, Asian Investment Banking Division, MUFG Bank, Ltd.
  6. นางสาวแจ่มจันทร์ ศิริกาญจนวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจหลักทรัพย์ตราสารหนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

You may also like

ยักษ์เทคทุกแห่ง โดดเข้าตลาด AI

ยักษ์เทค